จากประชาชาติธุรกิจ
เอกชนประสานเสียง Tier 3 ยังไม่กระทบส่งออกอาหารทะเลไทย แต่การถูกจัดลำดับ 2 ปีติดต่อ อาจส่งผลจิตวิทยาผู้บริโภคสหรัฐ สำนักงานพาณิชย์ไทยที่ชิคาโกหวั่น เชนสโตร์ซูเปอร์มาร์เก็ตดังจะเปลี่ยนแหล่งนำเข้าอาหารทะเลจากไทย
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 (Trafficking in Persons Report 2015 หรือ TIP Report 2015) ปรากฏในปีนี้ประเทศไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในระดับต่ำสุด หรือ Tier 3 กลุ่มประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ติดต่อกันเป็นปีที่สอง สร้างความผิดหวังให้กับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มเดียวกันกับไทยอย่าง มาเลเซียถูกปรับสถานะให้ดีขึ้น โดยมาอยู่ในกลุ่ม Tier 2 Watch List หรือกลุ่มประเทศที่มีรายงานเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นหรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า รัฐบาลได้พยายามเพิ่มขึ้นในการต่อต้านการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ ในรายงานการค้ามนุษย์ TIP Report สหรัฐได้กล่าวหาไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านของกระบวนการค้ามนุษย์ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ที่มาจากพม่า-กัมพูชา-ลาว-จีน-เวียดนาม-อุซเบกิสถาน-อินเดีย มีเป้าหมายบังคับใช้แรงงาน การค้าประเวณี จากการประมาณการแรงงานข้ามชาติในไทยที่มีอยู่ราว 3-4 ล้านคน โดยแรงงานบางส่วนถูกบังคับ ขู่เข็ญ หรือหลอกลวง ให้เข้าสู่กระบวนการค้าแรงงาน หรือค้าแรงงานทางเพศ มีจำนวนมากถูกกดขี่ให้อยู่ในกิจการประมงเพื่อการค้าต้องอยู่ในทะเลต่อเนื่องหลายปี ได้รับค่าจ้างน้อย ทำงาน 18-20 ชั่วโมง/วัน ถูกขู่ทำร้ายถูกทุบตีทั้งในโรงงานและในบ้าน
แรงงานข้ามชาติบางส่วน ที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ถูกเนรเทศโดยไม่มีกระบวนการคัดกรองที่เหมาะสมบาง รายถูกบังคับให้ไปขอทานหรือค้าประเวณี หรือตอบสนองต่ออุตสาหกรรมทางเพศในสถานค้าประเวณี อาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านส่วนตัว โดย TIP Report กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยบางรายสมรู้ร่วมคิด ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ที่เป็นพลเรือนและเจ้าหน้าที่ในกองทัพได้รับผล ประโยชน์จากการขายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาในภาคใต้และยังมีส่วนให้ความคุ้มครอง สถานที่ค้าประเวณีผิดกฎหมาย
สิ่งที่สหรัฐจะตอบโต้ประเทศไทยในกรณี Tier 3 คือระงับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้า ซึ่งมีผลต่อประเทศไทยน้อยมาก
ปัญหาใหญ่ จนท.ทุจริต
ด้านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์เชื่อว่า การที่ไทยยังคงตกอยู่ในสถานะ Tier 3 มาจากเหตุผล 4 ประการ คือ 1) การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกลุ่มเสี่ยงยังดำเนินการไม่เพียงพอ เมื่อคัดแยกแล้วไม่ได้ส่งตัวผู้เสียหายเข้ารับการคุ้มครอง 2) ยังมีการค้ามนุษย์ในแรงงานภาคประมง ไม่พบการดำเนินคดีกับเจ้าของเรือ ไต้ก๋งที่บังคับใช้แรงงาน 3) กรณีชาวโรฮีนจายังไม่พบการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในข้อหาค้ามนุษย์ 4) การทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศยังยืนยันว่า รัฐบาลไทยได้ "ปฏิรูป" การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบและมีความคืบหน้าในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านนโยบายประกาศให้การค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ มีกลไกระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ด้านการบังคับใช้กฎหมายมีการทลายเครือข่ายการค้ามนุษย์ ด้านการป้องกันมีการจัดระเบียบแรงงานประมง การขึ้นทะเบียบแรงงานต่างด้าว ด้านการคุ้มครองมีการคัดแยกและดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย และด้านความร่วมมือ ประเทศไทยมีบทบาทในการป้องกันการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค
หวั่นซูเปอร์มาร์เก็ตบอยคอต
ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ ชิคาโก ได้รายงานผลกระทบกรณีไทยยังติดอยู่ในกลุ่ม Tier 3 ว่า 1) ลดระดับความมั่นใจของผู้นำเข้าสินค้าไทย ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต Chain Store รายสำคัญอย่าง Target-Walmart-Whole Foods-Kroger-Castco อาจ "ทบทวน" แหล่งนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทย
2) ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมงและมีความรับผิดชอบในแหล่งที่มาของอาหารทะเลเช่น กลุ่ม Sea Pact หลีกเลี่ยงที่จะนำเข้าอาหารทะเลจากไทย 3 กลุ่ม NGO อาจรณรงค์ต่อต้านการซื้อสินค้าจากไทย และออกข่าวเป็น "ลบ" เพิ่มขึ้น 4) สินค้าอาหารทะเลที่ส่งผ่านประเทศที่สาม (Transshipment) อย่างมาเลเซีย
ไม่กระทบส่งออกอาหารทะเล
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า การขึ้นบัญชี Tier 3 ติดต่อกันเป็นปีที่สองจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้าไทย โดยผู้บริโภคสหรัฐจะนำสินค้าไทยไปเปรียบเทียบกับสินค้ามาเลเซีย ซึ่งการผลิตคล้ายคลึงกับไทย กลุ่มอาหารทะเลแปรรูปจะกระทบมากสุด กลุ่มทูน่ากระป๋องไม่น่ากระทบมาก เพราะไทยนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ไม่ได้ถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์ กลุ่มกุ้งแช่เย็นแช่แข็งกระทบน้อย เพราะขณะนี้ผลผลิตกุ้งไทยลดลงจากปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ทำให้ไทยไม่มีกุ้งเพียงพอส่งออก
"การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐ หลังไทยติดกลุ่ม Tier 3 ตั้งแต่ปี 2557 กระทบไม่มากนัก เพราะปี 2557 ตลาดสหรัฐเป็นบวก 4.1% ปี 2558 ก็บวก เพิ่งติดลบเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 0.1% โดย 6 เดือนแรกปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าประมง 157.7 ล้านเหรียญ หรือ -3.66% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 มูลค่า 163.7 ล้านเหรียญ ลดลงน้อยมาก"
เอกชนเร่งหาเกราะคุ้มครอง
ด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือ TUF กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่ผ่านมา TUF พยายามจะผลักดันแก้ปัญหาค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต้องหมดไป จากอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย
"TUF มีการปฏิบัติตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ เราเพิ่มมาตรการมากมายเพื่อให้มั่นใจว่า TUF ปกป้องดูแลแรงงานอย่างดีที่สุดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่ธุรกิจเราปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ โดยได้รับการตรวจสอบจาก Underwriters Laboratories หรือ UL หน่วยงานตรวจสอบอิสระระดับสากล"
ขณะที่นายปรีชา ธนสุกาญจน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องร่วมมือกัน โดยในเดือนสิงหาคมนี้ CPF ร่วมกับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย จะฟอร์มทีมประมาณ 30 คน เข้าไปให้คำแนะนำและความรู้ในการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี (GLP) แก่สมาชิก 8 สมาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยให้สูงขึ้น ในส่วนของ CPF ที่มี 5 โรงงานส่งออกสินค้าจะยกระดับสู่มาตรฐานแรงงานไทยขั้นสมบูรณ์แบบ และขอใบรับรองจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า Tier 3 ส่งกระทบในแง่ภาพลักษณ์ของประเทศ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ทุกฝ่ายได้ทำงานกันเต็มที่ ดังนั้นประเทศไทยควรได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น "ไม่ใช่การยืนอยู่ที่ Tier 3"
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย