สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทางเลือกที่ต้องแลก! เปิดประสบการณ์ จูน ณัฐพงษ์" เจ้าของธุรกิจคราฟต์เบียร์ไทย ถูกกฎหมาย

ทางเลือกที่ต้องแลก! เปิดประสบการณ์"จูน ณัฐพงษ์" เจ้าของธุรกิจคราฟต์เบียร์ไทย"ถูกกฎหมาย

จากประชาชาติธุรกิจ

รายงานโดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์

www.prachachat.net


ปมร้อนประเด็นฮอตรับปีไก่ที่สร้างกระเเสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ (ก่อนกรณีรองอธิบดีจิ๊กภาพ)คงหนีไม่พ้นความเข้มข้นของกระเเส"คราฟต์เบียร์"หลังกรณีหนุ่มนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยชื่อดังลักลอบผลิตเบียร์เองจากหลังบ้านเเจกเพื่อนชิมเเละนำออกวางจำหน่ายจนกระทั่งโดนจับกุมดำเนินคดี เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา

การโดนปรับ 5,200 บาทเเละโทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี สั่นสะเทือนสังคมด้วยประเด็นที่ใหญ่กว่าอย่างการ "ผูกขาด" ของกลุ่มทุน เเละการไม่ให้โอกาสกับผู้ผลิตเบียร์รายย่อยในตลาด ทั้งๆที่ภาครัฐเสริมทัพผลักดันเอสเอ็มอีนั้น...ถูกตั้งคำถาม

"เบียร์รสชาติงั้นๆ ในราคาที่แพงเกินควร และตัวเลือกมีน้อยมากๆ" เสียงผู้บริโภคที่สะท้อนตลาดเบียร์ไทยในปัจจุบันได้ดี

ก็เเล้วทำไมไม่ทำให้ถูกกฎหมาย...อาจเป็นเพราะกติกานั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ตัวเล็กตัวน้อยจะเข้าถึงได้ ด้วยพ.ร.บ.สุราพ.ศ.2493มีใจความเกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำเบียร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าสามารถทำได้ใน2กรณี คือ 1) เป็น Brewpub ที่ต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 1เเสนลิตรต่อปี เเต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี สั่งดื่มได้เฉพาะในร้านเเละไม่สามารถบรรจุขวดหรือใส่ถังไปขายข้างนอกได้ เเละ 2) โรงเบียร์ขนาดใหญ่ ที่มีกำลังการผลิตอย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี จำนวนมากมหาศาลเช่นนี้ก็นึกถึงเบียร์ยี่ห้อใหญ่ๆ ที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป

ช่องว่างของคนธรรมดาทุนน้อยผู้ใฝ่ฝันจะผลิตเบียร์รสชาติของตนเองได้ในประเทศไทยจึงไม่มีเหลือทางเลือกเดียวที่พอจะทำได้ก็คือการ"ออกนอกประเทศ"โดยการไปผลิตเมืองนอกเเล้วนำเข้ากลับมาในไทยอย่างถูกกฎหมายเเทนซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเเบกรับค่าภาษีค่าขนส่งจำนวนมากเเละผลกระทบก็มาตกกับผู้บริโภคอีกทอดหนึ่ง...ด้วยราคาคราฟต์เบียร์ที่เเพงเเสนสาหัส

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์พูดคุยเปิดประสบการณ์บนถนนสายธุรกิจคราฟต์เบียร์ถูกกฎหมายของ "จูน ณัฐพงษ์ อภิพันธ์" ผู้ก่อตั้งคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง "Happy New Beer" เเละ " 6 P.M." กับเส้นทางชีวิต ความใฝ่ฝัน เเละความพลิกผันจากคนชอบดื่มเบียร์ (ของคนอื่น) กลายเป็นเจ้าของเบียร์ (ของตัวเอง) นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เเละยิ่งยากไปกันใหญ่เมื่อเมืองไทยยังไม่มีเเม้ช่องโอกาสให้ "คราฟต์เบียร์รายย่อย" 



การตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตของ "จูน" เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่เเล้ว จากหนุ่มวิศวกรเงินเดือนดี ตัดสินใจก้าวสู่โลกของผู้ประกอบการ

