สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วัฒนธรรมกาแฟ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

พฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทยเพิ่มขึ้นตลอดกว่าทศวรรษมานี้ ทั้งกาแฟสำเร็จรูป กาแฟสด จนธุรกิจร้านกาแฟแข่งกันผุดเป็นดอกเห็ด ตั้งแต่ร้านสแตนด์อะโลน สารพัดตกแต่งไปจนถึงซุ้มร้านกาแฟเล็ก ๆ ร้านเชนกาแฟแบรนด์ยักษ์ ร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมัน และในห้างสรรพสินค้า

วัฒนธรรมสภากาแฟของไทยที่เริ่มจากคนแก่คนเฒ่าในชุมชน พัฒนามาสู่พื้นที่ของ “ร้านกาแฟ” ที่มากับการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับชนชั้นกลาง

เส้นทางกาแฟของประเทศไทย ที่หากนับก้าวแรกมีต่างชาตินำกาแฟเข้ามาบริโภคตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์กระทั่งมีการนำเมล็ดพันธุ์ทั้งโรบัสต้า และอราบิก้า เข้ามาทดลองปลูก ผ่านยุคผ่านสมัยมาจนประเทศไทยเองก็มีเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ที่ติดอันดับโลกเช่นกัน

ผลผลิตเมล็ดกาแฟของโลก ปี 2016 ประมาณ 10 ล้านตัน ไทยผลิตได้ 5-6 หมื่นตัน คิดเป็น 0.55% ของโลก ขณะที่ดีมานด์สูงขึ้นจากความนิยมทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ แต่ปัจจัยเงื่อนไขในประเทศไทยเองที่ทำให้เราผลิตเมล็ดกาแฟได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและตลาดส่งออก

มองรอบข้างใกล้ตัว วันนี้หลายประเทศในอาเซียน และเอเชีย มีตลาดกาแฟที่เติบโตสูงมาก ภาพรูปธรรมแบบสำเร็จรูปหน่อย คือ กาแฟสายพันธุ์แพงและคุณภาพดีที่สุดในโลกผลิตได้ปริมาณจำกัดจากประเทศปานามา Hacienda La Es-meralda กำลังจะนำมาให้ลองลิ้มชิมรสที่ร้านกาแฟในสิงคโปร์ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นประเทศแรกในอาเซียน โดยสต๊อกของเมล็ดกาแฟนำเข้านี้ ชงขายได้เพียง 80 ถ้วยเท่านั้น

พิจารณาจากเทรนด์ของธุรกิจเมล็ดกาแฟ และร้านกาแฟในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย มีอนาคตตามทิศทางของตลาดอยู่มาก ซึ่งไทยติดอันดับกลาง ๆ ของกลุ่มประเทศที่สามารถ “เข้าถึง” กาแฟในระดับน่าสนใจ คำว่า “การเข้าถึง” ที่ว่าคือ การวัดด้วยสถิติจาก “ราคาขาย” ต่อแก้ว

โดยเมื่อเพ่งเล็งไปที่กรุงเทพฯในฐานะแหล่งบริโภคกาแฟมากที่สุดของประเทศ สถิติจาก Coffee Price Index จบปี 2016 กรุงเทพฯอยู่อันดับที่ 26 จาก 75 เมืองต่าง ๆ ทั่วโลก นั่นคือ ราคาขายกาแฟต่อแก้วของไทยเฉลี่ยที่ 1.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อแก้ว หรือเฉลี่ย 60-62 บาท

ส่วนราคากาแฟต่อถ้วยแพงที่สุดในโลกคือ ซูริก สวิตเซอร์แลนด์ เฉลี่ยแก้วละ 3.52 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เมืองริโอเดจาเนโร ของบราซิล ราคากาแฟต่อถ้วยถูกสุดในโลก เฉลี่ย 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบราซิลเองถือเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟอันดับ 1 ของโลก

สำหรับในเอเชีย เมืองฮานอย เวียดนาม มีราคาค่ากาแฟต่อถ้วยถูกสุด ตามด้วยกัวลาลัมเปอร์ และมะนิลา

สถิติจาก Coffee Price Index สำรวจใน 75 เมือง จาก 36 ประเทศ พิจารณาตั้งแต่ราคาขายให้กลุ่มชาวออฟฟิศ ราคากาแฟลาเต้ขนาดแกรนเด (16 ออนซ์) ของสตาร์บัคส์ประเทศต่าง ๆ ไปจนถึงคาปูชิโน่ ขนาดกลางจากร้านกาแฟอิสระ และต้นทุนกาแฟต่อถ้วยเมื่อชงดื่มเองที่บ้าน ทั้งหมดถูกนำมาหาค่าเฉลี่ย สำหรับประเทศไทย คาดการณ์การขยายตัวธุรกิจร้านกาแฟ ธุรกิจขายส่งกาแฟ จะเติบโตต่อเนื่อง ภาพรวมธุรกิจอยู่ที่ 15,000-17,000 ล้านบาท และน่าจะเติบโตได้อีกร้อยละ 15-20 ท่ามกลางร้านกาแฟแฟรนไชส์กว่า 100 แบรนด์

กระนั้นผลผลิตเมล็ดกาแฟของไทยยังไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ปัจจัยที่ต้องเจอกับสภาพอากาศแปรปรวน ไปจนถึงปัญหาสายพันธุ์ พื้นที่ปลูกที่ลดลง อุปสรรคการจัดการเทคโนโลยีการผลิตให้ดีและเหมาะสม หรือแม้แต่เมล็ดกาแฟอราบิก้าของไทยขาดอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น มีการปลอมปนเมล็ดกาแฟจากถิ่นอื่น ทำให้ไม่สามารถรักษามาตรฐาน คุณภาพ และราคาได้

ท่ามกลางสถานการณ์ความต้องการเมล็ดกาแฟสูงขึ้นในโลก และสถิติการบริโภคกาแฟที่ขยายตัวทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเอเชีย ที่ว่ามาคือการฉายให้เห็นภาพจากวัฒนธรรมกาแฟของคนดื่มสู่สถานการณ์กาแฟในฐานะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย ที่ยังมีสถานการณ์ลุ่ม ๆ ดอน ๆ


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : วัฒนธรรมกาแฟ

view