สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส่องเทรนด์บ้านอัจฉริยะ ช่วยประหยัดพลังงาน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย ดร.ศิวาลัย ขันธะชวนะ Economic Intelligence Center

ในอดีต การสร้างบ้านเพื่อประหยัดพลังงานอาจใช้หลังคาและผนังเสริมฉนวนกันความร้อน หน้าต่างที่มีฟิล์มกรองแสง แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อุปกรณ์บ้านอัจฉริยะ (smart home) ได้เข้ามาช่วยเสริมให้เกิดความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันพร้อมไปกับประหยัดไฟได้มากขึ้น

อุปกรณ์ smart home ช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึง 30-40% ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประเมินโดย Fraunhofer Institute สถาบันวิจัยใหญ่ที่สุดในยุโรปที่เน้นการศึกษาด้านความต้องการของมนุษย์ ทั้งนี้ ตัวอย่างของอุปกรณ์ดังกล่าว เช่น หลอดไฟอัจฉริยะเปิด-ปิดผ่านโทรศัพท์มือถือ อะแดปเตอร์อัจฉริยะบอกข้อมูลการกินไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิด ทำให้บริหารการใช้ได้อย่างถูกต้องถูกเวลา รางปลั๊กอัจฉริยะที่แม้จะปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ยังเสียบปลั๊กอยู่ก็จะไม่เปลืองไฟ เทอร์โมสตัตอัจฉริยะมีเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหวผู้อยู่อาศัยและควบคุมอุณหภูมิทางไกล บางชนิดมีหน่วยความจำเรียนรู้พฤติกรรมเจ้าของบ้านเพื่อปรับอุณหภูมิระหว่างวันให้แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม คลื่นลูกแรกของ smart home ที่ยังได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลกในปัจจุบัน ได้แก่ อุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อความปลอดภัย (smart home security) และเพื่อความบันเทิง (smart home entertainment) มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนราว 28% และ 19% ของตลาดอุปกรณ์ smart home ทั้งหมดตามลำดับ ซึ่งประเมินโดย Statista บริษัทวิจัยด้านการตลาดของเยอรมนี

สำหรับผู้บริโภคไทยนั้น อุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อความบันเทิงได้รับความนิยมค่อนข้างมาก สะท้อนจากการเลือกซื้อ smart TV ซึ่งมีสัดส่วนราว 35% ของตลาดทีวีทั้งหมด ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่า ในปี 2018 smart TV ของไทยจะมีมูลค่าตลาดเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนอุปกรณ์ smart home ที่ติดตั้งมากที่สุดในบ้านเพื่อความปลอดภัย ได้แก่ กล้องวงจรปิด ซึ่งจะมีมูลค่าตลาดราว 5 พันล้านบาท

อุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อประหยัดพลังงาน (smart home energy) จะเป็นคลื่นลูกที่สองของ smart home ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วต้องการติดตั้งอุปกรณ์ smart home energy มากขึ้น เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า แต่อุปสรรคของการซื้อคือ ราคาที่ยังอยู่ในระดับสูง Tech UK ชี้ว่าผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรถึง 76% สนใจที่จะซื้ออุปกรณ์ smart home energy มาใช้ภายในบ้าน ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้ติดตั้ง smart meter ที่บ้านแล้ว ซึ่งสามารถรายงานการใช้ไฟฟ้าในบ้านแบบเรียลไทม์ มากกว่าครึ่งกล่าวว่า ข้อมูลเชิงลึกจาก smart meter ทำให้พวกเขาเปลี่ยนวิธีการจัดการพลังงานในบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ติดตั้งหลอดไฟอัจฉริยะ หรือเทอร์โมสตัตอัจฉริยะเพื่อควบคุมอุณหภูมิและลดค่าไฟฟ้า

เช่นเดียวกับ PWC ได้สำรวจผู้บริโภคสหรัฐ ที่ไม่เคยมีอุปกรณ์ smart home เลย พบว่าแรงจูงใจที่สำคัญที่สุดในการซื้ออุปกรณ์ smart home คือ เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เหตุผลรองลงมา คือ เพื่อความปลอดภัย เพื่อความสะดวกสบาย และเพื่อควบคุมการทำงานในบ้าน ตามลำดับ ในขณะที่เหตุผลหลักที่ยังไม่ซื้อคือราคาที่ยังสูงเกินไป