เขาผู้ชื่นชอบใน "เบียร์" บอกว่ายามสังสรรค์ฤกษ์ดีที่สุดคือตอนเลิกงาน เเต่สมัยนั้นร้านอาหารที่ขายเบียร์นอกยังไม่เปิดเเพร่หลายมากนัก เขาจึงมีร้านประจำที่ชอบไปบ่อยๆ หรือบางวันก็เป็นเพียงร้านระหว่างทางผ่านกลับบ้าน หรือบางครั้งก็ไปดื่มในร้านที่คุ้นเคยซึ่งเป็นของน้องสาวตัวเอง

เเน่นอนว่าความตั้งใจเเรก เมื่อคิดจะประกอบธุรกิจอะไรสักอย่างต้องมี "เบียร์" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นเเน่เเท้ ชายหนุ่มวัย 29 ปี (ณ ขณะนั้น) ตัดสินใจยื่นซองขาวลาออกจากงานเพื่อมาเปิดร้านขาย "ก๋วยเตี๋ยว" เเต่ไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวธรรมดาสามัญทั่วไป ไอเดียเขาไปไกลกว่านั้น คือเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่กินกับ "เบียร์"

"ลาออกจากงานมา ไม่มีเงินทุนเลย มีเงินออมนิดเดียว ต้องขายรถเพื่อมาทำธุรกิจ ตอนนั้นมีไอเดียว่าจะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวกับเบียร์ เพราะยังไม่เห็นใครทำธีมนี้ ลองปรึกษากันกับเเฟนดู เเต่ก็รู้นะมันไม่เข้ากันเลย (หัวเราะ) สุดท้ายพอไปลงทุนทำร้านจริงๆ มันไม่ใช่เเค่ร้านก๋วยเตี๋ยวเเล้ว มันขยายใหญ่ขึ้นมาก จากนั้นก็คุยกับน้องสาวว่าจะมาร่วมหุ้นทำร้านอาหารกันเป็นจริงเป็นจังกันไหม ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ ร้าน E.A.T ที่เขาใหญ่"

สเต็ปชีวิตของจูนขยับไปอีกขั้นด้วยการเปิดร้านอาหารไทยฟิวชั่นที่เน้น "เบียร์" (เเต่ก็ยังมีเมนูก๋วยเตี๋ยวนะ) จากตอนเเรกที่ไม่คิดว่าจะไปได้สวย เเต่กิจการก็ดีเกินคาดคิด กลายเป็นร้านอาหารที่มี "เบียร์นอก" ขายมากที่สุดในเขาใหญ่

"เปิดธุรกิจร้านอาหารไปได้ประมาณครึ่งปี เราก็เริ่มหาเบียร์ใหม่ๆเข้ามาเรื่อยๆ เริ่มคิดขึ้นมาได้ว่าเราควรจะมีเบียร์ของเราเองขึ้นมา คิดเล็กๆก่อนว่าจะขายเเค่ในร้านตัวเอง อย่างน้อยลูกค้าก็จะได้กินเบียร์จากร้านเราเอง เเต่ต่อมามันใหญ่กว่านั้น"



ก้าวขาสู่วงการคราฟต์เบียร์

ณัฐพงษ์เล่าให้ฟังว่าหลังจากมีความคิดจะสร้างเบียร์ของตัวเองขึ้นมาสักพักเขาก็ได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรม"คราฟต์เบียร์"ที่สิงคโปร์โดยตั้งใจจะไปดูจะมีของดีอะไรว่าเผื่อจะได้นำเข้ามาบ้างเเละเขาก็ไปเจอเครื่องทำคราฟต์เบียร์เครื่องหนึ่งที่มีกระบวนการทำง่ายๆใส่ส่วนผสมที่เซ็ตไว้เเล้วหมักไว้เพียง7 วัน ออกมาได้เบียร์ที่กินได้เลย

"ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก คิดว่าเครื่องนี้ยังไงก็โดน โดนใจเเน่ๆ เลยกลับมาคุยกับเเฟน นั่งดูไปดูมา ทำเบียร์เองในไทยมันผิดกฎหมายนี่หว่า ด้วยความที่เราอยู่เขาใหญ่ ไม่รู้ความเป็นไปว่าในกรุงเทพก็มีทำๆกันบ้างเเล้วนะ ก็เลยเริ่มหาวัตถุดิบเองบ้าง จะลองทำเล่นๆดู ตอนนั้นในไทยน่าจะมีเเค่เจ้าเดียวที่นำเข้าพวกวัตถุดิบทำคราฟต์เบียร์มาขาย ส่วนที่เหลือต้องสั่งจากต่างประเทศ ผมเลยสั่งทางอีเบย์เเละอเมซอนมาทดลอง"

ความเพียรพยายามไม่ได้สำเร็จเพียงหนึ่งครั้ง ใครล่ะจะทำเบียร์ได้สำเร็จเพียงครั้งเดียว ด้วยความที่เขาไม่มีความรู้ด้านการผลิตเบียร์มาก่อน ผลที่ออกมาช่วงเเรกจึงเป็นที่คาดเดากันได้ (ว่าไม่ผ่าน)

"รู้เเค่ว่าเบื้องต้นมันมี ฮอป มอลต์ ยีสต์ เเละน้ำ ผมจับทุกอย่างใส่รวมกัน โทรถามคนขายวัตถุดิบให้เราว่าต้มยังไง ตอนเเรกเราซื่อมาก ด้วยความที่คิดว่าเป็นการต้มเบียร์ ไม่รู้ว่าต้องมีการเเม็ทชิ่งกับน้ำตาล เเละอะไรหลายๆอย่าง เเล้วต้มใส่หม้อก๋วยเตี๋ยว จากนั้นไปหลอกเพื่อนมากิน สุดท้ายรสชาติเเย่มาก กินไม่ได้"

การคิดสูตรเบียร์ช่วงเเรกของจูนจึงเป็นบทเรียนเพื่อการศึกษา อ่านตำราการทำคราฟต์เบียร์ของต่างประเทศ ใช้เวลาฝึกฝนลองผิดลองถูกนานนับปี หมดเงินหมดทองไปมิใช่น้อยถึงหลักเเสน

"อ่าน textbook สมัยเรียนวิศวะยังง่ายกว่าเลยครับ กระบวนการซับซ้อนมาก พอได้หลักการตามหนังสือก็เลยลองต้มดู ปรากฏว่ามันเริ่มมีความเป็น "เบียร์" ขึ้นมาบ้างละ เเล้วสูตรที่ประสบความสำเร็จครั้งเเรก เรียกว่ารสชาติผ่านระดับเป็นที่พึงพอใจมาก เกิดขึ้นตอนปีใหม่พอดี นี่จึงเป็นที่มาของชื่อเเบรนด์เราในทุกวันนี้"



จากเคย"เถื่อน" กลายเป็น "ถูกกฏหมาย"


เมื่อคนไทยเริ่มหันมาสนใจคราฟต์เบียร์กันมากขึ้น เริ่มมีการจัดงานเกี่ยวกับคราฟต์เบียร์บ่อยครั้ง บางคนหันไปเป็นพ่อค้าที่นำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อขาย คนทำง่ายขึ้น คนดื่มคึกคักขึ้น

จากเดิมที่จูนเคยคิดว่า เขาจะทำเบียร์ขายเฉพาะเเค่ในร้านอาหารของเขาเท่านั้น จุดหมายเริ่มเปลี่ยนเเละไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อมีหลายเจ้าในกรุงเทพมาขอซื้อเบียร์ กิจการเริ่มดี เริ่มมีคนมาขอซื้อไปขายต่อเยอะ เรียกว่าขายรัวๆ จนทำไม่ทัน

"ไม่คิดว่าจะทำขายต่อเเละติดตลาดมากขนาดนี้ เเละที่สำคัญมันผิดกฎหมายด้วย เจ้าหน้าที่ก็เริ่มกวดขัน จับกันจริงๆเเล้ว ก็เลยคิดเเผนจะตั้งโรงงานที่ประเทศเพื่อนบ้านขึ้นมา


