สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชะตากรรมของป่าไม้ไทย เริ่มจากสวยตัด ๑ ปลูก ๔! ลงท้ายต้องปิดป่าก่อนป่าหมด

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย: โรม บุนนาค



ไม้สักในป่าภาคเหนือของประเทศไทยนั้น ฝรั่งมาเห็นแล้วน้ำลายไหล เพราะมีค่าไม่แพ้ทองคำ ขนาดควีนวิกตอเรียของอังกฤษยังวางแผนจะฮุบทั้งหมด โดยวิธีขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นบุตรบุญธรรม อย่างที่เล่าไปแล้วเมื่อวันก่อน

กล่าวกันว่าไม้สักของเมืองเหนือในยุคนั้นแปรรูปได้หน้ากว้างไม่ต่ำกว่า ๑ เมตร บริษัทอังกฤษที่ทำไม้อยู่ในอินเดียและพม่าจึงบ่ายโฉมหน้าเข้ามาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕

แต่ก่อนนั้นถือกันว่าไม้ในป่า ๕ เมือง คือ นครเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เป็นของเจ้าผู้ครองนคร ทั้งเมื่อถึงแก่กรรมก็ถือว่าป่าไม้อยู่ในกองมรดก ใครจะตัดก็ต้องจ่ายค่า “ตอไม้” ให้ เจ้าผู้ครองนคร และตัดกันตามสบายไม่มีการควบคุม ไม้สักที่ตัดกันในยุคนั้นชักลากลงแม่น้ำสาละวิน ไปขายที่เมืองมะละแหม่ง ไม่ผ่านกรุงเทพฯ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีบริษัทฝรั่งเข้ามาทำป่าไม้แล้ว ในปี ๒๔๑๗ รัฐบาลจึงเริ่มเข้าควบคุมป่าไม้ มอบให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ต่อมากระทรวงมหาไทยได้ขอตัวผู้ชำนาญการป่าไม้จากรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียมาช่วย และได้ มิสเตอร์ เอช. เอ. สเลด ข้าราชการป่าไม้ในพม่ามาชั่วคราว มร.สเลดมาถึงกรุงเทพฯในปี ๒๔๓๘ และขอไปสำรวจป่าไม้ภาคเหนือก่อน ๒ เดือน เมื่อกลับมาจึงได้ถวายรายงานที่ควรแก้ไขและจัดการกับป่าไม้ใหม่ มีข้อความตอนสำคัญว่า

“...ป่าไม้ทั้งหลายควรต้องถือว่าเป็นทุนทรัพย์ของหลวง ที่ได้ลงทุนไว้แล้วในกาลก่อนช้านาน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่คนที่เกิดในชั้นหลัง เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานป่าไม้ จะต้องระวังรักษาทุนทรัพย์ของเดิมมีไว้ให้ดี จัดให้ได้ประโยชน์เป็นกำไรให้มากตามแต่จะจัดได้ เก็บกินแต่แต่กำไรไปเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะจับต้องทุนทรัพย์ของเดิมนั้นได้เลย...”

ในปี ๒๔๓๙ จึงโปรดเกล้าฯให้สถาปนากรมป่าไม้ และร่างพระราชบัญญัติป่าไม้ขึ้น กรมป่าไม้ไทยในยุคแรกนอกจากจะมี มิสเตอร์สเลดเป็นอธิบดีแล้ว ยังมีฝรั่งอีก ๒ คนเป็นผู้ช่วย รวมทั้งพนักงานระดับหัวหน้าก็ล้วนแต่เป็นคนอังกฤษและอินเดียซึ่งมีความชำนาญในด้านป่าไม้ จึงต้องจ่ายเงินเดือนกันเป็นรูปี ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีความว่า

วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๔๖
ถึง กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
ด้วยได้รับหนังสือที่ ๓๐๐/๙๒๖๑ ลงวันที่วานนี้ ว่าด้วยราชการกรมป่าไม้มีมากขึ้น ขออนุญาตเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยราชการกรมป่าไม้ชั้น ๔ ขึ้นอีก ๔ คน ให้ได้รับเงินเดือนคนละ ๒๕๐ รูเปีย ๔ คนรวมเงินเดือนๆละ ๑,๐๐๐ รูเปีย ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๖ เป็นต้นไป ว่าเงินที่จะให้นี้มีเหลืออยู่ในงบประมาณของกรมป่าไม้ พ.ศ.๒๔๔๖ พอจะจ่ายได้ตลอดปี ไม่ต้องพึ่งงบประมาณ และได้หารือกระทรวงพระคลังเห็นชอบแล้วนั้น ทราบแล้ว อนุญาต
สยามินทร์

การให้สัมปทานฝรั่งเข้ามาทำป่าไม้นี้ ทรงกำหนดในสัญญาว่าต้องทำอย่างเคร่งครัดตามหลักวิชาการของการทำป่าไม้ ซึ่งก็เป็นหลักการของฝรั่งเอง อย่างเช่นให้ตัดเฉพาะไม้สักชั้นหนึ่งที่มีเส้นรอบวง ๖ ฟุต ๔.๕ นิ้วขึ้นไป โดยวัดที่ความสูง ๔ ฟุต ๖ นิ้วจากโคนเท่านั้น และต้องเว้นต้นที่สวยงามที่สุดไว้เป็นแม่ไม้ประจำป่า เมื่อตัดต้นสักต้นหนึ่งแล้ว ต้องปลูกไม้สักขึ้นทดแทน ๔ ต้น
แต่กฎเกณฑ์นี้จะได้ผลอย่างไรก็ต้องอ่านพระราชหัตถ์เลขาฉบับต่อไป

วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๘
ถึง กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
ข้อซึ่งจะคิดรักษาป่า เป็นความคิดรวมกันทั้งสองฝ่าย เป็นความคิดอย่างฝรั่งถูกต้องยิ่งนัก แต่กระบวนที่คิดวางการจะสำเร็จหรือไม่นั้นแลไม่เห็น ความคิดนั้นก็มาจากการรักษาป่าไม้ขอนสักซึ่งกรมป่าไม้ทำอยู่ทุกวันนี้ ฉันมีความเสียใจที่จะกล่าวว่า ได้เคยนึกหลายครั้งแล้ว ใจไปลงสันนิษฐานเสียว่าไม่ได้ทำอะไร เพราะไม่ได้เห็นรายงานรายการว่าได้ทำอะไร นอกจากเป็นเจ้าสำนวนป่าไม้ที่จะเลือกป่าอนุญาต เลือกป่าหวงห้าม ดีกว่าเจ้าของป่าไม้เดิมจ้างอยู่ แต่การปลูกการรักษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คิดว่าจะทำ ไม่เชื่อว่าจะได้ทำกัน เป็นเจ้าภาษีไม้ซุงอีกอย่างหนึ่ง

เมื่อการป่าไม้ซึ่งเป็นกรมใหญ่มีฝรั่งเป็นเจ้ากรม ฉันยังคิดเห็นเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่มีท่าทางที่จะคิดเห็นว่าการเกณฑ์ดีๆ สั่งๆ จะทำเช่นที่คิดกันมาทั้ง ๒ รายนี้จะเป็นผลสำเร็จอย่างไร

จึงเห็นว่ามีอย่างเดียวแต่ที่จะต้องมีผู้พิจารณาไต่สวนอย่างละเอียด แล้วคิดการรักษาตามไปภายหลังให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
สยามมินทร์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ จนถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลพยามจะส่งเสริมให้คนไทยทำป่าไม้เอง และให้กรมป่าไม้รับสัมปทานป่าไม้ในป่าที่เหลือ เตรียมจะงดต่อสัญญาให้บริษัทต่างชาติ แต่ทั้งประสบการณ์ เทคโนโลยี และเงินทุน ก็ไม่สามารถทำได้มาก เลยจำใจต้องต่อสัญญาให้กับบริษัทฝรั่งตลอดมา
ใน พ.ศ.๒๔๘๔ เกิดสงครามโลกขึ้น รัฐบาลจึงเข้ายึดกิจการบริษัทป่าไม้ของอังกฤษทั้ง ๔ บริษัท ตาม “พระราชบัญญัติว่าด้วยการควบคุมและจัดการทรัพย์สินของบุคคลต่างด้าวบางจำพวกในภาวะคับขัน” เว้นไว้แต่บริษัทอิสต์เอเซียติก ซึ่งเป็นของเดนมาร์ค ไม่ใช่คู่สงครามกับไทย และตั้งองค์กรวิสาหกิจในนาม บริษัทไม้ไทย ขึ้นรับดำเนินการแทน แต่พอสงครามโลกสงบลงในปี ๒๔๘๙ ผู้ชนะก็ได้คืนทรัพย์สินและสัมปทานทั้งหมด ทั้งยังต้องจ่ายค่าเสียหายในช่วงที่ยึดเขาด้วย บริษัทไม้ไทยเลยต้องยุบ แต่ในปีต่อมา จึงได้ตั้ง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ดำเนินการกิจการด้านป่าไม้ และสนับสนุนให้คนไทยทำป่าไม้ หาประสบการณ์ไว้ก่อนที่บริษัทฝรั่งจะหมดอายุสัมปทาน โดยจะไม่มีการต่ออายุให้อีก

