สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ปมขัดแย้งผลพลอยได้แบ่ง 70 : 30

จากประชาชาติธุรกิจ

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่รัฐบาลกำลังดำเนินการผลักดันให้ ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้โดยได้รับการ “ยอมรับ” จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ชาวไร่อ้อย กับโรงงานน้ำตาล โดยสถานะล่าสุดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตามที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวก็คือ “(กระทรวงอุตสาหกรรม) ได้รับผลการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และพร้อมที่จะนำร่าง พ.ร.บ.ส่งเข้า ครม. จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือนเมษายนนี้”

โดยเป็นการส่งต่อร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ยกร่างขึ้นโดย คณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ร่าง สนช.) ท่ามกลางบรรยากาศ “ไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.” จากเสียงส่วนใหญ่ของผู้แทนชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ที่เข้าร่วมประชาพิจารณ์ และเรียกร้องให้รัฐบาลกลับไปใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ชาวไร่อ้อยกับโรงงานร่วมกันร่าง หรือไม่ก็นำข้อเสนอในระหว่างการทำประชาพิจารณ์กลับไปแก้ไขปรับปรุงร่างใหม่

ขัดแย้งหนักผลพลอยได้

สำหรับสาระสำคัญ ๆ ของ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับทำประชาพิจารณ์ครั้งล่าสุด จะประกอบไปด้วย 1) การแก้ไขนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” ให้ครอบคลุมถึง “น้ำอ้อย” ไม่ว่าจะนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายหรือไม่ เพื่อเปิดทางให้กับโรงงานน้ำตาลนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการผลิตเป็นน้ำตาลทรายอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า “ผลพลอยได้” โดยกำหนดให้ กากอ้อย กับกากน้ำตาล เป็นผลพลอยได้ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะกากน้ำตาลเพียงอย่างเดียว

ปรากฏประเด็นนี้ได้สร้างความขัดแย้งมาก และต้องการให้มีการเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์อื่นมาคำนวณในระบบแบ่งปันโดยไม่จำกัดว่า จะต้องมาจากอ้อยอย่างเดียว ในขณะที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้นิยามของ “ผลพลอยได้” รวมไปถึง “กากอ้อย” โดยให้เหตุผลว่า กากอ้อยได้รวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยที่โรงงานรับซื้ออยู่แล้ว การรวมกากอ้อยเข้าไปเป็นผลพลอยได้เช่นเดียวกันกับ “กากน้ำตาล” จึงไม่เป็นธรรม

2) การเพิ่มบทนิยามของคำว่า “สมาคมโรงงาน” ให้หมายถึง สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและได้จดทะเบียนไว้ตามระเบียบที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายกำหนดเพื่อรองรับการมีอยู่จริงของสมาคมโรงงานน้ำตาลในปัจจุบัน กับกำหนดให้ชาวไร่อ้อยสังกัดสถาบันชาวไร่อ้อยได้เพียงแห่งเดียว และสถาบันชาวไร่อ้อยที่มาจากสหกรณ์ 3) การเพิ่มอำนาจให้รัฐมนตรีรักษาการตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ มีอำนาจในการกำหนดระเบียบ กฎกระทรวง และประกาศ จากเดิมที่มีอำนาจเพียงการกำหนดระเบียบเท่านั้น

4) การแก้ไขวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.อ้อยฯ ให้ครอบคลุมไปถึงการบริหารจัดการ การพัฒนาและส่งเสริมการผลิต-จำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทรายด้วย 5) มีการแก้ไของค์ประกอบและจำนวนกรรมการใน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย-คณะกรรมการอ้อย-คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการน้ำตาลทราย 6) อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปลี่ยนไปเป็นทำหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ การกำกับดูแลคณะกรรมการชุดต่าง ๆ และการติดตามการประเมินผล

7) โอนอำนาจเดิมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ไปให้ คณะกรรมการบริหาร อาทิ การตรวจสอบคุณภาพอ้อย-กำหนดประสิทธิภาพในการผลิตของโรงงาน-วันเริ่มต้นและวันปิดหีบอ้อย-เงื่อนไขการนำเข้า-ส่งออกน้ำตาลทราย-การคำนวณต้นทุนการผลิต และการกำหนดอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อย-โรงงาน 8) การแก้ไขวัตถุประสงค์ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายด้วยการตัดเรื่องการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาลทรายที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศออกไป และแก้ไขแหล่งที่มาของเงินกองทุนอ้อยฯจากเงินกู้โดยการอนุมัติของ ครม.เป็น “เงินกู้” รวมทั้งยกเลิกเงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วย

9) กำหนดให้ราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ต้อง “ไม่น้อย” กว่าร้อยละ 80 และไม่เกินร้อยละ 95 ของประมาณการรายได้ที่คำนวณได้ โดยให้คำนึงถึงต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย 10) กรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย “สูงกว่า” ราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ให้โรงงานชำระค่าอ้อยเพิ่มให้แก่ชาวไร่อ้อยจนครบตามราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

และ 11) การปรับปรุงบทกำหนดโทษใหม่ด้วยการแยกอัตราโทษของชาวไร่อ้อย และหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยออกจากกัน ด้วยการเพิ่มอัตราโทษเฉพาะโทษปรับจากเดิมเพิ่มอีก 4 เท่า

ชาวไร่-โรงงานแตก 2 กลุ่ม

ดูเหมือนว่า ชาวไร่อ้อยได้แตกออกเป็น 2 กลุ่ม หลังการเปิดประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับ สนช.ข้างต้น โดย นายปัญญา ศรีปัญญา ประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดจากการระดมโดยชาวไร่อ้อย และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ตกผลึกและสมบูรณ์ที่สุดแล้ว และโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย “การทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นไปแล้วทั่วประเทศสะท้อนว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วย เมื่อเทียบประชาพิจารณ์วันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เข้ามาทำประชาพิจารณ์เพียง 300-500 คนเท่านั้น แล้วจะมีตีความว่า ล้ม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้อย่างไร ทางที่ดีควรนำข้อดี-ข้อเสียของทั้ง 2 ร่างมาเปรียบเทียบว่าเป็นอย่างไรจะดีกว่า”

ขณะที่ นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า สมาชิกชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกว่า 20,000 คน ได้ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่จัดทำโดยชาวไร่อ้อยเสร็จแล้วและเตรียมเสนอต่อ สนช. ควบคู่กับร่าง พ.รบ.อ้อยฯ ฉบับ สนช. ที่ได้ผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็น 8 ก.พ.ที่ผ่านมาด้วย

ส่วน นายนพพร ว่องวัฒนะสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทน้ำตาลไทยกาญจนบุรี เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ สนช. ทางโรงงานส่วนหนึ่งก็ยังไม่เห็นด้วยในหลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 3 เรื่องของ “ผลพลอยได้” “กากอ้อย-กากน้ำตาล” ให้หมายความรวมถึง “ผลพลอยได้อื่นใดที่ได้จากการผลิตน้ำตาลทรายโดยตรง”

ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ชาวไร่อ้อยเมื่อมีการขายอ้อยเข้าหีบจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ 70 : 30 จากการได้ผลผลิตน้ำตาลทราย และหลังจากนั้นกากอ้อยจะได้ชานอ้อย ซึ่งทางโรงงานจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน และต้องลงทุนมูลค่าหลายร้อยล้านบาท เช่นเดียวกันกับน้ำอ้อยที่สามารถนำไปผลิต “เอทานอล” ได้ แต่ทางชาวไร่กลับขอแบ่งปันผลประโยชน์

ส่วนโรงงานน้ำตาลแห่งอื่น ๆ ก็คัดค้านในเรื่องของการกำหนดอัตราหีบอ้อยปกติ/วันของโรงงาน ควรมีการกำหนดเกณฑ์ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเช่นเดียวกับพืชผลทางการเกษตรประเภทอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อย และบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป


eosgear,#สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ชำแหละร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ปมขัดแย้งผลพลอยได้แบ่ง 70 : 30

view