สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จักรยาน ให้มากกว่า ทั้งสุขภาพ มิตรภาพ สมาธิ และความสำเร็จ สุขภาพดี เป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย วรรณโชค ไชยสะอาด



วันนี้กิจกรรมการปั่นจักรยาน จึงเป็นที่พึ่งหนึ่งซึ่งคนเมืองให้ความสนใจ เพราะนอกจากเป็นตัวช่วยสำคัญในการซอกแซกไปท่ามกลางความแออัดบนท้องถนนในชั่วโมงเร่งด่วน ยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น เป็นกิจกรรมที่ทำง่าย ราคาไม่แพง รวมถึงสะท้อนตัวตนเจ้าของผ่านการตกแต่ง 2 ล้อคันงามอีกด้วย

และดูเหมือนไม่ใช่กระแสนิยมที่ผ่านมาและผ่านไป เพราะล่าสุดมีการเปิดตัวนิตยสารสำหรับคนรักจักรยาน ไซคลิ่ง พลัส ไทยแลนด์ (Cycling Plus Thailand) ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) บรรยากาศยามเย็นท่ามกลางพื้นที่สีเขียวครึกครื้นยิ่งนัก กวาดตามองไปทางไหนก็พบแต่คนรักจักรยานเต็มไปหมด บ้างมาเป็นกลุ่ม บ้างมาเป็นชมรม บ้างก็มาเป็นคู่

อะไรกันนะ ที่จักรยานมอบให้พวกเขา

อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง บรรณาธิการนิตยสารไซคลิ่ง พลัส ไทยแลนด์ อธิบายภาพรวมของสถานการณ์การปั่นจักรยานในไทย ว่าแม้สภาพถนนของไทยไม่ดีนัก ไม่มีช่องทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะเหมือนบางประเทศ ทั้งยังมีท่อ/ฝาท่อระบายน้ำที่เป็นอุปสรรค และอากาศที่ร้อนอบอ้าว แต่จำนวนคนปั่นจักรยานกลับเพิ่มขึ้น หลายคนขี่จักรยานพับได้ไปขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อเข้าออฟฟิศ อาจเพราะทุกคนประจักษ์แล้วว่าการขี่จักรยานดีต่อสุขภาพ ดีต่อเศรษฐกิจ ราคาไม่แพงเกินไป ไม่ต้องเติมน้ำมัน ประหยัดเงินในกระเป๋าได้มาก ทั้งยังไปไหนมาไหนรวดเร็วและปลอดภัยอีกต่างหาก

"เรามาช่วยกันปั่นจักรยานเพื่อให้บ้านเมืองเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นไม่จำเป็นต้องปั่นไกล 50 กิโลเมตร 100 กิโลเมตร หรือปั่นทุกวันหรอก แต่เราอาจหาจักรยานสักคันไว้ใกล้ตัว และพยายามใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าเรากำลังช่วยกันทำให้เมืองน่าอยู่ ช่วยกันใช้การเดินทางสีเขียวที่ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม" อิทธิฤทธิ์กล่าว และว่า อย่ามัวลังเล ไม่ต้องซื้อจักรยานที่แพงมาก แค่เหมาะกับตัวเองและวัตถุประสงค์ของตัวเองก็พอ

นอกจากข้อดีด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม "มิตรภาพ" บนอานจักรยานยังเป็นสิ่งที่หลายคนหลงเสน่ห์

ใแวดวงนักปั่น "ฟิกซ์เกียร์" (Fixed Gear) ไม่มีใครไม่รู้จัก "กวาง" หรือ ยงยุทธ จันทรังสี ผู้ถูกยกย่องเป็นเจ้าพ่อฟิกซ์เกียร์ ที่ควบจักรยานมาได้ 3 ปีกว่าแล้ว ว่าเลือกฟิกเกียร์เพราะดูแลรักษาง่าย และเหมาะกับบุคลิกของตัวเอง ทั้งรวดเร็ว ปราดเปรียว และคล่องตัว

เท่าที่สังเกตรูปร่างและบุคลิกของกวาง-ยงยุทธ... จริงอย่างที่เขาพูด!



