สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายยึดหลักปลอดภัย ใช้ข้อมูลวิชาการตัดสิน

จากประชาชาติธุรกิจ

กรมวิชาการเกษตร ย้ำขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรมุ่งสนองนโยบายเกษตรอินทรีย์ ให้ความสำคัญสารสกัดธรรมชาติและสารที่มีพิษน้อย ที่เหลือตามลำดับคิว ตั้งธงพิจารณาตามหลักวิชาการ ข้อมูลพิษวิทยา ผลการทดลองประสิทธิภาพ และผลการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ เผยผลพิจารณาล่าสุดสอบตกระนาว

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า วัตถุอันตรายถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535  กำหนดให้มีคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลการใช้วัตถุอันตรายให้เป็นไปตามหลักวิชาการ  และมีความปลอดภัย เพื่อคุ้มครองเกษตรกรและผู้บริโภค

วัตถุอันตราย จำแนกได้ตามความจำเป็นแก่การควบคุมออกเป็น  4 ชนิด คือ

วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องขอขึ้นทะเบียน และแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน

วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องขอขึ้นทะเบียนและต้องได้รับใบอนุญาต

วัตถุอันตรายชนิดที่ 4  ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครอง
          
ปัจจุบันมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 302 ชนิดสาร รวม 9,526 ทะเบียน และได้ออกประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้วจำนวน 98 ชนิด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายสะสมอยู่มากกว่า 4,000 คำขอ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรตระหนักถึงการดูแลเกษตรกรและผู้บริโภค จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย โดยในลำดับแรกให้ความสำคัญกลุ่มวัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัย ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และกลุ่มสารเคมีที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในพืชอาหาร  มีข้อมูลความเป็นพิษน้อย ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก เพื่อสนองตามนโยบายส่งเสริมการทำการเกษตรระบบเกษตรอินทรีย์ของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลำดับที่ 2 เป็นสารเคมีที่มีความจำเป็นต้องใช้แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในกลุ่มแรก โดยใช้ข้อมูลการประเมินความเสี่ยงอันตรายและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาภายใต้หลักวิชาการ 3 ข้อ คือ ข้อมูลพิษวิทยา ผลการทดลองประสิทธิภาพ และผลการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้การประชุมคณะอนุกรรมการฯ กำหนดให้มีการประชุมเป็นวาระปกติเดือนละ 2 - 3 ครั้ง โดยพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนจำนวนครั้งละ 50-90 คำขอ ซึ่งการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาเป็นการพิจารณาเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายจำนวน 50 คำขอ ผลการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ สรุปได้ว่า มีคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายผ่านการพิจารณารับขึ้นทะเบียนเพียง 9 คำขอ ไม่ผ่าน 41 คำขอ  เนื่องจากผลการทดลองประสิทธิภาพไม่ได้ทำในพืชอาหาร เป็นสารที่มีข้อมูลว่าก่อให้เกิดการระบาดเพิ่มของศัตรูพืช และอีกจำนวนหนึ่งผ่านความเห็นในหลักวิชาการโดยให้รับขึ้นทะเบียนได้เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้สามารถใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพร่วมได้อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นคำขอขึ้นทะเบียนในวัตถุอันตรายที่เคยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนแล้ว แต่มีผู้ประกอบการรายอื่นประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนสารดังกล่าว

"การพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มวัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัย ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และกลุ่มสารเคมีที่ใช้ในพืชอาหาร มีข้อมูลความเป็นพิษน้อย ส่วนที่เหลือพิจารณาตามลำดับการยื่นคำขอโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ข้อ คือข้อมูลพิษวิทยา ผลการทดลองประสิทธิภาพ และผลการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งการขึ้นทะเบียนครั้งล่าสุดไม่ได้เป็นการขึ้นทะเบียนสารใหม่แต่เป็นสารเดิมที่เคยให้ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนแล้ว เพื่อเป็นการคุ้มครองเกษตรกรซึ่งยังมีความจำเป็นต้องใช้โดยต้องใช้ตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับพืชเศรษฐกิจบางชนิดในประเทศไทย"อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ยึดหลักปลอดภัย ข้อมูลวิชาการตัดสิน

view