สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สะอาด-ประหยัด-ทันสมัย ‘เกาะห้อง Smart Island’ ชมนวัตกรรมผลิตไฟฟ้า ควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา / ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

เมื่อพูดถึง “เกาะห้อง” เเห่งกระบี่ ต้องนึกถึงน้ำใสทะเลสวยที่ยังคงไว้ด้วยธรรมชาติ นักท่องเที่ยวทั่วโลกหลั่งไหลมาชมความงาม ลองกิจกรรมดำน้ำกับฝูงปลาเเละการเดินป่าที่น่าตื่นเต้น

ใครๆก็ว่าที่เกาะห้องยังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ได้ขนาดนี้ ทั้งที่มีนักท่องเที่ยวมาถึงวันละ 300-500 คนต่อวันนั้น คือก็การยังคงเป็นเกาะปิดที่ไม่มีการให้พักค้างคืน ไม่มีโรงเเรมเเละสถานบันเทิงต่างๆ

เเละก็มาถึงก้าวสำคัญในการพัฒนาของเกาะห้อง ที่กำลังจะเป็น Smart Island ที่คงความเป็นธรรมชาติ เเละทันยุคดิจิทัลด้วยการเป็นอุทยานเเห่งชาติ 4.0 อันเริ่มต้นจากการใช้พลังงานหมุนเวียนเเบบผสมผสาน ในพื้นที่ห่างไกลที่เพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบผลิตไฟฟ้าที่ใช้เทคนิคพยากรณ์อากาศล่วงหน้าผ่านสมาร์ทโฟน ขยายไปสู่การเเจกจ่าย wi-fi เเละจุดชาร์ตเเบตเตอรี่ฟรีทั่วเกาะ รวมไปถึงการเปิด co- working space ใกล้ชิดธรรมชาติ

“นวัตกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นกลไกหนึ่งในการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวในจำนวนที่พอเหมาะ รักษาสิ่งเเวดล้อม เเละราคาไม่สูงนัก”

“วีระศักดิ์ ศรีสัจจัง” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี กล่าวว่า พื้นที่เกาะห้องเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่อนุญาตให้พักค้างคืนเนื่องจากไม่มีไฟฟ้า มีเครื่องปั่นไฟไว้สำหรับเครื่องสูบน้ำทะเลขึ้นมาไว้บริการห้องน้ำให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งน้ำใช้ในร้านสวัสดิการ และบ้านพักเจ้าหน้าที่อุทยานที่ประจำบนเกาะ ปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 15 ลิตรต่อวันคิดเป็นค่าใช้จ่าย 12,280 บาท/เดือน หรือ 148,000 บาทต่อปี (ราคา 27.29 บาท/ลิตร ณ วันที่ 9 เม.ย. 61) โดยกำหนดให้บ้านพักเจ้าหน้าอุทยานเปิดใช้ไฟฟ้าเพียงช่วงเวลาหกโมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน เพื่อเป็นการประหยัดการใช้น้ำมันดีเซล

อย่างไรก็ตาม การผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟด้วย  “เครื่องยนต์ดีเซล” ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบด้านสภาพแวดล้อม ส่งเสียงดัง ควันและเขม่า คราบน้ำมันบนพื้นทราย เครื่องยังชำรุดบ่อยเฉลี่ยเดือนละครั้ง กระแสไฟฟ้าที่ไม่เสถียรทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสีย อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง การดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์สูง

ล่าสุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ทำโครงการการศึกษารูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทย เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนากลุ่มอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคใต้ ครั้งที่ 1 เพื่อศึกษารูปแบบการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ

กับโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภาคใต้กว่า 54 หน่วยงาน พร้อมนำร่องสาธิตนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับพื้นที่ห่างไกล ณ เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี

“เราหวังว่า อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี เกาะห้อง จะเป็นต้นแบบอุทยานสีเขียวให้กับอุทยานแห่งชาติอื่น ๆ และอนาคตจะเปิดบริการจุดชาร์จโทรศัพท์มือถือฟรีด้วยพลังงานสีเขียว รวมทั้งจะทำเป็นแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ให้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย”

ชมคลิป

ประหยัด สะอาด ทันสมัย

โดย ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง นักวิจัย มจธ. กล่าวถึงนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี เกาะห้องว่าคณะผู้วิจัยมีแนวคิดในการนำเทคนิคการทำนายล่วงหน้าในการประเมินศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเดินเครื่องระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซล แทนระบบควบคุมแบบปรับตั้งค่าคงที่ (Set Point) ที่ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อระดับพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ลดลงถึงระดับที่กำหนดไว้ ซึ่งจะเกิดสภาวะแบตเตอรี่เต็มบ่อยครั้ง

โดยระบบควบคุมแบบทำนายล่วงหน้าจะช่วยให้อุทยานฯ ลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับระบบบริหารจัดการตอบสนองการใช้ไฟฟ้าที่ครอบคลุมทุกกิจกรรมการใช้พลังงานพื้นที่เกาะ ได้แก่ ไฟฟ้าแสงสว่าง ตู้แช่อาหาร ระบบสูบน้ำ และระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

สำหรับการนำมาประยุกต์ใช้งานระบบผลิตไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาด้านอัตราค่าพลังงานที่สูง และความไม่ต่อเนื่องหรือไม่สม่ำเสมอในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะส่งผลให้ระบบที่ติดตั้งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอัตราค่าพลังงานที่ผลิตได้จากระบบลดต่ำลงมีค่าใช้จ่ายเพียง 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อวัน (ยูนิต)