....ผมเริ่มหาผู้ลงทุนร่วม โดยไปหาคุณลุง ตอนนั้นเริ่มวางเเผนอย่างจริงจังเเล้ว ถ้าซื้อเครื่องเท่านี้ เงินลงทุนเท่านี้ใน 5 ปี จะคืนทุนเท่าไหร่ ตอนเเรกเล็งว่าจะซื้อเครื่องจักรจากจีน เอาไปเอามา ไม่เอาครับ จะเอาเครื่องยุโรป เเต่ก็นั่นเเหละครับ เงินที่ต้องลงทุนมันพุ่งไปถึงเกือบร้อยล้าน สุดท้ายเเล้วตอนนี้ก็ยังพับไว้ก่อน เเต่ไม่ได้ล้มเลิกนะครับ รอเวลาทำทุกอย่างให้มันเข้าที่เข้าทางก่อน รอระดมทุนได้จริงๆ ก็จะทำโรงงานของตัวเอง"

ทางเลือกที่ต้องเเลกกับ "Contract Brewing"

เมื่อต้มเบียร์เองที่บ้านก็จะโดนตำรวจจับ เเละถ้าจะไปตั้งโรงงานที่ต่างประเทศก็ทุนไม่หนาพอ ณัฐพงษ์ตัดสินใจเดินหน้าต่อ โดยการหาช่องทางใหม่ นั่นคือการทำ "Contract Brewing" กับโรงงานในต่างประเทศที่รับผลิตเบียร์ โดยเเบรนด์ "Happy New Beer" ทำสัญญากับโรงงานที่ออสเตรเลีย ส่วนเเบรนด์ "6 P.M." ทำสัญญากับโรงงานประเทศญี่ปุ่น



"ผมรู้จักเจ้าของโรงงานที่ออสเตรเลีย จากการส่งอีเมล์ไปนะ เขาตอบกลับมาว่าจะมาเมืองไทยพอดีช่วงนั้น ก็เลยขอนัดเเละทานข้าวกัน ตกลงธุรกิจกันได้ ส่วนที่ญี่ปุ่นติดต่อไปหลายรอบมาก 3-4 รอบถึงจะได้พูดคุย"




เเละเป็นโอกาสพิเศษที่เจ้าของโรงงานที่ออสเตรเลียใจดี(มาก)เปิดโอกาสให้จูนได้ไปฝึกงานในโรงงานเป็นเวลา2เดือนโดยจูนต้องทำงานเหมือนพนักงานทั่วไปเเต่ก็คุ้มเเสนคุ้มเพราะได้ย้ายไปฝึกทุกเเผนกได้สร้างมิตรภาพเเละเรียนรู้วัฒนธรรมจากผู้ร่วมงานทำให้เขาได้ "เพื่อน" ที่เป็นคอเบียร์ชาวท้องถิ่นด้วย

"เราต้องทำงานอยู่ทุกเเผนก วนเวียนกันไป เพื่อเรียนรู้กระบวนการผลิตทั้งหมด จากการที่ได้ไปอยู่ในโรงงานจริงๆ เป็นเวลา 2 เดือน ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราทดลองทำมาปีกว่าเนี่ยเป็นเเค่ส่วนเล็กๆเเค่ 20 เปอร์เซนต์เท่านั้น มันมีอะไรมากกว่านั้น ต้องเข้าเเล็บ ต้องดูว่ายีสต์อยู่ได้ขนาดไหน ค่าความขมไม่ได้จะทำอย่างไร ซึ่งเขาค่อนข้างเป๊ะเรื่องนี้"



ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าว เป็นโรงงานขนาดใหญ่ โดยผลิตภัณฑ์คราฟต์เบียร์กว่าครึ่งหนึ่งในซิดนีย์เเละนิวเซาท์เวลส์จะมาจากที่นี่ รับผลิตให้หลากหลายยี่ห้อ เเละมีเเบรนด์ของตัวเองอย่าง "Stockade"

ส่วนโรงงานที่ญี่ปุ่น จูนบอกว่ามีความเเตกต่างกับออสเตรเลียอย่างมาก ถึงขั้นเปลี่ยนเเนวไปเลย โดยญี่ปุ่นจะเน้นความเป็นคราฟต์จริงๆ คือใช้ทุกอย่างจากธรรมชาติ เช่นการใช้ฮอปเป็นดอก ไม่ใช้ฮอปเป็นเม็ด น้ำเบียร์ไม่มีการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ เเต่จะเป็นการหมักจากธรรมชาติ เป็นต้น