"แรกๆ เราหวังเรื่องสุขภาพ แต่ 3 ปีที่ผ่านมา เห็นว่ามิตรภาพเป็นอีกสิ่งที่ได้รับ เราได้เจอพี่ๆ น้องๆ ที่น่ารัก ได้เจอคนหลายระดับตั้งแต่นักเรียนไปจนถึงผู้บริหารใหญ่ ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รู้จักจากการปั่นจักรยาน บอกได้เลยว่าหลายเรื่องราวที่พูดคุยกัน เลยไปถึงเรื่องทางธุรกิจก็มี" กวางเล่าอย่างอารมณ์ดี

และทุกวันอังคาร กวางและเพื่อนนักปั่นฟิกซ์เกียร์อีกนับร้อยจะรวมตัวกันที่สุวรรณภูมิ

"ทุกๆ วันอังคารประมาณ 5 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม จะไปรวมตัวกันที่สุวรรณภูมิซึ่งมีหลายกลุ่มย่อยรวมตัวกันนับร้อย เรียกว่าเป็นการมีตติ้งพูดคุยกันถึงเรื่องจักรยาน คุยกันตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แนะนำสถานที่ปั่น และแบ่งปันประสบการณ์กัน บอกตรงๆ ว่ามีความสุขมากทุกครั้งที่ได้ไป" เจ้าพ่อฟิกซ์เกียร์กล่าว

และว่า "สัมผัสได้ถึงความสุขของเพื่อนๆ ทุกครั้งที่ขี่จักรยาน แต่ละเรื่องราวที่ได้ฟังสร้างรอยยิ้ม บางคนเครียดมาก พอได้เจอเพื่อน ได้ทักทายกันก็มีความสุขแล้ว ลงทุน 1 หมื่นบาท เพื่อซื้อจักรยานถือว่าคุ้มมาก เมื่อเทียบกับมิตรภาพที่ได้รับ เมื่อก่อนเป็นคนกิน-เที่ยว แต่ตอนนี้เอาเงินส่วนนั้นมาลงที่จักรยาน ไม่ลองคงไม่เชื่อว่าคุ้มเกินคุ้ม" ยงยุทธให้เหตุผลจนหลายคนอยากได้จักรยานบ้าง

ความสำเร็จของบางคน เกิดขึ้นเพราะคนหลายคน แต่ความสำเร็จของบางคน เกิดขึ้นจาก "แรงบันดาลใจ"


(จากซ้าย) ยงยุทธ จันทรังสี, ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์, อินทรชัย พาณิชกุล

จ่าอากาศโท ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์ หรือ "บาส" นักปั่นน่องเหล็กทีมชาติไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น... มีวันนี้ เพราะจักรยานให้

"แรงบันดาลใจของผมเกิดขึ้นเมื่ออายุ 12 ปี หลังจากดูการแข่งขันจักรยานตูร์ เดอ ฟรองซ์ ในทีวี ทำให้อยากเป็นนักปั่นทีมชาติ" จ่าอากาศโท ภุชงค์เล่า และบอกว่า หลังจากนั้นก็ซ้อมอย่างหนัก ตระเวนแข่งขันในรายการต่างๆ มากมายจนสามารถคว้าแชมป์เยาวชนและประเภททั่วไปในรายการชิงแชมป์ประเทศไทย ก่อนคว้าธงชาติติดหน้าอกตั้งแต่อายุ 19 ปี หลังจากนั้นก็ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นนักปั่นอาชีพในทีมของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป้าหมายต่อไป คือ "เข้าร่วมรายการตูร์ เดอ ฟรองซ์" ให้ได้

