สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุยกับ เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกฯสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จับตา นาข้าว เปลี่ยนเป็นไร่อ้อย

จากประชาชาติธุรกิจ

เดือนสิงหาคมเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังประจำปี และเป็นช่วงเริ่มปลูกข้าวนาปี ซึ่งจะหว่านวันแม่-เกี่ยววันพ่อ ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ฝนมาเร็ว เมื่อมีปริมาณน้ำมาก ทำให้คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิจะเติบโตดี จะทำอย่างไรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาป้องกันไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาเปลือกตกต่ำอย่างปีที่ผ่านมา “เจริญ เหล่าธรรมทัศน์” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มสถานการณ์ราคาและการส่งออก

Q : คาดการณ์ผลผลิตข้าวนาปี

ปีนี้ผลผลิตน่าจะดี เพราะปริมาณฝนดี โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ฝนมาเร็วกว่าปกติ ทางสมาคมฯมีแผนนำคณะไปสำรวจผลผลิตในภาคอีสานช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เพราะถือเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญ แต่ในปีนี้เกษตรกรส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะจะเปิดเสรีน้ำตาล

แต่เราไม่รู้จริง ๆ ว่ามีจำนวนเท่าไร เท่าที่ประสานไปทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง ว่ามีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากนาข้าวไปปลูกอ้อยเท่าไร โดยเฉพาะในจังหวัดกาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุดรธานี ซึ่งมีโรงงานน้ำตาลไปเปิดจำนวนมาก พื้นที่หลายแห่งที่เดิมเคยเห็นปลูกข้าวหันไปปลูกอ้อย

Q : สถานการณ์ข้าวหอมปีนี้กับปีก่อน

ต่างกัน ปีก่อนทาง GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิออกมาประมาณ 10 ล้านตัน จากปกติที่ปลูกได้จริงประมาณ 8 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเยอะมาก ปกติแค่เพิ่มไปถึง 8.5 ล้านตันก็เยอะแล้ว แต่บอกว่ามีปริมาณ 10 ล้านตันยิ่งมาก ราคาข้าวเปลือกลดลงตั้งแต่ต้นฤดู แต่เมื่อไปสำรวจผลผลิตไม่มากถึง 10 ล้านตัน มันน้อยกว่าที่คิดเยอะ เหลือแค่ 8 ล้านตันข้าวเปลือก และปีนี้ตลาดอิหร่านเข้ามาซื้อข้าวหอมมะลิหลายแสนตัน ปกติต้นข้าวส่งออกประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี แต่อิหร่านมาซื้อ 1.5 แสนตัน ประมาณ 10% เพราะว่าราคาถูกลงด้วย ทำให้ยอดช่วงครึ่งปีแรก จำนวนเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

Q : แนวโน้มการส่งออกและราคาข้าว

สมาคมฯคาดการณ์ว่าปีนี้จะส่งออกข้าวหอมมะลิได้ 2.28 ล้านตันจากภาพรวมการส่งออก 10 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย โดยราคาส่งออกปัจจุบันที่ตันละ 700 เหรียญสหรัฐก็เต็มที่แล้ว โอกาสจะขึ้นสูงกว่านี้ลำบาก เพราะราคาปรับฐาน 20% แล้ว อยู่ตรงนี้ก่อนจะไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ แต่ช่วงนี้ราคาปรับขึ้น ๆ ลง ๆ ตามดีมานด์ซัพพลาย แต่คิดว่าราคาส่งออกข้าวหอมมะลิจะทรง ๆ อยู่ในระดับตันละ 700 เหรียญสหรัฐ ถ้าหากข้าวไทยราคาสูงเกินไปจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้คู่แข่งอย่างกัมพูชา ถ้ากัมพูชายอมปรับราคาขึ้นตามเราก็ไม่เป็นไร เพราะจะถือเป็นการปรับฐานราคาใกล้เคียงกัน หรือถ้าข้าวไทยแพงกว่ากัมพูชา ประมาณตันละ 30-40 เหรียญสหรัฐไม่เป็นไร ถือว่าเราขายได้ เพียงแต่ว่าถ้ากัมพูชาปลูกข้าวเยอะจะขายถูก ข้าวไทยจะขึ้นราคาต่อไม่ได้ เพราะข้าวกัมพูชาเป็นข้าวคล้าย ๆ กับข้าวไทย