เทคโนโลยีดิจิทัล พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ และค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันความต้องการ smart home energy ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง Statista คาดการณ์มูลค่าตลาด smart home energy ทั่วโลกจะขยายตัว 30% ต่อปี จาก 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017 เพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021

สำหรับไทยจะมีการเติบโตสูงถึง 58% ต่อปี เพิ่มจาก 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017 เป็น 34.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021

โดยอุปกรณ์ smart home energy ต่าง ๆ จะถูกพัฒนาให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น เร็วขึ้น เสถียรขึ้น และหาซื้อได้ในราคาที่ถูกลง อีกทั้งลักษณะของผู้บริโภคยุค 4.0 มีรายได้สูงขึ้น เสพติดเทคโนโลยี ช่างเลือก มองหาสินค้าที่มีความแตกต่าง นำเทรนด์ มีทัศนคติซื้อความสะดวกสบายด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้อุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้ง smart home energy ซึ่งจากข้อมูลในอดีตค่าไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้นราว 3% ต่อปีโดยเฉลี่ย และในอนาคตไทยมีแนวโน้มนำเข้าก๊าซ LNG มาผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีปริมาณร่อยหรอลง ซึ่ง LNG ที่นำเข้ามีราคาสูงกว่าเนื้อก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะในอ่าวไทย จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับระดับสูงขึ้นได้

Big data และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence : AI) จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์ smart home energy มากขึ้น ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์มีความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้ แล้วปรับเปลี่ยนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถปรับอุณหภูมิห้อง หรือหรี่ไฟ เปิด-ปิดไฟอัตโนมัติตามพฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ กันทุกวันเพื่อประหยัดพลังงาน มีการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (predictive analysis) ถึงปริมาณการใช้ไฟทั้งหมดในบ้าน ซึ่งถ้าหากสูงเกินไปก็จะช่วยหาวิธีประหยัดไฟให้กับเจ้าของบ้าน

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก big data ในเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า จะถูกส่งให้บริษัทและผู้ใช้งานทราบว่า ถึงกำหนดที่จะต้องส่งเครื่องเข้าศูนย์เพื่อรับการบำรุงรักษา ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดไฟจากการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ Gartner บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยชั้นนำของสหรัฐ ประเมินว่าระบบไฟอัจฉริยะที่มีการติดตั้งการวิเคราะห์ข้อมูลจาก big data และ AI จะช่วยประหยัดพลังงานเพิ่มจากระบบไฟอัจฉริยะที่มีการติดเพียงเซ็นเซอร์จาก 35% เป็น 90% เลยทีเดียว

เทรนด์ smart home energy จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ SMEs โดยผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวเองให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น และอยู่ในรูปแบบดิจิทัล เช่น สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สั่งการทางไกลผ่านแอปพลิเคชั่นได้

ส่วนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อาจติดตั้ง smart home energy เข้าไปในโครงการ เพื่อชูจุดขายบ้านประหยัดพลังงานและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ สำหรับ SMEs สามารถเป็นผู้ค้า ที่ปรึกษา หรือผู้ให้บริการติดตั้ง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาอุปกรณ์ smart home ต่าง ๆ แบบ one stop service

ผู้ประกอบการดังกล่าว ควรเจาะตลาดผู้บริโภคดิจิทัลโดยเฉพาะครัวเรือนระดับกลางถึงบนที่มีกำลังซื้อ ปรับรูปแบบของอุปกรณ์ในแต่ละบ้านให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้อาศัย เชื่อมต่ออุปกรณ์กับแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ จะช่วยให้ลูกค้าใช้ได้บ่อยขึ้น หากมีคำแนะนำด้านการประหยัดพลังงานจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ก่อนหน้า และมีบริการหลังการขายที่ดีจะทำให้ลูกค้าประทับใจ


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#servival Kit,แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

Tags : ส่องเทรนด์บ้านอัจฉริยะ ช่วยประหยัดพลังงาน

view