สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อะไรๆ ก็จีน .. ชาวลาวสงสัยเขื่อนสิบสองปันนาตัวการดันน้ำท่วมภาคเหนือ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

MGRออนไลน์ -- หลังจากวิตกกังวนกันมาข้ามสัปดาห์ น้ำในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ในหลายแขวงภาคเหนือของลาวได้เริ่มลดลง ในวันอังคาร 23 ส.ค.นี้ ขณะที่การเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยรุนแรงในแขวงหลวงพระบาง ยังคงดำเนินต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เกิดความกังวลรอบใหม่ เกี่ยวกับโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมในนครเวียงจันทน์ ซึ่งเหลืออีกเพียง 50 เซ็นติเมตร ระดับน้ำก็จะถึง "ขีดระวังภัย" แล้ว ท่ามกลางการร่ำลือในโลกออนไลน์ว่า จีนกำลังจะปล่อยน้ำจากเขื่อนหลานซัง (Lancang) อีกระลอก
       
       นี่คือเขื่อนใหญ่ที่กั้นแม่น้ำโขงทั้งสาย ในเขตพิเศษปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนันของจีน ที่เป็นประตูออกสู่โลกภายนอก ด้านประชาคมอาเซียน
       
       ชาวเน็ตหลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่า เขื่อนจีนอาจมีส่วนในการทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในช่วงสุดสัปดาห์ ในหลายอาณาบริเวณทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นช่วงที่ลาวได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ฝนตกหนัก และ เกิดอุทุกภัยรุนแรงกินอาณาบริเวณกว้าง ในแถบเมืองเซียงเงิน แขวงหลวงพระบาง กับอีกหลายเมืองในเขตที่ราบสูงทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง และ สูงขึ้นไปในแขวงอุดมไซ
       
       ตามรายงานของกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ ระดับน้ำแม่น้ำโขงในนครเวียงจันทน์ กับแขวงภาคกลางและภาคใต้ ยังคงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนใกล้ "ขีดเตือนภัย" และ ถ้าหากมีฝนตกหนักอีกระลอกหนึ่ง โอกาสที่จะ เกิดอุทกภัยรุนแรงในเมืองหลวง เช่นเมื่อหลายปีก่อน ก็มีความเป็นไปได้สูง
       
       ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2554 ปีเดียวกันกับที่เกิดน้ำท่วมในใหญ่ ทั่วภาคเหนือและภาคกลางของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตรอบนอกกรุงเทพฯ กับจังหวัดปริมาณฑลนั้น ลาวได้เผชิญอุทกภัยถึง 4 ระลอก มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน อีกหลายแสนคนได้รับผลกระทบ น้ำท่วมได้สร้างความเสียหาย แก่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของลาวอย่างใหญ่หลวง
       
       ชาวเน็ตในลาวกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับเขื่อนจีนแห่งเดียวกัน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ลาวกับทั่วทั้งอนุภูมิภาคกำลังประสบภัยแห้งแล้งจัดนั้น เขื่อนหลานซังแห่งนี้ได้ช่วยปล่อยน้ำ ในปริมาณวันละหลายพันล้านลูกมาศก์เมตรเพื่อช่วยบรรเทา โดยทุกฝ่ายได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า ลงไปจนถึงกัมพูชา และเขตที่ราบปากแม่น้ำในภาคใต้เวียดนาม
       
       แต่การแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวเขื่อนจีน อาจสะท้อนให้เห็นอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับกระแสต่อต้านจีน ที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆ ในดินแดนลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประชาชนระดับพื้นฐาน ที่มองชาวจีนเป็นผู้ที่เข้าไปแย่งโอกาสในการทำมาหากิน ผู้คนจำนวนไม่น้อยแสดงความห่วงใยต่ออนาคต ที่ลาวซึ่งมีประชากรเพียง 6 ล้านคนเศษ มีโอกาสถูก "กลืนชาติ"

      ไม่มีผู้ใดมีตัวเลขแน่ชัดว่า ในปัจจุบันมีชาวจีนเข้าไปอาศัยทำกินอยู่ในดินแดนลาวจำนวนกี่หมื่น หรือกี่แสนคน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ชาวจีนที่พูดภาษาลาวไม่ได้ ปรากฎให้เห็นทั่วไปในทุกๆ ที่ ร้านค้าที่ชาวจีนเป็นเจ้าของ พบเห็นทั่วไปตั้งแต่แขวงภาคเหนือ และ นครเวียงจันทน์ ลงไปจนถึงเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ และ ชาวเน็ตลาวพูดกันผ่านประชาคมออนไลน์ว่า จำนวนคนจีนยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปราศจากการควบคุม
       
       จีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในลาว ด้วยเงินลงทุนสะสมกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้นักลงทุนจากจีน ครองเบอร์หนึ่งติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี โครงการลงทุนจากจีน มีตั้งแต่การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในท้องถิ่นที่ห่างไกล จนถึงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ในหลายต่อหลายแขวง ไปจนถึงธุรกิจศูนย์การค้าและโรงแรมหรู ในย่านใจกลางเมืองหลวง
       
       กระแสต่อต้านชาวจีนได้ผุดขึ้นมาให้เห็นเด่นชัดครั้งแรก เมื่อหลายปีก่อน ครั้งที่รัฐบาลลาวประกาศให้สัมปทานโครงการพัฒนา เขตบึงธาตุหลวงเวียงจันทน์ ให้แก่นักลงทุนชาวจีน ซึ่งทำให้เกิดกระแสข่าวเล่าลือที่ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้จะเป็นที่ยู่ของชาวจีนนับแสนๆ คน ซึ่งไม่ต่างกับโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่มีเจ้าของประเทศจำนวนไม่น้อยวิตกว่า จะมีการนำเข้าแรงงานก่อสร้างชาวจีนนับหมื่นๆ คน และ คนเหล่านั้นจะถือโอกาสไม่กลับไปจีนอีก
       
