สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปาร์คนายเลิศ : จาก โรงแรม เป็น โรงพยาบาล (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

กรณีขายโรงแรมปาร์คนายเลิศ ดูเป็นเรื่องน่าสนใจ ชวนให้ตีความยิ่งนัก กรณีโรงแรมปาร์คนายเลิศ ให้ภาพและจินตนาการเชื่อมโยงตำนานธุรกิจกว่า 100 ปีในยุคกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2



เรื่องราวนั้นเริ่มต้นมาจากผู้ก่อตั้ง -- เลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ (2415-2488) ผู้มีบทบาททางธุรกิจในยุคเปลี่ยนผ่านนั้น


ความจริงแล้วเรื่องราวเกี่ยวกับนายเลิศ มีร่องรอยและหลักฐานพอสมควร นับเป็นเรื่องน่าทึ่งทีเดียว เขาเป็นเพียงนักธุรกิจไม่กี่คนในประวัติศาสตร์กว่าศตวรรษ ยังมีผู้คนกล่าวถึงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ได้ทิ้งร่องรอยให้ระลึกถึงในเชิงสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับมิติทางสังคม อย่างโรงเรียนและโรงพยาบาล รวมทั้งเรื่องราวประวัติบ้านนายเลิศเอง มักถูกกล่าวถึงในฐานะบ้านในตำนานเทียบเคียงกับยุคสมัยกรุงเทพฯ (Nai Lert Park Heritage Home เพิ่งเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้เมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยเรื่องเล่ามากมาย -- http://www.nailertparkheritagehome.com/ และ www.facebook.com/4nailertparkheritagehome/posts) แม้กระทั่งสิ่งไม่หลงเหลือ แต่ผู้คนยังระลึกถึงในฐานะผู้บุกเบิกรถประจำทางในกรุงเทพฯ

คงต้องนับเป็นความสำเร็จอันต่อเนื่องและยั่งยืนไม่ว่าในมุมมองทางธุรกิจหรือในมิติอื่น

ยิ่งเรื่องราวโรงแรมปาร์คนายเลิศกำลังจะปรับบทบาท(ศัพท์ที่น่าสนใจเรียกว่าRegeneration) เป็นโรงพยาบาลในมิติใหม่ เรียกว่าศูนย์สุขภาพครบวงจร ภายใต้ชื่อว่า BDMS Wellness Clinic ว่ากันว่า เป็นแห่งแรกในเอเชีย (อ้างจากคำชี้แจงของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ 28 กันยายน 2559) ก็ยิ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก


เรื่องราวนายเลิศกับธุรกิจของเขา อาจเทียบเคียงกับบริษัทศตวรรษซึ่งมีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์ในยุคเดียวกัน อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (ก่อตั้งปี 2449) และ เอสซีจี หรือปูนซิเมนต์ไทย (ก่อตั้งปี 2456) ได้ ทั้งนี้ มีบางหลักฐานเชื่อมโยงถึงกัน ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย (ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์) ปรากฏหลักฐาน ตู้เซฟเก่าแก่ของธนาคารแห่งแรกของไทย ว่าซื้อมาจากห้างนายเลิศ สะท้อนถึงกิจการธุรกิจนำเข้าสินค้าสำคัญจากตะวันตก เช่นเดียวกับกรณียุคก่อตั้งโรงงานซีเมนต์แห่งแรกในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานเอกสารบางชิ้น แสดงความสัมพันธ์ทางธุรกิจเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าซีเมนต์โดยกิจการเดินเรือในแม่น้ำของนายเลิศ

ถือเป็นช่วงสำคัญช่วงเดียวกันกับการกำเนิด"ปาร์คนายเลิศ"กับบ้านนายเลิศในพื้นที่ประวัติศาสตร์ซึ่งกำลังกล่าวถึง


มีข้อมูลจากบางแหล่ง(หนังสือ Heritage Homes of Thailand โดย Ping Amranand และ William Warren จัดพิมพ์โดย Siam Society Under Royal Patronage 1996) กล่าวถึงบ้านนายเลิศ (Nai Lert House) แตกต่างออกไปบ้าง ระบุว่า ในปี 2458 นายเลิศซื้อที่ดินจำนวน 65 ไร่จากราชนิกุลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ด้วยเชื่อมั่นว่ากรุงเทพฯจะขยายตัวจากศูนย์กลางเมืองหลวงเวลานั้นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ออกไปทางทิศตะวันออก อ้างอิงคลองแสนแสบ เชื่อกันว่าเป็นมุมมองนักธุรกิจซึ่งมีกิจการเดินเรือ "เรือขาว" ในคลองแสนแสบ (จากหนองจอก มีนบุรี ถึงประตูน้ำ) ซึ่งควรถือเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย

หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า นายเลิศได้ปลูกต้นไม้โดยเฉพาะต้นจามจุรี (Rain Tree) ไว้ จนกลายเป็นสวนร่มรื่น "ปาร์คนายเลิศ" เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนไทยในสมัยนั้น ท่านสร้างสนามและปลูกต้นไม้ไว้มากมายเพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาเที่ยวเล่น ลูกเสือก็ได้ใช้เป็นที่พักแรม ใช้สนามเป็นที่ฝึก ใช้ระเบียงบ้านเป็นที่นอน และยังได้กระโดดน้ำในสระอย่างสนุกสนานอีกด้วย แม้จะดูสับสนวุ่นวายบางท่านก็พอใจ เพราะท่านเองก็ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี้ด้วย" นี่คือส่วนหนึ่งประวัตินายเลิศเพิ่มเติมเสริมขึ้น ปรากฏใน Website โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ (โรงเรียนซึ่งนายเลิศมีบทบาทในการก่อตั้งขึ้นริมคลองแสนแสบเมื่อปี 2454 -- http://www.sbp.ac.th/) คงเป็นที่มาของ "ปาร์คนายเลิศ"