โดยเเม้ว่าจะผลิตที่ต่างประเทศ เเต่ทางเจ้าของเบียร์ก็ต้องคิดสูตรทุกอย่างขึ้นมาเองก่อน ทั้งหมดทุกตัว เเล้วไปคุยกับโรงงาน ซึ่งจะได้รับคำเเนะนำมาอีกที เพราะการทำที่โรงงานนั้นต่างจากที่ทำเองที่บ้านอย่างมาก

"สูตรของเรา เราไปต้มกับเขา เเล้วก็ส่งกลับมาขายประเทศเรา" 

สำหรับคราฟต์เบียร์ สัญชาติไทยที่ไปทำสัญญาผลิตในต่างประเทศ ในปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 8 เเบรนด์ โดยมีการร่วมมือกับโรงงานที่ออสเตรเลีย (ซิดนีย์-เมลเบิร์น), กัมพูชา (สุวรรณเขต-เกาะกง), เวียดนาม (โฮจิมินห์ซิตี้), ไต้หวัน (ไทเป) เเละญี่ปุ่น (ชิซุโอกะ)



ตั้งเป้าเติบโตต่อไปอย่างไร


“ค่อยเป็นค่อยไปครับ อยู่เงียบๆกระดึ๊บๆไปเรื่อยๆ ไม่ได้มองเป้าว่าต้องไปแชร์ตลาดใคร ไม่ได้แข่งกับเจ้าใหญ่ ตอนนี้ทำให้ดีที่สุด ขายของที่มีอยู่ในมือให้หมดก็พอ ผมมองว่าถ้ามันเป็นธุรกิจ เสน่ห์มันจะหายไป ผมเลยไม่ค่อยอยากไปแข่งกับใคร แค่อยากทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

...ส่วนความตั้งใจจะส่งออกให้ต่างประเทศรู้จักก็มีเหมือนกัน แต่คงไม่ใช่ในระยะอันใกล้นี้ เวลานี้อยากทำให้คนในประเทศรู้จักก่อน ถ้าคนไทยรู้จักดีแล้ว ชาวต่างชาติที่มาก็จะรู้เองว่าจะตามหาได้ที่ไหน"

ณัฐพงษ์ เปิดเผยว่า ตลาดหลักของ "Happy New Beer" เเละ " 6 P.M." ตอนนี้ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร เมืองท่องเที่ยวภาคเหนืออย่าง เชียงใหม่ เชียงราย ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกันในหัวเมืองใหญ่อย่าง ขอนเเก่นเเละภูเก็ต ด้านภาคตะวันออกก็ส่งได้ทุกจังหวัดเเล้ว ซึ่งเขาใช้เวลาเพียง 3 เดือนในการกระจายสินค้าไปทั่วทุกภาคในประเทศ



โดยกลุ่มลูกค้า แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ผู้ที่ต้องการหาความพื้นเมือง หาเบียร์ที่เป็นของคนไทย ,กลุ่มกลุ่มคนไทยที่ชื่นชอบกินเบียร์อยู่แล้ว เเละกลุ่มตลาดใหม่ที่ต้องการหลีกหนีจากการกินเบียร์ในตลาดเดิมๆ

"บางครั้งด้วยความที่ราคาคราฟต์เบียร์ที่สูงกว่าเบียร์ท้องตลาดเกือบสามเท่าตัวจากค่าภาษีเเละการนำเข้าดังนั้นราคาปลายทางที่ร้านจะขายจะต้องตั้งไว้ให้แตกต่างทำอย่างไรให้เราอยู่ตรงกลางระหว่างเบียร์นอกและเบียร์ท้องตลาดได้คือเเพงกว่าเบียร์ดั้งเดิมแต่ไม่แพงเท่าเบียร์นอก"

สำหรับกำลังการผลิตจูนบอกว่าจากฝั่งโรงงานในออสเตรเลียจะประมาณ10,000ลิตรต่อครั้งระยะเวลารวมผลิตและส่งประมาณ 2 เดือน มากน้อยจะขึ้นอยู่กับแผนของเราที่ตกลงกับโรงงาน เเละจะต้องมีการกำหนดวันผลิตที่แน่นอน