       การที่นักลงทุนปลูกกล้วยในดินแดนลาวจำนวนนับแสนไร่ ลักลอบนำเข้าสารพิษร้ายแรง เพื่อกำจัดศัตรูพืช หรือ เพื่อเร่งการเติบโตของต้นกล้วย ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้แก่เจ้าของประเทศอย่างมากมายนั้นได้กลายเป็นอีก กรณีหนึ่ง ที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจีนขึ้นมาอย่างรุ่นแรง และ แผ่ลามออกไปอย่างกว้างขวาง
       
       อย่างไรก็ตาม กรณีอุทกภัยล่าสุด ยังไม่มีผู้ใดหรือฝ่ายใด มีข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีน เพื่อสนับสนุนความวิตกกังวลได้ แต่ชาวเน็ตจำนวนไม่น้อย ได้กล่าวเตือนผู้คนในประชาสังคม ไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท และ ต้องเตรียมพร้อมรับมือ สภาพการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจจะติดตามมา

       "ກະກຽມເຄື່ອງຢູ່ຂອງກີນໄວ້ຢ່າໂທດນັ້ນໂທດນີ້ໃຫ້ພາກັນມີສະຕິ" ผู้ที่ใช้ชื่อ Vane Slsp เขียนเตือนพี่น้องร่วมชะตากรรม ให้มีสติและตระเตรียมสิ่งของพวก เครื่องนุ่งห่ม กับของกินของใช้ไว้ให้พร้อม โดยไม่ต้องกล่าวโทษใครๆ เพื่อรับมืออุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ในขณะที่บางคนเสนอให้นำกระสอบทรายกั้นริมฝั่งแม่น้ำ เป็นการป้องกันซึ่งดีกว่าแก้ไข
       
       ตามรายงานของกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงนครเวียงจันทน์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยวันอาทิตย์ 21 ส.ค.วัดได้ 9.80 เมตร เพิ่มขึ้นเป็น 11.00 เมตรในวันถัดมา และ คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงเลย "ระดับระวังภัย" (11.50 ม.) ในช่วง 2-3 วัน หน่วยงานดังกล่าวได้ออกเตือนให้ประชาชน ระมัดระวังเฝ้าติดตามระดับน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่นครเวียงจันทน์ ลงไปจนถึงแขวงบอลิคำไซ
       
       ประชาคมออนไลน์ชาวลาวได้เผยแพร่ทั้งภาพถ่าย และ คลิปเหตุการณ์หลายชิ้น แสดงให้เห็นอุทกภัยรุนแรง ในหลายแขวงภาคเหนือ ตั้งแต่แขวงอุดมไซ หลวงพระบาง ลงไปจนถึงแขวงไซยะบูลี ซึ่งในหลายเหตุการณ์ เป็นผลกระทบจากพายุโซนร้อนลูกหนึ่ง ที่พัดผ่านภาคเหนือเวียดนาม เข้าสู่ภาคเหนือลาวปลายสัปดาห์ที่แล้ว บางคลิปแสดงให้เห็นน้ำไหลเชี่ยวกราก จากแม่น้ำคาน ลงสู่แม่น้ำโขง ที่บริเวณ "ปากคาน" เมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นอิทธิพลของพายุโซนร้อนลูกเดียวกัน
       
       อุทกภัยร้ายแรงที่สุด เกิดขึ้นในเขตเมืองเซียงเงิน แขวงหลวงพระบาง บนเส้นทางไปยังแขวงไซยะบูลี เชียงขวาง กับแขวงเวียงจันทน์ ที่มีประชาชนหลายร้อยครอบครัวได้รับความเดือดร้อน น้ำท่วมจนถึงระดับหลังคาบ้านเรือราษฎร สะพานหลายแห่งเสียหาย หรือ ถูกทำลาย เส้นทางคมนาคมจมอยู่ใต้น้ำ และ ยังไม่ทราบความเสียหายทั้งหมด องค์การเพื่อการกุศล และ กลุ่มจิตอาสาจำนวนหนึ่ง กำลังระดมความช่วยเหลือ ให้แก่ราษฎรที่ได้รับกระทบ.
เวียงจันทน์ยังลุ้นกันระทึก ยังไม่ทราบตัวเลขล่าสุดประจำวันอังคาร 23 ส.ค.นี้ แต่รายงานของกรมอุตุนิยมฯ ในช่วงสองวันก่อนหน้า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงย่านดอนจันทน์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกเพียง 50 ซม.ก็จะถึง "ระดับป้องกันภัย" และ ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่ง ใต้ลงไปจนถึงแขวงบอลิคำไซ ให้ติดตามระดับน้ำพยากรณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดช่วงวันสองวันข้างหน้า ประชาคมออนไลย์ของชาวลาววิตกว่า หากเขื่อนจีนระบายน้ำลงไปสมทบช่วงนี้ เมืองหลวงก็อาจจะไม่พ้นอุทกภัยใหญ่ เช่นเมื่อหลายปีก่อน.


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : อะไรๆ ก็จีน .. ชาวลาวสงสัยเขื่อนสิบสองปันนาตัวการดันน้ำท่วมภาคเหนือ

view