ต่อมาในปี 2465 นายเลิศได้ขายที่แปลงดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่งจำนวนถึง 28 ไร่ให้สถานทูตอังกฤษ ซึ่งมีแผนจะย้ายออกจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาอันพลุกพล่าน (อ้างจากหนังสือ Heritage Homes of Thailand บทที่กล่าวถึง British Embassy Residence) จากนั้นได้สร้างสถานทูตและบ้านพักเอกอัครราชทูตขึ้นแล้วเสร็จในปี 2570 นับเป็นความสำเร็จในแผนการขยายเมืองไปยังฝั่งตะวันออก ทั้งนี้ ให้ข้อมูลคร่าว ๆ ด้วยว่า นายเลิศได้สร้างบ้านตนเองขึ้นใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุด โดยย้ายมาอยู่อย่างเป็นจริงจังหลังจากสถานทูตอังกฤษ 1 ปีให้หลัง

ควรย้อนกล่าวถึงการเริ่มต้น "รถเมล์ขาว" อย่างจริงจัง ถืออยู่ในช่วงเดียวกันกับ "ปาร์คนายเลิศ"

เรื่องเล่าสำคัญ (มาเล่ากันอีกครั้ง) อย่างมีสีสัน หลายแหล่ง หลายเวอร์ชั่น คือกำเนิดกิจการรถประจำทางในกรุงเทพฯ ข้อมูลของ ขสมก. (http://www.bmta.co.th/) ดูจะเป็นทางการ สะท้อนประวัติศาสตร์พัฒนาการกรุงเทพฯ กิจการ "รถเมล์ขาว" ถือเป็นธุรกิจสำคัญของนายเลิศ เริ่มต้นขึ้นพร้อม ๆ กับโรงงานซีเมนต์แห่งแรกก็ว่าได้ (ปี 2456) และได้จบลงในอีกกว่า 60 ปีต่อมา เชื่อว่าเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำมัน ในที่สุด ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่กี่วัน

จุดจบ "รถเมล์ขาว" นั้นถือว่าได้ผ่านยุคบุกเบิก -- ยุคนายเลิศ มาสู่รุ่นที่ 2 แล้ว-ยุคท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ (2462-2553) บุตรีคนเดียว (แต่งงานกับพินิจ สมบัติสิริ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ผู้ผ่านการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากฝรั่งเศส-สวิตเซอร์แลนด์)

เชื่อว่ากิจการ "รถเมล์ขาว" คงมีอิทธิพลอย่างต่อเนื่องในรุ่นที่ 2 จนมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากกิจการเอกชนสู่กิจการร่วมทุนกับรัฐช่วงสั้น ๆ ก่อนจะมาเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น คงถือว่าเป็นกระบวนการที่ควรเป็นไป เวลานั้นท่านผู้หญิงเลอศักดิ์อยู่ในตำแหน่งทางสังคมและการเมืองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงต้น ๆ เปลี่ยนเป็น ขสมก.รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคมนั้น จะโดยความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร) ในช่วงสั้น ๆ (22 ตุลาคม 2519-20 ตุลาคม 2520) ช่วงนั้นพอดี

ว่าไปแล้วธุรกิจนายเลิศมีความต่อเนื่องอย่างน่าทึ่งและโดดเด่น หลังจากหมดยุค "รถเมล์นายเลิศ" ไม่นาน ก็มาสู่ยุคโรงแรมปาร์คนายเลิศ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนายเลิศจากโลกไปแล้วเกือบ 40 ปี

โรงแรมปาร์คนายเลิศเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 36 ปีที่แล้ว หรือราว ๆ ปี 2523 เป็นช่วงยุคกรุงเทพฯกำลังพัฒนาเป็นเมืองสมัยใหม่ไปอีกขั้น มีศูนย์การค้า โรงแรม ทางด่วน ฯลฯ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ (ซึ่งมีสามีเป็นสถาปนิก) มีความตั้งใจและวางแผนการสร้างโรงแรมแห่งใหม่อย่างพิถีพิถัน บนพื้นที่ดินในบริเวณบ้านนายเลิศ ซึ่งมีที่ดินเหลืออยู่เกือบ ๆ 40 ไร่ คงอยู่มาตั้งแต่ยุคแรก ๆ และนับเป็นครั้งแรก ๆ เครือโรงแรมระดับโลก -- Hilton Worldwide แห่งสหรัฐเข้าบริหารโรงแรมเมืองไทยในฐานะโรงแรมห้าดาว ต่อเนื่องมานานกว่า 2 ทศวรรษ ผ่านมาถึงปี 2547 เมื่อมีการปรับปรุงโฉมรีโนเวตครั้งใหญ่โดยสถาปนิกระดับโลกชาวอเมริกัน Calvin Tsao พร้อม ๆ กับเปลี่ยนแปลงการบริหารมาเป็นเครือ Raffles Holdings แห่งสิงคโปร์ (ในปี 2544 Raffles Holdings ซื้อกิจการเครือข่าย Swissotel)

อีกเพียงทศวรรษต่อมา เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : ปาร์คนายเลิศ : จาก โรงแรม เป็น โรงพยาบาล (1)

view