สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หายนะ 3 แสนล้าน บนฝั่งทะเลอันดามันภายใต้ ควันถ่านหิน ใครรับผิดชอบ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      โดย...ประสิทธิชัย  หนูนวล  ผู้ประสานงานขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน
        
       คำถามที่สำคัญของอันดามันในขณะนี้คือ รัฐบาลจะแลกไหมระหว่างรายได้การท่องเที่ยวใน 6 จังหวัดอันดามัน มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี กับการได้มาซึ่งไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ด้วยการใช้ “ถ่านหิน” เป็นเชื้อเพลิง 
        
       มาถึงวันนี้รัฐบาลต้องตอบคำถามตัวเองว่า จะบริหารประเทศภายใต้การยึดถือประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือจะตกเป็นทาส “พ่อค้าถ่านหิน”
        
       ขอไล่เรียงประเด็นสำคัญต่อวิกฤตทิศทางการพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นในอันดามัน ดังนี้

       1.มูลค่าการท่องเที่ยว 3 แสนล้านบาทในอันดามันนั้นสำคัญอย่างไร
        
       ประเด็นนี้รัฐบาลต้องคิดให้ดี เพราะมูลค่าจากการท่องเที่ยวนั้นคือ รายได้ที่กระจาย เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกิจการท่องเที่ยวมีนับ 100 อาชีพ พื้นที่การท่องเที่ยวแต่ละแห่งจ้างงานได้นับ 10,000 คน มีสถานประกอบการที่เกี่ยวเนื่องนับ 1,000 สถานประกอบการ
        
       หากการท่องเที่ยวถูกทำลาย นั่นหมายความว่า เป็นการทำลายรากฐานทางเศรษฐกิจของคนจำนวนมาก นั่นถึงกับสั่นคลอนจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของภาคใต้ฝั่งอันดามัน และโดยรวมของประเทศ เพราะต้องไม่ลืมว่า ห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจของอันดามันเชื่อมโยงกับหลายจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างเหนียวแน่น ยังไม่นับรวมหายนะที่จะเกิดต่อภาคการเกษตร
        
       คำถามที่สำคัญคือ ตอนนี้รัฐบาลกำลังคิดอะไรอยู่?? 


        
      2.การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระทบอย่างไรต่อการท่องเที่ยว และการเกษตร
        
       คงเป็นที่ประจักษ์กันทั้งโลกว่า ถ่านหินเป็นหายนภัยของมนุษยชาติ โดยรายงานของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล (IPCC) ซึ่งเลาขาธิการสหประชาชาติ ออกมาแถลงร่วมว่า ขอให้รัฐบาลทุกประเทศทบทวนการใช้พลังงานฟอสซิล เพราะผลทางวิทยาศาสตร์ออกมาชัดเจนว่า ฟอสซิลเป็นสาเหตุหลักของหายะทางด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
        
       ยังไม่นับรวมรายงานวิจัยของนักวิชาการมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยสตุดการ์ด ประเทศเยอรมนี ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มักอ้างเสมอว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินในเยอรมนี เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ในขณะที่ประเทศเยอรมนี ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า เขาจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้พลังงานสะอาด 100%
        
       การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ หนีไม่พ้นที่จะกระทบต่ออันดามันทั้งหมด ไม่เฉพาะทางทะเล แต่หมายถึงพื้นที่ทางการเกษตรด้วย!!
        
       หากเราพิจารณารายงานวิจัยข้อมูลจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์และอาชีว เวชศาสตร์ ประเทศอเมริกา จะพบว่า ด้านความเป็นพิษ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โรงไฟฟ้าถ่านหินระบายมลพิษทางอากาศสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ได้แก่ ผลกระทบที่ทำให้อวัยวะเสียหาย ยังเป็นสาเหตุที่สำคัญต่อการเป็นมะเร็ง ทำให้เกิดการทำงานบกพร่องของประสาท และมีความสามารถในการส่งผลให้เป็นโรคหอบหืด โรคเกี่ยวกับปอด และโรคหัวใจ (USEPA 1998, USEPA 2011a; USEPA 2011b)
        
