สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วังบ้านปืน ย่อส่วนวังตากอากาศพระเจ้าไกเซอร์ สถาปัตยกรรมเยอรมันเต็มร้อย! ออกแบบโดยสถาปนิกผู้หลงใหลศิลปะไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

วังบ้านปืน ย่อส่วนวังตากอากาศพระเจ้าไกเซอร์ สถาปัตยกรรมเยอรมันเต็มร้อย! ออกแบบโดยสถาปนิกผู้หลงใหลศิลปะไทย!!
พระรามราชนิเวศน์
        ที่เพชรบุรี ไม่เพียงแต่มีพระนครคีรี ซึ่งเป็นพระราชวังตากอากาศที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แต่ยังมี วังบ้านปืน หรือ พระรามราชนิเวศ ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นที่ประทับตากอากาศในฤดูฝน มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบบาโรคและอาร์ต นูโว ที่เยอรมันเรียกว่า จุงเกนสติล เป็นศิลปะแบบตะวันตกล้วนๆ ไม่ผสมศิลปะไทยเหมือนอย่างที่นิยมสร้างกันในสมัยนั้น โดยย่อส่วนมาจากพระราชวังตากอากาศฤดูร้อนของพระเจ้าวิลเลียม ไกเซอร์แห่งเยอรมัน แต่ออกแบบโดยสถาปนิกผู้หลงใหลศิลปะไทยเป็นชีวิตจิตใจจนเดินทางเข้ามาศึกษา
       
       วังบ้านปืน ตั้งอยู่ที่บ้านปืน ริมแม่น้ำเพชรบุรี ไม่ห่างจากพระนครคีรีมากนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๕๓ ออกแบบโดย คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง ซึ่งได้เลือกผู้ร่วมงานทั้งสถาปนิก วิศวกร และมัณฑนากรเป็นชาวเยอรมันทั้งสิ้น เพื่อให้มีศิลปะเป็นแบบศิลปะตะวันตกอย่างเต็มตัวตามพระราชประสงค์ แต่ไม่แล้วเสร็จในรัชกาล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จในปี ๒๔๖๑พระราชทานนามตัวพระตำหนักว่า “พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท” และพระราชทานนามพระราชวังตากอากาศแห่งนี้ว่า “พระรามราชนิเวศน์”
       พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯมิได้เสด็จประพาสวังแห่งนี้บ่อยนัก จะเสด็จมาประทับเพื่อทอดพระเนตรการซ้อมเสือป่าบ้างเท่านั้น พระรามราชนิเวศน์จึงทรุดโทรมลงเรื่อยๆ
       
       ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ใช้วังบ้านปืนเป็นสถานศึกษาของเหล่าครูในแขนงวิชาชีพต่างๆชั่วระยะหนึ่ง เมื่อย้ายออกไปตั้งในสถานที่ใหม่ พระราชนิเวศน์แห่งนี้ก็ถูกปล่อยให้ทรุดโทรมลงอีก หลังจากนั้นได้โปรดเกล้าฯให้ใช้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม โรงเรียนฝึกหัดครูผู้กำกับลูกเสือในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนประถมวิสามัญหญิง จนกระทั่งโรงเรียนเหล่านี้ย้ายออกไป พระราชวังบ้านปืนจึงถูกทิ้งให้รกร้างอีกครั้ง
       
       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ฝ่ายทหารได้ใช้พระราชวังนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร โปรดเกล้าฯพระราชทานให้เป็นที่ตั้งของจังหวัดทหารบกเพชรบุรีและต่อมาได้เป็นมณฑลทหารบกที่ ๑๕
       
       ในรัชกาลที่ ๙ โปรดฯให้ใช้พระรามราชนิเวศน์นี้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะของจังหวัดเพชรบุรีด้วย
       
       ตัวพระตำหนักเน้นในเรื่องของความสูงของหน้าต่าง ความสูงของเพดาน ซึ่งกว้างเป็นพิเศษ ทำให้พระตำหนักดูใหญ่โต โอ่อ่า สง่างาม และตระการตา พื้นเป็นหินอ่อน จึงทำให้ภายในตัวอาคารเย็นสบาย แผนผังของตัวอาคารสร้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมสวนหย่อม มีสระน้ำพุตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนที่ประทับเป็นตึกสองชั้นขนาดใหญ่ หลังคาทรงสูงรูปโดม ภายในเป็นโถงสูงมีบันไดโค้งขึ้นสู่ชั้นสองซึ่งจัดเป็นจุดเด่นของพระตำหนัก
       