เทียบกับค่าใช้จ่ายจากเครื่องปั่นไฟถูกกว่าประมาณ 3 เท่า โดยระบบทั้งหมดแสดงผลและควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถบริหารจัดการระบบได้ดีกว่าระบบแบบเดิม

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกว่า 15 ระบบที่ติดตั้งใช้งานจริงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และหมู่บ้านในชนบท เช่น อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติตาดหมอก หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย หมู่บ้านเกาะจิก หมู่บ้านคีรีวง เป็นต้น

“คนในพื้นที่ผู้ใช้งานจะเป็นคนบอกปัญหากับทีมวิจัยได้ดีที่สุด เราจึงต้องทำเวิร์คช็อปให้พวกเขาบอกเรา เเล้วเอาความรู้ทางวิชาการเเละเทคโนโลยีไปช่วยชี้เเนะว่าอะไรเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เเละจะลงทุนระบบอย่างไรให้คุ้มทุนที่สุด โดยเราจะไม่ทำระบบเดียวเเล้วเอาไปใช้กับทุกอุทยานฯ เนื่องจากลักษณะการใช้ไฟฟ้า จำนวนนักท่องเที่ยวเเละเจ้าหน้าที่ไม่เท่ากัน การวิจัยของเราอาจมีออกมาถึง 10-20 โมเดล ซึ่งทางอุทยานฯในภูมิภาคต่างๆ จะได้มีทางเลือกว่าเหมาะสมกับการใช้ระบบอะไร ”

ไอเดียเด็ด Clean , Green co- working space ริมทะเล

ในยุคดิจิทัล ชีวิตกับงานเเยกกันไม่ขาด หลายคนออกเดินทางท่องเที่ยวพร้อมกับทำงานไปด้วย อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นกับเราเเม้ในวันพักผ่อนหย่อนใจ เทรนด์ของ co-working space ก็กระเเสบูมไปพร้อมๆกัน 

“เนรมิต สงเเสง” นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานเเห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่ กล่าวถึงเเนวคิดการเปิด co-working space รูปเเบบใหม่รับการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล ว่า สำหรับการให้บริการ co-working space บนเกาะต้องใช้ไฟเยอะ เราต้องจัดเตรียมตามกำลังไฟของอุทยานฯ เช่น พื้นที่ที่มีทัศนียภาพพร้อม เราต้องเตรียมปลั๊กไฟ เตรียมตู้เก็บอุปกรณ์เครื่องมือ ให้นักท่องเที่ยวที่มานั่งเเละอยากฝากของทิ้งไว้ เพื่อเดินไปหาเเรงบันดาลใจในพื้นที่ เตรียมเเสงสว่างเเละเก้าอี้ โต๊ะต่างๆ

ในอนาคตจะมีการจัดทำคาเฟ่ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงอาคารบริการนักท่องเที่ยว โดยกำลังจะของบประมาณในปี 2562-2563 ที่จะถึงนี้ อาจจะต้องเเบ่งพาร์ทหนึ่งของห้องให้ลองเป็น  co- working space

“เเต่ที่เราจะเน้นจริงๆ คือ co- working space  เเบบธรรมชาติ ตามริมชายหาดได้ทุกพื้นที่ โดยเราจะมีบริการปลั๊กไฟให้เสียบ มีที่ชาร์ตเเบต มี wi-fi เข้าถึง อาจจะเริ่มเป็นจุดๆ ไป อย่างพื้นที่หน้าหาดน่าจะได้รับความนิยม ไม่ต้องปรุงเเต่งอะไรมาก เพราะความเป็น co- working space  ของอุทยานเเห่งชาติจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือเรามีธรรมชาติให้คุณเต็มที่ เเต่เราไม่ได้ให้คุณอยู่เเบบดึกดำบรรพ์ เสริมความเป็นดิจิทัลเข้าไป เเต่ขอบอกเลยว่า co- working space ที่นี่จะไม่ใช่ตู้กระจกเเน่ๆ…

ส่วนคอนเซปต์คือ Clean , Green co- working space เป็นเเผนที่จะทำภายใน 1-2 ปีนี้ เพราะตอนนี้เราเริ่มเก็บข้อมูลได้สักระยะ ตั้งเป้าว่าสัก 6 เดือนดูจำนวนนักท่องเที่ยวให้เเน่นอน ส่วนเรื่องดีไซน์เราก็มีเเล้ว โดยจะนำเเนวคิดมาจากตู้เสียบชาร์จเเบตเตอรี่ในท่าอากาศยาน ตามสนามบินต่างๆ ซึ่งจะนำมาดีไซน์ใหม่ให้เข้ากับอุทยานฯ ตั้งไว้ในจุดโซนบริการต่างๆ ทำได้ง่ายมาก ไม่ยากเลย”

สำหรับการกระจาย wi-fi ให้ได้ทั่วเกาะ ทางอุทยานจะเริ่มให้ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้องรอเสนองบประมาณประจำปี ซึ่งน่าจะเสร็จเรียบร้อยในปี 2562 อย่างไรก็ตาม อาจจะเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากยังมีงบประมาณในส่วนของรายได้ของกรมอุทยานฯ เอง ที่ยังคงมีเหลืออยู่มากที่จะสนองต่อไอเดียพัฒนาต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการอุทยาน 4.0 เเละเราพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า จากการสตาร์ทเรื่องการมีพลังงานหมุนเวียน 24 ชั่วโมง

ชมคลิป

 


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

Tags : สะอาด-ประหยัด-ทันสมัย ‘เกาะห้อง Smart Island’ ชมนวัตกรรมผลิตไฟฟ้า ควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน

view