สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมืองหลวงเปรูเสี่ยงหายจากแผนที่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักวิจัยแผ่นดินไหวในเปรูเตือนประชาชนในเมืองหลวงเผชิญความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่อาจจะทำให้กรุงลิมาหายไปจากแผนที่โลก

นายโฮเซ่ ซาโต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและป้องกันพิบัติภัย (พรีเดส) องค์กรไม่หวังผลกำไร ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรอ็อกซ์แฟม ที่ทำการศึกษาเหตุพิบัติภัยในประเทศเปรู ออกคำเตือนประชาชนในกรุงลิมา เมืองหลวงเปรูถึงความเสี่ยงต่อการสุญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอนาคต

เนื่องจากในช่วง 266 ปีที่ผ่านมาหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในค่ำคืนวันที่ 28 ตุลาคม 2289 พื้นที่กรุงลิมาก็ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในลักษณะเดียวกันมาก่อน แม้ว่ากรุงลิมาจะตั้งอยู่ในพื้นที่แผ่นเปลือกโลกที่เสี่ยงต่อการเคลื่อนตัวเข้ากระแทกกันมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์ เรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า "แผ่นดินไหวเงียบ" คล้ายกับการสะสมพลังทางธรรมชาติ ซึ่งหากเกิดการปลดปล่อยพลังออกมาก็จะทำให้กรุงลิมาเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ตามมาด้วยการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อ 11 มีนาคม 2554 และกรุงซานติอาโก ประเทศชิลีในช่วงต้นปีนี้

ขณะที่ สภาพการเตรียมความพร้อมต่อการเกิดพิบัติภัยธรรมชาติในกรุงลิมาซึ่งมีประชากรราว 9 ล้านคนอยู่ในระดับต่ำ พิจารณาจากการสร้างบ้านเรือนในลักษณะชุมชนแออัดของประชาชน ซึ่งไม่มีความแข็งแรง และ ไม่เหมาะสมกับพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง

ด้านสถาบันป้องกันภัยพลเรือนแห่งชาติของเปรู ประเมินว่าหากมีเหตุแผ่นดินไหวระดับ 8.0 ริกเตอร์ถล่มกรุงลิมา ก็อาจจะทำให้มียอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50,000 คน บาดเจ็บกว่า 6.86 แสนคน และ บ้านเรือนกว่า 2 แสนหลังคาเรือนถูกทำลาย

นอกจากนั้น เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในกรุงลิมาอาจจะทำลายระบบการเศรษฐกิจและการปกครองของประเทศเปรู เนื่องจากกรุงลิมามีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศอาศัยอยู่ และ มีอุตสาหกรรมถึง 70% ของประเทศ รวมทั้งเครือข่่ายด้านการเงิน 85%ของประเทศตั้งอยู่ในขอบเขตเมืองหลวงแห่งนี้ นอกจากนั้นสำนักงานหน่วยงานรัฐบาลกลางและสำนักงานด้านการค้าระหว่างประเทศก็อยู่ในกรุงลิมาทั้งหมด

นายเกเบรียล ปราโด ผู้บริหารด้านการรับมือเหตุแผ่นดินไหวระดับสูงสุดของรัฐบาลเปรู กล่าวว่าเหตุแผ่นดินไหวในระดับ 8.8 ริกเตอร์ ในระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นในกรุงซานติอาโก ก็สามารถทำลายเศรษฐกิจของเปรู

แม้เปรู จะเกิดแผ่นดินไหวเฉลี่ย 170 ครั้งต่อปี แต่สถาบันธรณีฟิสิกส์ระบุว่าโอกาสในการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงลิมาในแต่ละวันมีความเป็นไปได้มากขึ้น จากการเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกโดยรอบแผ่นเปลือกโลกที่รองรับกรุงลิมาอยู่


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view