สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ใช้วิกฤต ภัยแล้ง เป็นโอกาส เก็บ ภาษีบำบัดน้ำเสีย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย กฤษณา ไพฑูรย์

วันนี้หากไม่กล่าวถึงปัญหาเรื่อง "ภัยแล้ง" คงไม่ได้ เพราะน้ำถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของทุกระบบในร่างกายมนุษย์ต้องอาศัยน้ำในการ ดำรงชีวิต

แม้ภาพข่าว "ภัยแล้ง" ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์วันนี้ คนไทยยังไม่ถึงขั้นขาด "น้ำกิน น้ำดื่ม"

แต่ภาพความรุนแรงของปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ที่มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อ "ยื้อแย่ง" น้ำกันในหลายจังหวัด มีการซื้อน้ำดื่มกักตุน จนหลายห้างเติมสินค้ากันไม่ทัน ด้านภาคอุตสาหกรรมเจาะบ่อบาดาล ดูดน้ำตุนกันไว้ สะท้อนความน่ากลัวของปัญหาเบื้องหน้า !

หากเดือนสิงหาคมนี้ "ฝน" ยังตกลงมาน้อย ฝนยังตกใต้เขื่อน น้ำในเขื่อนยังแห้งผาก นักธุรกิจด้านอาหารคนหนึ่งบอกว่า..ประเทศไทยเละ ! ทั้งประเทศไทยแน่ !

หลังจากเละ ! มาแล้วรอบหนึ่งจากมหาอุทกภัย "น้ำท่วม" หนัก เมื่อปี 2554

เมื่อชาวสวน ชาวไร่ ไม่มีน้ำในการเพาะปลูก ย่อมส่งผลให้พืชผักที่เหลือรอด ปลูกในบางพื้นที่ได้ มีราคาแพงขึ้น และจะแพงยิ่งขึ้นเมื่อแต่ละคนไปยื้อแย่งกันซื้อของที่มีจำนวนจำกัด ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และใช้เป็นวัตถุดิบ สำหรับบรรดาโรงงานผลิตและแปรรูปพืชผักเพื่อการส่งออก นั่นหมายถึง ผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนย่อมสูงขึ้น

ล่าสุด รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางที่จะวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่จะดึง "น้ำจืด" จากแหล่งต่าง ๆ มาใช้รวมถึงแนวคิดในการดึงน้ำจากแหล่งอันไกลโพ้น เช่น การเจรจาดึงน้ำธรรมชาติจาก "แม่น้ำสาละวิน" มาไว้ที่ "เขื่อนภูมิพล" และดึงน้ำจาก "แม่น้ำโขง" มาไว้ที่ "เขื่อนสิริกิติ์" เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประเทศไทยในระยะกลาง และระยะยาว ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ แต่นั่นหมายถึงการลงทุนด้วยเม็ดเงินอันมหาศาลในระยะยาวอีก 4-5 ปีข้างหน้า

ในความเดือดร้อนของผู้คนในหลายจังหวัดที่กำลังก่อตัวขึ้น อีกเสี้ยวมุมหนึ่ง หากย้อนกลับมาดู "วิถี" การดำรงชีวิตของผู้คนบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ หลายคนมีพฤติกรรมที่ไม่รับรู้ ไม่สนใจถึงความเดือดร้อนดังกล่าว

ตราบที่เปิดก๊อกแล้ว "น้ำประปา" ยังไหล

ภาพการเปิดน้ำไหลทิ้งขว้างอย่างไม่เสียดาย การใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง สังเกตจากพฤติกรรมของหลายคนในการใช้ห้องน้ำสาธารณะ การใช้น้ำของร้านอาหารต่าง ๆ การล้างทำความสะอาดสิ่งของ การล้างพื้นของร้านค้า โรงงาน การล้างรถยนต์ส่วนตัว ฯลฯ โดยไม่มีความคิดจะใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ใช้น้ำอย่างประหยัด

ดังนั้นจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่กรุงเทพมหานครจะเดินนโยบายการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา โดยวิธีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ให้พิจารณาจากข้อมูลการใช้น้ำประปา หากบ้านใด ร้านค้าใดใช้น้ำประปามาก จะถูกนำไปคำนวณเป็นสูตรที่ต้องจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียมากเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างทำกันหมดแล้ว เพราะผู้ใช้น้ำต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ารบำบัดน้ำเสียด้วย

การเก็บค่าธรรมเนียมในการบำบัดน้ำเสียจะส่งผลให้ประชาชนได้ตระหนัก และมีความรับผิดชอบต่อการใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครได้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียที่แบกรับตลอดด้วยเงินจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยจะยังไม่ดี และรัฐบาลภายใต้การบริหารของ "ลุงตู่" วันนี้ จะถูกกดดันจากปัญหาหลายเรื่องรอบด้าน แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยความ "เด็ดเดี่ยว" ในการตัดสินใจของ "รัฐบาลทหาร" เพียงอย่างเดียว ที่จะให้หน่วยราชการอย่างกรุงเทพมหานครต้องดำเนินการ

เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา นักการเมืองหลายพรรคที่เข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศ ไม่เคยมีพรรคการเมืองใด "กล้า" พอจะประกาศเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ด้วยเกรงจะเสียคะแนนเสียง แม้ตอนนี้ฝ่ายการเมืองจะกุมอำนาจบริหารหน่วยราชการอย่างกรุงเทพมหานคร แต่รัฐบาลผู้มีอำนาจใหญ่กว่าสามารถที่จะสั่งนโยบายตรงลงไปได้

ในเมื่อจิตสำนึกในการประหยัดน้ำของคนไทยส่วนใหญ่ "สร้างยาก" มีเพียงส่วนน้อยที่รู้คุณค่า อำนาจของ "กฎหมาย" เท่านั้น ที่จะสร้างวินัยให้คนไทยที่ไร้สำนึก


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ใช้วิกฤต ภัยแล้ง เป็นโอกาส เก็บ ภาษีบำบัดน้ำเสีย

view