สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดอีกสูตร-ปลูกข้าว เลิก เจ๊ง ไม่ง้อ จำนำ

จากประชาชาติธุรกิจ

เสียง โอดครวญดังจากท้องทุ่งทันทีหลังรัฐบาลประกาศลดราคาจำนำข้าวเปลือก จากตันละ 15,000 บาท เหลือ 12,000 บาท เพราะต้นทุนการปลูกข้าวขณะนี้ขยับขึ้นไปไร่ละ 8,000-9,000 บาทแล้ว

แม้ราคารับจำนำจะอยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ดูเหมือนชาวนาจะยังมีกำไร แต่จริงๆ แล้วข้าวที่ชาวนานำไปจำนำจะถูกหักค่าความชื้น สิ่งเจือปน ได้เงินมาจริงๆ ก็แค่ 8,000-9,000 บาท เท่าทุน แต่บางรายอาจขาดทุนด้วยซ้ำหากผลผลิตต่อไร่ต่ำ

ดังนั้น ชาวนาจึงมีแต่ "เจ๊า" กับ "เจ๊ง"

อย่าง ไรก็ตามมีเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มเกษตรอินทรีย์" ประกาศว่า การปลูกข้าวแต่ละรอบ หากทำทุกอย่างด้วยตัวเอง หลีกเลี่ยงใช้สารเคมี หันไปพึ่งพาสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ คือใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติให้มากที่สุด จะลดเงินลงทุนจากการปลูกข้าวได้มากโข ว่ากันว่าปลูกข้าว 1 ไร่ ใช้เงินลงทุนไม่เกิน 3,000 บาทเท่านั้น

ดูเหมือนว่า "ข้าวอินทรีย์" จะถูกใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ มาก หลังไปดูงานที่กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ ต.บากเรือ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ที่ปลูกและจำหน่ายข้าวหอมอินทรีย์ ถึงกับออกปากสนับสนุนเต็มที่

เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เล่าให้ฟังว่า ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จัดอบรมให้ความรู้แก่ชาวนาที่สนใจจะทำนาอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี มีคนมาอบรมจำนวนมาก และนำความรู้ที่ได้จากการอบรม 3 วัน 3 คืน ไปลงพื้นที่ปฏิบัติจริง

หลักการของนาแบบอินทรีย์ คือการลดต้นทุนการทำนาให้เหลือน้อยที่สุด แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของข้าว และคุณภาพของผืนดินที่ใช้ทำนา รวมถึงการดูแลสภาพแวดล้อม และตัวชาวนาเอง

ก่อน หน้านี้ มูลนิธิข้าวขวัญเคยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อจัดอบรมตลอดทั้งปี แต่เมื่องบประมาณหมด ยังมีชาวนาหลายคนที่แสดงความจำนงที่จะเข้าอบรมต่อ จึงจัดให้ แต่ผู้เข้าอบรมต้องเสียค่าใช้จ่ายเองคนละ 3,700 บาท

"ถึง จะมีคนมาอบรมกับเรามากก็จริง แต่เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของชาวนาทั่วประเทศ ก็ยังไม่ถึง 1% ถามว่าคนที่ผ่านการอบรมไปประสบความสำเร็จในการปลูกข้าวแล้วร่ำรวยไหม ตอบว่าร่ำรวยทุกคนไม่ได้ เพราะบางคนอบรมเอาความรู้ไปแล้ว แต่ไม่เอาสิ่งที่รู้ไปปฏิบัติ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนคนที่เขาเอาไปทำอย่างจริงจัง ปฏิบัติอย่างจริงจัง เขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิตการเป็นชาวนาได้" เดชาบอก

เดชายังบอกอีก ว่า จากประสบการณ์ที่ทำวิจัยและปฏิบัติจริงมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ขอยืนยันว่า การทำนาแบบอินทรีย์สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ แม้ราคาข้าวตกลงเหลือเกวียนละ 5,000 บาท ก็ยังมีกำไร เพราะนาอินทรีย์ ชาวนาลงทุนไร่ละไม่ถึง 3,000 บาทเท่านั้น สามารถได้ผลผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ 800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นอย่างต่ำ

"ชาวนาทั่วไปเขาทำแบบเราไม่ได้ เพราะเขาพึ่งพาคนอื่นเป็นหลัก ทำแบบง่ายเข้าว่า ง่ายในความหมายของผมคือทุกอย่างที่อยู่ในนาข้าว พวกเขาซื้อหมด เมื่อซื้อทั้งหมดก็กลายเป็นต้นทุน เมื่อต้นทุนสูง ต่อให้ราคาข้าวเกวียนละหมื่นห้า บางคนยังไม่ได้กำไรเลย เพราะหักค่าปุ๋ย ค่ายาแล้ว แทบจะไม่เหลืออะไรเลย ทั่วประเทศจึงมีแต่ชาวนาที่เป็นหนี้และยากจน ปล่อยให้บริษัทขายปุ๋ยและยาฆ่าแมลงรวยฝ่ายเดียว" เดชาแจง