       ภายในชั้นล่างประกอบด้วย ห้องรอเฝ้า ท้องพระโรงกลาง ห้องเสวย ห้องเครื่อง และห้องเทียบเครื่อง ส่วนชั้นบนประกอบด้วย ห้องบรรทมใหญ่ ห้องบรรทมพระราชินี ห้องบรรทมเจ้าฟ้า และห้องทรงพระอักษร
       
       พระที่นั่งหลังนี้ยังมีสิ่งที่น่าชมอีกคือ การตกแต่งภายในแต่ละห้องมีรูปลักษณ์แตกต่างกันไปทั้งสีสันและวัสดุที่ใช้ เช่น บริเวณโถงบันไดใช้โทนสีเขียว ห้องเสวยใช้โทนสีเหลือง ตกแต่งช่องประตูด้วยเหล็กดัดแบบอาร์ต นูโว และประดับผนังด้วยแผ่นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองสด ตัดกรอบด้วยกระเบื้องเขียวเป็นช่องๆ ตามแนวยืน โดยกระเบื้องประดับผนังมีลวดลายนูนเป็นรูปสัตว์และพรรณพืชต่างๆแทรกอยู่เป็นระยะ ห้องบรรทมใช้โทนสีทอง โดยตกแต่งเสาในห้องด้วยแผ่นโลหะสีทองขัดเงาดุนลาย หัวเสาเป็นภาพเขียนแจกันดอกไม้หลากสี บนพื้นครึ่งวงกลมสีทอง ดูสง่างามและมลังเมลือง
       
       ความงามของวังบ้านปืนถูกใช้ให้เป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละครทีวีหลายเรื่อง ต่อมมามีนักท่องเที่ยวเข้าชมมากขึ้น จึงไม่อนุญาตให้มีการถ่ายภาพทุกอย่างภายในพระตำหนักตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับนักท่องเที่ยว ภาพประกอบภายในพระตำหนักของเรื่องนี้ จึงต้องอาศัยรูปภาพใน Website : www.paijam.com ซึ่งได้ถ่ายไว้ก่อนห้าม จึงขอขอบคุณไว้ด้วย
       
       ส่วนผู้ออกแบบพระราชวังแห่งนี้ก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่น่าสนใจ เขาเดินทางเข้ามาเมืองไทยด้วยความหลงใหลในศิลปะไทย แต่ได้รับความไว้วางพระทัยจากเจ้านายทั้งหลายให้สร้างวังให้ จนได้ฝากชื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบสร้างวังที่งดงามไว้หลายแห่ง จนได้รับฉายาว่า “สถาปนิกผู้สร้างวัง”
       

       คาร์ล ซิกฟรีด ดอห์ริ่ง (Professor Dr.Karl Siegfried Dohring) เข้ามาเมืองไทยในปี ๒๔๔๙ หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ Technical University Berlin และด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะโบราณคดี ปรัชญา ที่ University Berlin จากนั้นได้ศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโทด้านวิศวกรรมที่ Technical University Berlin แล้วสมัครเข้าทำงานในกรมรถไฟกรุงเบอร์ลินระยะหนึ่ง ก่อนตัดสินใจมุ่งมาศึกษาศิลปะตะวันออกในประเทศสยาม
       
       คาร์ลเข้ามารับตำแหน่งแรกในเมืองไทยเป็นวิศวกรผู้ช่วยในกรมรถไฟ ได้รับมอบหมายให้ดูแลการสร้างทางรถไฟสายเหนือ และเป็นวิศวกรร่วมสร้างสถานีหัวลำโพงด้วย ต่อมาในปี ๒๔๕๒ กระทรวงมหาดไทยได้ขอตัวไปเป็นวิศวกรกรสุขาภิบาล มีหน้าที่ตรวจการสุขาภิบาลหัวเมือง รับผิดชอบการออกแบบ แก้ไขระบบน้ำโสโครก ทำถนน สร้างสะพาน และอื่นๆ
       
       งานเหล่านี้ดูจะไม่ตรงสเปคของคาร์ล ดอห์ริ่งนัก แต่ก็ทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับบรรดาพระบรมวงานุวงศ์ จนได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ถูกอัธยาศัย ทำให้เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่ชื่นชมยกย่อง และถูกจารึกชื่อไว้ในเมืองไทย
       
       ในเดือนมิถุนายน ๒๔๕๒ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ทรงว่าจ้างให้ดอห์ริง ออกแบบก่อสร้างวังของพระองค์ที่สามเสนเป็นรายแรก ปัจจุบันเป็นที่ทำการของการไฟฟ้าสามเสน
       
       ต่อมาในเดือนตุลาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เขาเป็นสถาปนิกออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่เมืองเพชรบุรี ซึ่งก็คือพระรามราชนิเวศน์แห่งนี้
       
