สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้ส่งออกเล่นเกมหยุดรับซื้อข้าว รัฐบาลเงินหมดจำนำได้แค่นาปี

จากประชาชาติธุรกิจ

รัฐ เข้าตาจน ระบายข้าวไม่เป็นไปตามแผน ผู้ส่งออกฉวยจังหวะยิงนัดเดียวได้นกสองตัว รวมหัวไม่ซื้อข้าวในตลาด หวังกดราคาประมูลรอบหน้า ทำราคาข้าวไทยในตลาดโลกร่วงใกล้เคียงข้าวเวียดนาม ครม.มีมติรับจำนำแค่ ข้าวนาปี เหตุกู้เต็มเพดานหมดเงินจำนำข้าวเพิ่ม

หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เปิดประมูลขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลต่อเนื่องมา 3 ครั้ง จากปริมาณข้าวที่เปิดประมูลรวมทั้งหมด 751,665 ตัน ปรากฏสามารถขายออก?ไปได้ 240,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นการ?ขายข้าวนึ่งออกไปได้มากถึง 120,000 ตัน ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า กระทรวงพาณิชย์?เทขายข้าวนึ่งออกมาในราคาที่ต่ำมาก ทำให้?ผู้ส่งออกยึดฐานราคาข้าวนึ่งของรัฐบาล หันมากดราคารับซื้อข้าวภายในประเทศ ส่งผลให้แผนการระบายข้าวมูลค่า 72,065 ล้านบาท ของกระทรวงพาณิชย์ "ไม่มีความแน่นอน" จนกระทบกับวงเงิน?รับจำนำข้าวปี 2556/57 ต่อไป

ผู้ส่งออกเล่นเกมหยุดรับซื้อข้าว

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ราคาซื้อขายข้าวสาร 5% ในตลาดลดลงตันละ 2,000 บาท จาก 14,500 บาทเหลือเพียง 12,800 บาท หรือคิดเป็นราคาข้าวเปลือกปรับลดลงในสัดส่วนเท่ากันตันละ 2,000 บาท จาก 11,000 บาทเหลือ 8,000-9,000 บาท โดยราคาข้าวขาว 5% ที่ปรับลดลงในขณะนี้เป็นผลมาจากการที่กระทรวงพาณิชย์อนุมัติขายข้าวเปลือก 5% จากโครงการจำนำข้าวเปลือกปี 2555/2556 รอบ 2 เพื่อนำมาสีแปรเป็นข้าวนึ่งให้กับ?ผู้ส่งออก 4 รายใหญ่ ได้แก่ บริษัทนครหลวงค้าข้าว, บริษัทไชยพรไรซแอนด์ฟู้ด?โปรดักส์, บริษัทเอเซีย โกลเด้น ไรซ์ และบริษัทกมลกิจ ปริมาณรวม 120,000 ตัน ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

"ทิศทางราคาข้าวขาลงในปัจจุบันมาจากความเชื่อที่ว่า กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวเปลือกมาทำข้าวนึ่งในราคาที่ต่ำมาก เฉลี่ยแล้วไม่น่าจะเกิน 8,450 บาท/ตัน จากราคารับจำนำที่ตันละ 15,000 บาท ไม่มีใครเชื่อว่า รัฐบาลจะขายทั้งหมดได้ถึง 11,000 บาทตามที่แถลง เพราะไม่เช่นนั้น?ก็คงไม่กระทบต่อราคาตลาดขนาดนี้ ?กลายเป็นว่าราคาประมูลข้าวเปลือก?เพื่อมาทำข้าวนึ่งถือเป็นการชี้นำตลาด ?ผู้ส่งออกจับราคาลงมาตันละ 2,000 บาท และในตลาดแทบไม่มีคนซื้อข้าวเลย ?เพราะจะรอดูการประมูลข้าวครั้งต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ไม่มีทางเลือกมากนักที่จะต้องเร่งหาทางระบายข้าวในสต๊อกช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพื่อหาเงินจำนวน 72,065 ล้านบาท มาใช้คืนกระทรวงการคลัง ใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 โครงการใหม่ ซึ่งความจริงข้อนี้ผู้ส่งออกต่างก็รับทราบกันดี จนกลายเป็นที่มาของการ "รวมตัว" กันกดราคารับซื้อข้าวภายในประเทศ เพื่อกดดันกระทรวงพาณิชย์ให้ปรับลดเกณฑ์ราคากลางลงมาในการประมูลครั้งต่อไป ส่งผลให้ช่วงราคาเสนอขายข้าวไทยในตลาดโลกใกล้เคียงกับราคาเสนอขายข้าวของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมากขึ้น

"การกดราคารับซื้อข้าวเป็นผลดีกับ?ผู้ส่งออกที่สามารถระบายข้าวออกไปได้ แต่ผลเสียก็คือ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลจะขาดทุนมากขึ้นจากการ?รับจำนำราคาแพง แต่ต้องขายข้าวออกไปในราคาที่ถูกมาก" แหล่งข่าวกล่าว

ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้เผยแพร่การส่งออกข้าวในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏมีปริมาณ 675,063 ตัน เพิ่มขึ้น 12.8% จากเดือนกรกฎาคมปีก่อน โดยมีมูลค่า 13,362 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 6.1% ส่งผลให้ยอดส่งออกข้าวไทยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2556 มีปริมาณรวม 3.61 ล้านตัน หรือลดลง 5.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกข้าวในปริมาณ 3.8 ล้านตัน โดยมีมูลค่า 75,350 ล้านบาท ลดลง 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 79,810 ล้านบาท

ส่วนราคาข้าวภายในประเทศปรับตัวอ่อนลง ประกอบกับภาวะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงตามสภาวะเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวลดลง ขณะนี้ราคาข้าวขาว 5% ตันละ 442 เหรียญ หรือห่างจากประเทศคู่แข่งประมาณตันละ 60 เหรียญ ส่งผลให้ช่วงราคาข้าวที่ห่างกันลดลง ?จากเดิมที่ข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งตันละ 100 เหรียญสหรัฐ โดยราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามที่ระดับ 380-390 เหรียญ/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในตลาด อินเดียตันละ ?410-420 เหรียญ ปากีสถานเสนอขายที่ 400-410 เหรียญ/ตัน

เงินหมดจำนำได้เฉพาะนาปี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวภายหลังการประชุม ครม.สิ้นสุดลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้ดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท โดยการรับจำนำข้าวนาปีที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2556-28 กุมภาพันธ์ 2557 ยังรับจำนำข้าวในอัตราเดิมคือ ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% ในราคาตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิ ในราคาตันละ 20,000 บาท ทั้งนี้กำหนดวงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกไม่เกินรายละ 350,000 บาท

ในการรับจำนำข้าวนาปี 2556/57 ถือเป็นเรื่องของการใช้กรอบวงเงินใหม่ที่ 270,000 ล้านบาท หากมีเงินเหลือที่ประชุมจะกลับมาพิจารณากันใหม่อีกครั้งว่า จะสามารถดำเนินการรับจำนำข้าวนาปรังประจำปี 2557 ต่อไปได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกันเพื่อให้การดำเนินโครงการรับจำนำยังสามารถรักษากรอบวงเงินเดิมที่ไม่เกิน 500,000 ล้านบาทให้ได้

ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ครม.ได้จำกัดวงเงินการรับจำนำข้าวปี 2556/57 เหลือ 270,000 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องใช้ 300,000 ล้านบาท โดยแยกคนละบัญชีกับเงินหมุนเวียนที่ใช้ในปีก่อนหน้าที่ ครม.มีมติกำหนดไว้ให้ใช้เงินหมุนเวียนไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินใหม่นี้จะใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหากไม่เพียงพอก็จะให้กระทรวงการคลังกู้เพิ่มให้ "ในวงเงินหมุนเวียน 500,000 ล้านบาทเดิม เมื่อมีการระบายข้าวหรือรัฐบาลชดเชยให้ ธ.ก.ส.แล้ว ก็สามารถนำมาใช้หมุนเวียนสำหรับวงเงิน 270,000 ล้านบาทนี้ได้เช่นกัน"

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 3 กันยายน ยังไม่มีการค้ำประกันเงินกู้เพิ่มให้แก่ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด โดยกำหนดไว้เป็นวงเงินปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) ให้ไว้ประมาณ 140,000 ล้านบาท เพื่อให้อยู่ภายใต้กรอบมติ ครม.เดิม คือ ใช้เงินกู้ไม่เกิน 410,000 ล้านบาท และหาก ธ.ก.ส.จะให้ค้ำประกันเพิ่ม ต้องรอให้กระทรวงพาณิชย์ระบายสินค้าเกษตรและคืนหนี้แก่ ธ.ก.ส.ก่อน จึงจะค้ำเพิ่มได้ตามจำนวนที่ได้รับเงินคืนดังกล่าว

"ตอนนี้ในแผนก่อหนี้ยังไม่มีให้กู้เพิ่ม โดยวงเงินเดิมที่ต้องกู้ 410,000 ล้านบาท ทางคลังจะกู้ให้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเหลือวงเงินอีกประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีวงเงินกู้ให้สำหรับการรับจำนำข้าวรอบใหม่ โดยหากจะกู้เพิ่มก็ต้องเสนอปรับแผนก่อหนี้อีกรอบ" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทางคลังพยายามควบคุมวงเงินหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวไม่ให้เกิน 500,000 ล้านบาท ตามกรอบที่ ครม.เคยให้ไว้ โดยในปีงบประมาณ 2557 นั้น หากกู้เพิ่มอีกกว่า 100,000 ล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ขึ้นไปถึง 50% ได้ "ถ้าจะให้กู้เพิ่มก็ได้อีกประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท แต่หนี้สาธารณะก็จะถึง 50% ซึ่งการดูแลสินค้าเกษตรไม่ได้มีแค่ข้าวอย่างเดียว แถมยังต้องกู้เรื่องอื่นอีก" แหล่งข่าวกล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view