"สิ่งที่จักรยานมอบให้ผม คือ อาชีพ ชื่อเสียงเงินทอง เหรียญแชมป์ต่างๆ และได้บรรจุเป็นข้าราชการทหารอากาศ หากไม่มีจักรยานผมอาจเป็นแค่เด็กขี้ยาก็ได้" จ่าอากาศโท ภุชงค์กล่าว และฝากถึงคนที่ต้องการเป็นนักปั่นจักรยานทีมชาติ ว่าต้องฝึกซ้อม พยายามเข้าแข่งขันหลายรายการเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แพ้ก็อย่าท้อ กลับมาซ้อมใหม่ให้ดีกว่าเก่า ล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความสำเร็จ

หลายคนชอบปั่นเป็นกลุ่ม ส่วนอีกหลายคนชอบฉายเดี่ยว เช่น อินทรชัย พาณิชกุล นักปั่นวัย 29 ปี ตอบเต็มปากเต็มคำว่าปั่นคนเดียวสนุกกว่า

"ตอนแรกออกกำลังกายด้วยการวิ่ง จนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว วันหนึ่งวิ่งที่สวนสาธารณะจนเหงื่อโชก เห็นคนปั่นจักรยานผ่านมาด้วยหน้าตาและท่าทางสบายใจ ในใจคิดว่าดูมีความสุขนะ อยากได้กำลังก็เร่งความเร็ว ถ้าเหนื่อยก็พักขาให้รถวิ่งไปเอง นั่งบนอานลมพัดเย็นๆ น่าจะสนุกและเหนื่อยน้อยกว่าการวิ่ง"

อินทรชัยบอกเหตุผลก่อนควักเงินซื้อจักรยานคันงามในราคาเรือนหมื่น ส่วนโลเกชั่นที่ใช่ คือ ถนนที่การจราจรไม่พลุกพล่าน หรือที่โล่งไม่มีตึกบดบังท้องฟ้ากว้าง มีต้นไม้ร่มครึ้ม และแหล่งน้ำ ซึ่งให้ความรู้สึกสดชื่น ห่างไกลมลพิษ

นักปั่นวัย 29 ปี บอกว่า ชอบปั่นคนเดียวไม่มีกลุ่มแก๊ง เพราะรู้สึกสงบ คล่องตัว ไม่วุ่นวาย

"ความสุขของการได้ปั่นคนเดียว คือ มีสมาธิ เวลาอยู่บนหลังอาน สายตาจะจดจ่อกับเส้นทางข้างหน้า เร่งฝีเท้า ปั่น ปั่น ปั่นลูกเดียว แม้จะเหนื่อยแต่รู้สึกว่ากำลังต่อสู้กับตัวเอง บอกตัวเองว่าอย่าเพิ่งหยุดเพิ่งมาแค่นี้เอง ปั่นต่อไปแล้วใจนิ่ง สงบ คิดอะไรด้วยความแน่วแน่ มั่นคง ไม่วอกแวก ความรู้สึกต่างกับการปั่นเป็นกลุ่ม เดี๋ยวคุยกัน หยอกล้อกัน รอคนโน้นคนนี้บ้าง ไปๆ มาๆ กลายเป็นรวมกลุ่มกันพูดคุยมากกว่าเพื่อปั่นจักรยาน

"ปั่นคนเดียวสบายใจกว่า เวลาเหนื่อยก็แค่ลดฝีเท้าลง สายตามองสองข้างทาง มองผู้คน ใบไม้ใบหญ้า มองฟ้ามองน้ำ ลมเย็นๆ พัดมาจนรู้สึกร่างกายเบาโหวง สมองโล่งโปร่งสบาย จิตใจสงบ และเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น" อินทรชัยเล่าจนเห็นภาพ

และว่า ถ้าคนเรามีความสุข อารมณ์ดี เกิดความคิดที่ดีและบริสุทธิ์ เป็นหนทางที่เหมาะกับตัวเองในการใคร่ครวญชีวิตและคิดสร้างงานใหม่ๆ ออกมา

"ไม่ได้พูดให้ดูเท่ แต่คนปั่นจักรยานเข้าใจความรู้สึกนี้ดี" อินทรชัยทิ้งท้าย

เห็นทีต้องถอยสักคันเสียแล้ว



ที่มา นสพ.มติชน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view