ในปี ๒๔๙๘ สัมปทานป่าไม้สักของบริษัทฝรั่งทั้ง ๕ บริษัทก็หมดอายุลง มีการยกฐานะองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทนิติบุคคล เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน แต่แล้วก็ต้องตั้ง บริษัทป่าไม้ร่วมทุน ขึ้น โดยรวมบริษัทฝรั่ง ๕ บริษัทเข้ากับรัฐบาลไทยซึ่งถือหุ้นร้อยละ ๒๐ นอกจากนั้นยังตั้ง บริษัทป่าไม้จังหวัด เพื่อทำป่าไม้ในท้องที่ของตัวเอง จนกระทั่งในปี ๒๕๐๓ เมื่อหมดสัมปทานบริษัทป่าไม้ร่วมทุน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงปลดแอกสำเร็จ ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินการกิจการป่าไม้ทั้งหมด ทำให้บริษัทฝรั่งทั้ง ๕ ต้องปิดกิจการ

หลักการของการทำป่าไม้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเห็นชอบอย่างมากในการตัด ๑ ต้องปลูกทดแทน ๔ และต้องตัดเฉพาะไม้ต้นโต เว้นต้นที่สวยงามไว้เป็นแม่ไม้ประจำป่า แม้ในสมัยฝรั่งทำ ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้เคร่งครัดกันนัก ต่อมาในระยะหลังๆก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้กันเลย ตัดกันจนเหี้ยนป่า ทั้งไม้ขอนสักทั้งหมดที่ต้องล่องลงแควต่างๆมารวมกันที่ปากน้ำโพเพื่อเก็บภาษี บางส่วนก็ยังหลบไปลงแม่น้ำสาลวิน นุ่งโสร่งเป็นไม้พม่า
ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จึงทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๔ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลงทั้งแปลงได้ จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้สัมปทานทำไม้ทุกชนิด ทุกแปลง เว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน ต้องสิ้นสุดลง ทำให้ให้สัมปทานป่าไม้จำนวน ๒๗๖ แปลง เนื้อที่ ๙๖,๗๒๘,๙๘๑ ไร่ ยุติลงโดยสิ้นเชิง ต้นไม้ในป่าจะไม่ถูกตัดฟันอีก ทำให้รัฐบาลได้รับคำชมเชยจากประชาชนและจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รมต.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้กล้าหาญทำเรื่องนี้ ก็ได้รับฉายาว่า “รัฐมนตรีป่าลั่น” ไป
ถ้าทุกฝ่ายเคร่งครัดในกติกาที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ตัด ๑ ปลูก ๔ ป่านนี้เราก็มีไม้สักไปขายทั่วโลกเป็นไม้เศรษฐกิจของไทย ไม่ใช่ให้สวีเดนซึ่งเป็นเมืองหนาวแท้ๆ กลับทำป่าไม้สนส่งมาขายให้เศรษฐีไทยสร้างบ้านตากอากาศอย่างในวันนี้





#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

Tags : ชะตากรรมของป่าไม้ไทย เริ่มจากสวย ตัด ๑ ปลูก ๔ ลงท้าย ต้องปิดป่า ก่อนป่าหมด

view