โดยเป็นการทำสัญญาการค้ากับประเทศที่ตกลงการค้าเสรี (FTA)กับไทย ซึ่งจะไม่เสียภาษีนำเข้า แต่ต้องไปเสียภาษีสรรพสามิตและอื่นๆอีกมากมาย จึงทำให้คราฟต์เบียร์บ้านเรายังคงมีราคาแพงพอสมควร เมื่อเทียบกับเบียร์ที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป



วัฒนธรรม "คราฟต์เบียร์" ในต่างประเทศ

เมื่อครั้งอยู่ออสเตรเลียจูนเเละเพื่อนจะนัดกันในช่วงวันหยุดหรือเวลาเลิกงานเพื่อพากันไปชิมเบียร์ตามท้องถิ่นโดยระหว่างที่ขับรถไปยังเมืองต่างๆก็จะมีร้านเบียร์ระหว่างทางให้ได้ศึกษารสชาติ

"ที่ออสเตรเลียคนจะฮิตไปตามกินเบียร์ท้องถิ่นกันมากถ้าไปเที่ยวเมืองนี้ต่อให้เป็นโรงงานเล็กทำแค่500ลิตรคนก็ยิ่งแห่ไปกินยิ่งทำจากหลังบ้านคนยิ่งชอบ ส่วนญี่ปุ่นก็ทำ แต่ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยทำขาย จะเป็นแต่ละบ้านจะทำแล้วเอามาแชร์กันมากกว่า

...ผมว่าคราฟต์เบียร์โลก เขาอยู่ได้อยู่แล้ว เพราะเขาทำแบบท้องถิ่นได้ ทำเป็นเบียร์วิลเลจได้ นักท่องเที่ยวไปก็จะไปตามหา แต่บ้านเรายังทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย ความจริงผมคิดว่าคนไทยหัวคิดดี สร้างสรรค์แต่ไม่มีโอกาสได้ทำแค่นั้น” มิสเตอร์จูนกล่าว



หากขยับมาทางฟากฝั่งอเมริกา จากการศึกษาพบว่า เเถบนี้ก็มีวัฒนธรรมการต้มเบียร์ดื่มเองที่บ้านเช่นเดียวกัน หรือที่เราเคยได้ยินผ่านหูจากซีรีส์ฝรั่งมาบ้างว่า"homebrew" พระเอกเรียกเพื่อนมาปาร์ตี้กินเบียร์ที่หมักเองที่บ้านนั่นเเหละ

ส่วนโรงเบียร์ขนาดเล็กระดับโอท็อปในสหรัฐก็มีเรียกว่า"craftbrewery"เป็นของดีประจำชุมชนโดยมีการกำหนดข้อตกลงว่าจะต้องมีเจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ75เเละต้องใส่วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมดเเต่ถ้าจะใส่ก็ต้องเพื่อเเต่งกลิ่นเเต่งรสเท่านั้นห้ามใช้วัตถุสังเคราห์เพื่อลดต้นทุน เป็นต้น เห็นเเล้วสเกลช่างเเตกต่างกับกติกาไทยเสียเหลือเกิน...



คราฟต์เบียร์กับความเป็นเทรนด์ในไทย

"ผมมองว่ามันบูมขึ้นแต่เดี๋ยวก็ต้องมีจุดตันเมื่อวันใดวันหนึ่งเพราะถ้าคุณเป็นเจ้าของโปรดักส์ที่คุณไม่สามารถผลิตโปรดักส์ของคุณเองได้จะไม่มีข้อได้เปรียบไม่มีอะไรที่คุณจะไปแข่งขันในตลาดได้ที่สำคัญคือไม่มีกำไรหากถามว่าพอจะหาทางออกให้บริวเวอร์ชาวไทยได้บ้างไหมผมว่าคงยาก ขนาดสุราพื้นบ้านทุกวันนี้ยังไม่สามารถทำเหล้าสีได้เลย ทำได้แต่เหล้าขาว คิดว่าเมืองไทยยังไปยาก บางทีอาจจะต้องรอจนแก่"