เดชาบอก ขั้นตอนคร่าวๆ ของการทำนาอินทรีย์ว่า การทำนาข้าวอินทรีย์นั้นเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน ชาวนาทั่วไปเมื่อปลูกข้าวเสร็จจะเผาตอซังในนา ทั้งๆ ที่ตอซังข้าวคือธาตุอาหารชั้นดี มีธาตุอาหารครบถ้วนทั้ง 16 ธาตุ ที่ข้าวต้องการ แต่การเผาตอซังข้าวคือการเผาธาตุอาหารในดินทิ้ง เมื่อเผาแล้วต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่ นา 1 ไร่ ต้องใช้ปุ๋ยถึง 60 กิโลกรัม และปุ๋ยที่ชาวนาทั่วไปใช้มักจะมีแค่ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสเท่านั้น ข้าวที่จะสวยงาม ได้จะต้องบำรุงถึง 16 ธาตุด้วยกัน ซึ่งทั้ง 16 ธาตุมีอยู่ในฟางข้าวอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ที่ชาวนาทั่วไปมักจะซื้อจากพ่อค้าเป็นหลัก แต่นาของผมจะไม่ซื้อเด็ดขาด ถามว่า ไม่ซื้อแล้วเอามาจากไหน ก็คัดเลือกพันธุ์ข้าวของเอง การไปซื้อพันธุ์ข้าว ต้องลงทุนถึงกิโลกรัมละ ไม่ต่ำกว่า 23 บาท แต่ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเอาไว้ใช้ปลูกเองในฤดูถัดไป ก็ไม่ต้องไปซื้อ ต้นทุนก็ลดลงอีก

"สำหรับเรื่องแมลง ถ้าเราศึกษาจะเห็นว่านาข้าวจะมีแมลงอยู่หลายชนิด การกำจัดแมลงต้องกำจัดเฉพาะแมลงที่เป็นศัตรูข้าวเท่านั้น แต่การใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นทั้งแปลงนา จะทำให้แมลงทุกชนิดตายเกือบหมด ตัวที่ไม่ตายก็จะดื้อยา ในอนาคตต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้น ต้นทุนก็สูงขึ้นทำให้ ดินเสื่อมลง รวมไปถึงสุขภาพชาวนาก็จะเสื่อมลงไปด้วย แต่นาของผมจะใช้วิธีให้แมลงคุมแมลงกันเอง เช่น ในนาทุกแห่งจะมีแมงมุม ซึ่งแมงมุมนี้จะเป็นตัวคุมแมลงที่ไม่ดีกับต้นข้าว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มันจะกินเพลี้ย แต่ไม่กินต้นข้าว แต่ถ้าช่วงเวลาไหนที่เพลี้ยมากเกินกว่าที่แมงมุมจะกินหมด เราก็ใช้สมุนไพรคือ สะเดาหรือบอระเพ็ดฉีดพ่น สะเดาและบอระเพ็ดจะไม่ทำลายต้นข้าวและแมงมุม แต่จะทำลายเฉพาะเพลี้ย อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นแมลงทำลายข้าวชนิดอื่นๆ ก็มีสมุนไพรสำหรับควบคุมแมลงเหล่านั้นทุกชนิด อยู่ที่การศึกษาหาความรู้ของชาวนาเอง แต่ชาวนาไม่ค่อยหาความรู้เรื่องแบบนี้ จะใช้วิธีง่ายเข้าว่า คือ พ่นยาทีเดียว แมลงทุกอย่างทั้งดีทั้งร้ายตายหมด" นายเดชาเล่าประสบการณ์

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญยังบอกอีกว่า มีชาวนาตัวอย่างที่นำวิธีการแบบนี้ไปปฏิบัติ ไปทดลองศึกษา และประสบความสำเร็จในการทำนา เป็นชาวนาที่ร่ำรวยทั้งความรู้และเงินทอง สามารถขยายที่นาจากเดิมแค่ 5 ไร่ จนวันนี้มีมากถึง 115 ไร่คือ นายชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาที่ ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ใช้เงินลงทุนทำนาเพียง 2,000 กว่าบาท จากวิธีที่ผมบอก เมื่อครั้งที่น้ำท่วมพื้นที่นาเมื่อปี 2554 นั้น นาของนายชัยพรต้องรีบเก็บข้าว เพราะต้องหนีน้ำ จึงได้ข้าวที่ยังเขียวๆ อยู่ และไม่แห้งนัก สมัยนั้นข้าวตันละ 8,000 บาท แต่ตอนนั้นนายชัยพรขายได้แค่ 4,000 บาทเท่านั้น เหมือนกับข้าวของคนอื่นๆ แต่นายชัยพรยังมีกำไรถึงไร่ละ 1,000 กว่าบาท

"ดังนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงเวลานี้ ที่ราคาจำนำข้าวลดลงเหลือตันละ 12,000 บาท เพราะตราบใดที่ต้นทุนการปลูกข้าวน้อย ผมยืนยันว่า เรายังได้กำไร เพราะทุกวันนี้คุณชัยพรทำนาอย่างเดียว และยังคงทำด้วยวิธีแบบนี้ มีกำไรไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านบาท เชื่อว่าถ้าชาวนาทุกคนทำแบบนี้ เอาใจใส่นาของตัวเอง ทำเอง อย่าให้คนอื่นมาทำยังไงเราก็ยังได้กำไร ผมเอาตัวเองมายืนยันได้" ประธานมูลนิธิข้าวขวัญสรุป


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view