สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนเวลาหาอดีต สู่ความยั่งยืนเกษตรกรไทยในอนาคต

จากประชาชาติธุรกิจ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ หลายสิ่งหลายอย่างที่ทุกคนเห็นในวันนี้ได้ย้อนกลับสู่อดีตเมื่อ 50-60 ปีก่อนซะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรงในยุคนี้ เพราะสมัยเด็ก 5-6 ขวบก็เคยนั่งรถรางที่ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันมาแล้ว กระดานชนวนที่ใช้ขีดเขียนตัวอักษรไม่สิ้นเปลือง ที่ถูกแทนที่ด้วยกระดาษก็กำลังกลับสู่ยุคไม่ใช้กระดาษอีกครั้งนั่นคือ คอมพิวเตอร์โทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนทั้งหลาย

ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นที่อยู่ต่างจังหวัด ผมก็ทำแทบทุกอย่าง จนแทบจะแยกร่างทำกัน เพราะพ่อผมเป็นเจ้าโปรเจ็กต์ ทั้งค้าขายข้าว พืชไร่ ทำโรงสีขนาดกลาง 3 โรง ตั้งกองทัพรถไถร่วมกับญาติ ๆ กว่า 10 คันรับไถนาข้าว ไร่ข้าวโพด ฯลฯ ทำไร่ ทำสวนมะขามหวาน รับเหมาซื้อขายปลาและอื่น ๆ ทำฟาร์มหมูเพราะรำและปลายข้าวหลายครั้งขายไม่ออกหรือมีมากเกินไปก็ต้องเอามาเลี้ยงหมู หรือขึ้นไปทำลานมันสำปะหลังที่ภาคอีสานยุคสหภาพยุโรป (อียู) เปิดรับซื้อไม่อั้น และต่อมามีการจำกัดโควตานำเข้าก็ทำมาแล้ว จึงเห็นวิวัฒนาการของเกษตรกรและพ่อค้าสินค้าเกษตรพอสมควร

มาในยุคปัจจุบัน แม้หลายประเทศพยายามเปิดเสรีการค้ากัน แต่การกีดกันการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเก็บภาษีและไม่ใช่การเก็บภาษีกลับหาได้ลดน้อยถอยลงไปไม่ ผู้ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปไม่ว่าจะเป็นโรงงานแปรรูปกุ้ง โรงงานผลิตอาหารสัตว์ต้องจำใจตัดผู้แปรรูปเบื้องต้น (ล้ง) ชาวไร่ข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ป่าออกจากซัพพลายเชน

เพื่อความอยู่รอดของตนเองในการส่งออกสินค้า

หันไปดูชาวนาก็ร้องระงมกันทั้งแผ่นดินจากราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำเพราะพ่อค้าส่งออกและประเทศคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นเวียดนามอินเดีย ตัดราคาขายให้กับคนซื้อ ซึ่งคนซื้อในตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือแม้แต่กลุ่มอาเซียนด้วยกันก็ไม่ค่อยมีเงิน จากภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันตกต่ำในปีที่ผ่านมา เห็นได้จากมาเลเซียที่ส่งออกน้ำมันค่อนข้างมาก เมื่อก่อนต้องใช้เงินบาท 12-13 บาทไปแลกได้เพียง 1 ริงกิต ปีที่ผ่านมาใช้เพียง 7-8 บาทไปแลกเท่านั้น กำลังซื้อข้าวและสินค้าอื่น ๆ จากไทยจึงอ่อนแรงลงไปมาก ราคาน้ำมันเพิ่งดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันตกลงกันลดกำลังการผลิตในครึ่งปีแรกนี้เท่านั้น

แต่ในส่วนประเทศผู้ผลิตข้าวยังมีจุดอ่อนที่ยังไม่ได้แก้ไขและปลายปีนี้ราคาข้าวตกต่ำมีสิทธิ์หวนกลับมาตกต่ำอีกครั้ง จึงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องหารือกันว่าสมควรจะมีการนำเข้าข้าวเกรดพรีเมี่ยม เช่น ข้าวผกามะลิและในชื่อต่าง ๆ จากกัมพูชามาส่งออกในระดับหนึ่งมากน้อยเพียงใด เพราะทุกวันนี้เวียดนามนำข้าวเกรดพรีเมี่ยมของกัมพูชาไปส่งออกตัดราคาข้าวหอมมะลิไทยค่อนข้างมากถึง 200-300 เหรียญสหรัฐต่อตันในบางช่วง หากทำได้หรือนำเข้าในระดับหนึ่ง จะทำให้เวียดนามตัดราคาไม่ถนัดหรือขายในราคาห่างกันไม่มาก และการที่เวียดนามตัดราคาขายข้าวหอมมะลิลงหนัก ก็ส่งผลกระทบต่อไทยไปถึงข้าวขาวโดยอัตโนมัติที่จะขายได้ราคาต่ำลงไปอีก ดังนั้น ภาครัฐควรชี้แจงต่อชาวนาที่เคยคัดค้านมาตลอดว่าส่งผลดีผลเสียต่อระบบข้าวไทยมากน้อยแค่ไหนหากมีการนำเข้า

ส่วนการปรับตัวของเกษตรกรไทยในอนาคตเมื่อผู้ผลิตผู้ส่งออกรายใหญ่ตัดออกจากซัพพลายเชนรวมทั้งการแข่งขันของประเทศผู้ผลิตในแถบนี้ที่รุนแรง จึงหนีไม่พ้นที่จะต้อง "เดินตามรอยพ่อหลวง" แทน โดยเฉพาะเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ทางภาครัฐตั้งเป้าส่งเสริม 7 หมื่นรายทั่วประเทศ พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดที่ปลูกข้าวได้กว่า 11-12 ล้านไร่ ควรนำมาดำเนินการนำร่อง เพราะพื้นที่เหล่านี้มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ หากปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลาในท้องร่อง จะมีรายได้ที่สูงมาก เพราะหลายรายทำในพื้นที่ไม่ถึง 200 ไร่ยังมีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาทภายใน 20 ปี ซึ่งการทำแทบจะไม่มีต้นทุนในการปลูกหรือเลี้ยง เพราะเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติและไม่ใช่สารเคมี ทำเหมือนในอดีต ลงทุนในขั้นต้นเพียงซื้อพันธุ์มาเท่านั้น หลังจากนั้น จะแพร่พันธุ์กันเอง จึงสามารถสู้กับรายใหญ่ครบวงจรได้ การดำเนินการในขั้นต้นอาจทดลองในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อนก็ได้ เพื่อให้เกิดความชำนาญ

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคกลางที่ส่วนใหญ่เป็นการเช่าจากนายทุน ยังไม่เอื้อต่อการเช่าเพื่อดัดแปลงพื้นที่เป็นท้องร่อง สระเก็บน้ำ หรือการถมดินสูงป้องกันน้ำท่วม ภาครัฐควรจะดำเนินการนำร่องเป็นตัวอย่าง รวมทั้งการแก้กฎหมายการเช่าระยะยาวรองรับ เหล่านี้จะสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทยแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลางของประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่ไทยติดเป็นอันดับ 2 ของโลกได้


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : ย้อนเวลาหาอดีต สู่ความยั่งยืนเกษตรกรไทยในอนาคต

view