ณัฐพงษ์ กล่าวเสริมอีกว่าความนิยมคราฟต์เบียร์ในกลุ่มชนชั้นกลาง เป็นเทรนด์ที่มีมานานมากเเล้ว เเต่ถ้าหากต่อไปจำนวนคนกินยังเท่าเดิม เเละรัฐบาลยังไม่สนับสนุน ก็อาจจะเป็น เทรนด์ที่มีวันผ่านไป

"ถ้าสมมุติคนไทยผลิตเองได้ ซึ่งส่วนตัวผมยังมองว่าเป็นไปได้ยาก เราจะได้กินคราฟต์เบียร์รสชาติดีที่ราคาถูกกว่านี้มาก  โดยเราอาจจะต้องทดเเทนด้วยการส่งออกนอกประเทศให้แพงหน่อย เพื่อให้คนในประเทศตัวเองได้กินของถูกเเละดี"


บุญรอดฯ หนุนเปิดเสรีคราฟต์เบียร์

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ เปิดเผยว่า บุญรอดฯ สนับสนุนแนวคิดแก้ไขกฎหมายกรมสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมการผลิตคราฟต์เบียร์อย่างถูกต้อง พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐนำบรู มาสเตอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญในการปรุงเบียร์ให้ดีมีคุณภาพ มอบความรู้ความเข้าใจกระบวนการผลิต

สำหรับบุญรอดฯ มองว่าการทำธุรกิจคราฟต์เบียร์ สามารถดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายได้ ในกรณีผู้ทำธุรกิจต้องการบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบขวด ต้องจัดตั้งในรูปแบบบริษัทขึ้นมา มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีกำลังการผลิตคราฟต์เบียร์ 10 ล้านลิตร/ปี นอกจากนี้ยังต้องมีความสามารถทางด้านผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้ดื่ม หรือในกลุ่มผู้ประกอบรายย่อยหากไม่ต้องการบรรจุขวด ก็สามารถทำบรรจุถังเบียร์ เหมือนเช่น โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง 

ขณะที่แนวโน้มตลาดคราฟต์เบียร์ในประเทศไทย ตัวเลขในเชิงปริมาณมีราว 10 ล้านลิตร ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก จากเทรนด์เกิดขึ้นในยุโรป ส่วนพฤติกรรมในไทย ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ต้องการเครื่องดื่มที่มีความแตกต่าง แปลกใหม่ และเชื่อว่าคราฟต์เบียร์จะเข้ามาช่วยสร้างสีสันภาพรวมตลาดเบียร์ในเชิงปริมาณ 2,000 ล้านลิตรให้มีความคึกคักยิ่งขึ้น

ปัจจุบันบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นผู้ให้การสนับสนุน ชมรมคราฟต์เบียร์ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสมาชิกร่วม 20ราย ทั้งนี้บริษัทมีบรูมาสเตอร์  หรือผู้เชี่ยวชาญในการปรุงเบียร์ให้ดีมีคุณภาพ จำนวนทั้งสิ้น 18 คน ที่มีสามารถและพร้อมให้ข้อมูลความรู้กับผู้ที่สนใจและต้องการแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ และหากพันธมิตรหรือสตาร์ตอัพทำคราฟต์เบียร์ที่ดีมีคุณภาพ เราก็พร้อมจะสนับสนุนและเติบโตไปด้วยกันในธุรกิจคราฟต์เบียร์

ทั้งนี้ในประเทศไทยมีบรู เฮ้าส์ หรือผู้ผลิตเบียร์เกือบ 10ราย สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 15 ปี โดยทั้งหมดนี้แสดงที่ตั้งสำหรับการผลิตชัดเจน และมีการเสียภาษี อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันคราฟต์เบียร์นำเข้ามาในประเทศไทยมีมากกว่า 50 แบรนด์ และกว่า 10 ยี่ห้อเป็นแบรนด์ของไทย ซึ่งภาครัฐให้เปิดเสรีผลิตคราฟต์เบียร์ เชื่อว่าจะส่วนหนึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : ทางเลือกที่ต้องแลก! เปิดประสบการณ์ จูน ณัฐพงษ์" เจ้าของธุรกิจคราฟต์เบียร์ไทย ถูกกฎหมาย

view