       โรงไฟฟ้าถ่านหินมีส่วนสำคัญทำให้ปรอทที่อยู่ในถ่านหินไปสะสมอยู่ใน ดิน และน้ำ บางรัฐพบว่า การเผาไหม้ของถ่านหินปริมาณ 70% ของปรอทสามารถอยู่ในน้ำฝน (Kealer et al., 2006) ปรอทสามารถสะสมอยู่ที่พื้นดิน อากาศ สู่ทางน้ำ ซึ่งอาจจะอยู่ในสิ่งมีชีวิตเล็กซึ่งๆ เป็นรูปแบบปรอทที่มีความพิษสูง EPA ระบุว่า การกระจายของฝุ่นเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ รวมถึงโรคหัวใจวาย และเป็นอันตรายต่อชีวิต ทำให้เป็นโรคทางเดินหายใจ และยิ่งไปกว่านั้นยังเกี่ยวข้องต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้ และเกี่ยวข้องต่อระบบการหายใจ มีผลต่อการพัฒนาการในการสืบพันธุ์ และมะเร็ง (USEPA 2009, CASAC 2010)
        
       ที่สำคัญรายงานดังกล่าวระบุว่า มลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อถูกปล่อยมาสู่บรรยากาศ เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง มีบรรยากาศรวมถึงความเร็วลมช่วยจะสามารถแพร่กระจายไปได้ในรัศมี 15-30 ไมล์ และยิ่งไปกว่านั้น หากระยะเวลาผ่านไปนานขึ้น มลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายสามารถแพร่กระจายไปในระยะทางจาก 100 ถึง 1,000 ไมล์ ก่อนที่จะสลายไปในบรรยากาศ


        
       3.เรามีทางเลือกอื่นหรือไม่ในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ไม่ต้องใช้ถ่านหิน 
        
       จากประสบการณ์ต่างประเทศ เราพบว่า ทางออกของโลกขณะนี้ไม่ใช่หันไปสู่พลังงานฟอสซิล แต่ทั้งโลกกำลังหันหัวเรือไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รายงานขององค์กรพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ พบว่า ทั้งโลกผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2556 ได้ 120,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 58 แซงหน้าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน นิวเคลียร์ ซึ่งผลิตได้ 87,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 42
        
       ประเทศมหาอำนาจซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลนั้น ได้เปลี่ยนทิศทางการผลิตกระแสไฟฟ้าไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งหากพลังงานสะอาดไม่สามารถเป็นคำตอบด้านความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่าง ที่ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ชอบกล่าวอ้าง ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นคงไม่มีการตัดสินใจไปสู่การทำพลังงานสะอาด เช่น รัฐมนตรีพลังงานของประเทศอินเดีย จะให้มีการลงทุนในการทำพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้ได้ 100 กิกะวัตต์ ในปี 2565 นับเป็นการพลิกโฉมพลังงานระดับโลกเลยทีเดียว
        
       จากการวิเคราะห์ในการประชุมสุดยอด The Bloomberg New Energy Finance ว่า ภายในปี 2573 จะมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า
        
       ประเทศไทยเรากำลังคิดอะไรอยู่ที่พยายามผลักดันถ่านหิน ในขณะที่ทั้งโลกพยายามปิดตัวลง หากเราเพียงผลิตพลังงานลม และแสงอาทิตย์กันอย่างจริงจัง พลังงานไฟฟ้าก็เกินพอที่จะใช้ในประเทศไทย?!
        
       ตัวอย่างที่สำคัญคือ ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีแดดร้อนน้อยกว่าเรา สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมกันได้ 35,200 เมกะวัตต์ หรือสามารถให้คนไทยในภาคเหนือ และภาคใต้ใช้ได้อย่างเพียงพอ
       คำถามคือ เมื่อมีทางออกอื่นเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้า ทำไม่รัฐจึงไม่ทำ กลับใช้เชื้อเพลิงที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคน หรือเป็นเพราะนายทุนยังไม่สามารถสัมปทานดวงอาทิตย์ได้ใช่หรือไม่ พลังงานแสดงอาทิตย์จึงไม่ได้รับการสนับสนุนในประเทศไทย 
        
       เหตุผล 3 ประการข้างต้น ไม่เพียงแค่การถกเถียงทางวิชาการ แต่มันคือ หายนะอย่างแท้จริง หากเกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน
        
       ถึงเวลาที่คนอันดามันต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถาม เพราะรัฐนั้นเฉยเมยเกินไปต่อหายนะที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเบื้องหลังการจัดทำแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศมีใครอยู่เบื้องหลัง หรือไม่ วิธีคิดของข้าราชการกระทรวงพลังงาน จึงจับถ่านหินยัดเข้าไปในแผนตลอดเวลา 
        
       หวังว่าวิกฤตถ่านหินในอันดามันครั้งนี้ คงจะนำไปสู่การตั้งคำถามที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าที่ไม่ผูกขาด และไม่มีพลังงานฟอสซิลอีกต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : หายนะ 3 แสนล้าน บนฝั่งทะเลอันดามันภายใต้ ควันถ่านหิน ใครรับผิดชอบ

view