Q : นโยบายการบริหารจัดการข้าว

รัฐบาลไม่ควรมีมาตรการอะไรที่เข้ามาบิดเบือนกลไกตลาด ข้าวเป็นสินค้าการเมือง นักการเมืองก็ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คะแนนเสียง ถึงบอกว่าการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ลำบาก สมัยเราก็พอแล้ว ผู้ส่งออกทำถุงทำแบรนด์ ตลาดจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมาก แต่เราต้องรู้จักบริหารจัดการต้นทุนของ เช่น หากสถานการณ์ราคาข้าวถูกก็ซื้อเก็บ เพราะหากขายให้กับลูกค้าที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงราคาขายได้ทันที เมื่อตอนที่ราคาต้นทุนข้าวขยับขึ้น ฉะนั้น ผู้ผลิตต้องบริหารจัดการต้นทุนข้าว เพื่อให้สามารถยืนราคานั้นให้ได้ระยะหนึ่งก่อน

Q : แผนการทำตลาดข้าวหอมมะลิ

ไทยยังรักษาตลาดเทรดิชั่นที่ซื้อข้าวหอมมะลิมาตลอดได้ส่วนหนึ่ง เพราะราคาข้าวหอมมะลิไทยลดลงเหลือ 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้จำนวนเพิ่ม โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป เป็นตลาดข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยมที่ข้าวจากกัมพูชาไปไม่ถึง แต่กัมพูชาชนะไทยตรงที่ไม่เสียภาษีนำเข้าเท่านั้น สำหรับแผนตอนนี้ทำตลาดโดยอาศัยข้อมูลบนพื้นฐานประสบการณ์ในอดีต ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตประมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเป็นข้าวสาร 3.5-4 ล้านตันข้าวสาร เดิมไทยมีมาตรฐานข้าวหอมมะลิ หมายถึงข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคอีสานและ จ.พะเยาและ จ.เชียงราย แต่ทุกวันนี้ขยายไปปลูกในจังหวัดนอกเขต เช่น จ.พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ผลผลิตต่อไร่ของข้าวหอมมะลิที่ปลูกในภาคกลางสูงกว่าภาคอีสาน เช่น ภาคอีสานได้ผลผลิต 400 ถังต่อไร่ ภาคกลางได้ 700-800 ถังต่อไร่ แต่ตลาดไม่รับ แม้ว่าจะวัดความบริสุทธิ์ได้ 92% แต่ผู้ซื้อจะรู้ว่าเป็นข้าวมะลินอกเขตก็ให้ราคาต่ำกว่า

ดังนั้นไทยจึงได้จัดทำมาตรฐานข้าวหอมใหม่ออกมา เป็นข้าวหอมไทย ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกส่งออกได้ 2.1 แสนตันแล้ว

Q : ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออก

ผลกระทบจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ ส่งผลกระทบทำให้วงการค้าข้าวเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงาน แม้ว่าจะมีการใช้มาตรา 44 ออกมาชะลอ แต่หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาผ่อนคลาย 180 วัน ควรจะต้องแก้ไขในหลายมาตรา

ผมไม่เห็นด้วยที่จะลงโทษหนัก ๆ ต้องปรับแก้ไข การขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวต้องทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนได้ง่ายที่สุด ให้เร็วที่สุด มีต้นทุนต่ำ เพราะถ้าให้กลับไปทำพาสปอร์ตที่บ้านใช้เวลากว่า 5 เดือน กว่าจะกลับมาทำงานต่อ แล้วจะทำอย่างไร หากคนงาน 100 คน กลับไปทำเอกสารพร้อมกัน ใช้เวลากว่า 5 เดือน

Q : ช่วงนี้ภาคอุตสาหกรรมจะไปหาแรงงานจากที่ไหนมาทดแทนชั่วคราว

เรื่องนี้ทางสมาคมฯจะส่งข้อเสนอแนะผ่านไปทางคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องเน้นย้ำว่า การปรับปรุงร่างกฎหมายต้องให้เอกชนมีส่วนร่วมไม่ใช่ให้ตัวแทนนายจ้างจากสมาคมที่ไหนไปให้ความเห็น ซึ่งไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : คุยกับ เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกฯสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จับตา นาข้าว เปลี่ยนเป็นไร่อ้อย

view