       ในปี ๒๔๕๔ สมเด็จฯกรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ซึ่งควบคุมการก่อสร้างวังบ้านปืน ทรงว่าจ้างดอห์ริง ให้ออกแบบ ก่อสร้างวังใหม่ของพระองค์ ที่ถนนหลานหลวง ซึ่งก็คือวังวรดิศในปัจจุบัน
       
       และในปีเดียวกันนี้ เขายังได้รับความไว้วางพระทัยจาก สมเด็จฯเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ให้ออกแบบก่อสร้างพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระมารดาของพระองค์ ซึ่งก็คือ “ตำหนักสมเด็จ” ในวังบางขุนพรหมปัจจุบัน
       
       อาคารทุกหลังที่เขาออกแบบ แม้จะเป็นรูปแบบของตะวันตก แต่ก็ถูกดัดแปลงให้เหมาะสมกับภูมิประเทศเขตร้อน และเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยเฉพาะ ไม่ได้ลอกแบบเดิมมา นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่า เขาลึกซึ้งถึงกับนำบุคลิกลักษณะของท่านเจ้าของ มากำหนดรูปแบบของอาคารด้วย
       
       เช่น พระรามราชนิเวศน์ ใหญ่โตโอ่อ่าสง่างามและตระการตา คู่ควรกับบารมีพระมหากษัตริย์ วังวรดิศให้เห็นถึงความนอบน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์ และจริงใจ อันเป็น คุณลักษณะเด่นของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ วังของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ เน้นความมัธยัสถ์ ซื่อตรง เข้มแข็ง หนักแน่น และสง่างามสมชายชาตรี ส่วนรูปแบบภายนอกของตำหนักสมเด็จ เป็นความสวยสง่าของสตรีเพศแบบเรียบๆ ส่วนการตกแต่งภายใน เป็นความงดงาม อ่อนหวาน และละมุนละไม อันเป็นรูปสมบัติและคุณสมบัติของอิสตรี
       
       ในปี ๒๔๕๔ คาร์ล ดอห์ริ่งขอลากลับไปพักผ่อนที่เยอรมันเป็นเวลา ๑ ปี เขาได้ถือโอกาสนี้เข้าศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ กฎหมาย ประวัติศาสตร์ศิลป์และวรรณคดี ที่ University Berlin อีก หลังจากนั้นก็กลับมาควบคุมการก่อสร้างวังทั้ง ๓ ที่เขาออกแบบไว้ แต่ก็เกิดล้มป่วยซึ่งแพทย์หลวงลงความเห็นว่าไม่สามารถรักษาได้ ให้เขากลับไปรักษาในยุโรป ทำให้คาร์ล ดอห์ริ่งต้องลาออกจากราชการกลับไป และไม่ได้กลับมาอีก
       
       ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้ คาร์ล ดอห์ริ่งได้กลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ทั้งด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และได้รับการยกย่องให้เป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ด้วยผลงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม
       
       คาร์ล ดอห์ริ่งยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ที่เขาซาบซึ้งประทับใจ พิมพ์เผยแพร่ในยุโรปหลายเล่ม ในหนังสือ “Siam Land and Volk” คาร์ลเขียนบรรยายความรู้สึกที่มีต่อเมืองไทยไว้ว่า
       
       “ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ข้าพเจ้าได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสยาม นับเป็นช่วงเวลาที่งดงามที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า การได้มีโอกาสพบเห็นขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวสยาม ตลอดจนรูปแบบของศิลปะซึ่งหาดูได้ยาก นับเป็นประสบการณ์อันน่าชื่นชม ชาวสยามมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย เป็นธรรมชาติ และอุทิศตนให้กับคำสอนในพุทธศาสนา โดยไม่เคยต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบากใดๆเลยในชีวิต” 

วังบ้านปืน ย่อส่วนวังตากอากาศพระเจ้าไกเซอร์ สถาปัตยกรรมเยอรมันเต็มร้อย! ออกแบบโดยสถาปนิกผู้หลงใหลศิลปะไทย!!
ประดับด้วยปืนโบราณโดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.๕
        

วังบ้านปืน ย่อส่วนวังตากอากาศพระเจ้าไกเซอร์ สถาปัตยกรรมเยอรมันเต็มร้อย! ออกแบบโดยสถาปนิกผู้หลงใหลศิลปะไทย!!
ความงดงามภายในพระตำหนัก
        

วังบ้านปืน ย่อส่วนวังตากอากาศพระเจ้าไกเซอร์ สถาปัตยกรรมเยอรมันเต็มร้อย! ออกแบบโดยสถาปนิกผู้หลงใหลศิลปะไทย!!
สีสันที่โดดเด่นภายในของแต่ละห้อง
        

วังบ้านปืน ย่อส่วนวังตากอากาศพระเจ้าไกเซอร์ สถาปัตยกรรมเยอรมันเต็มร้อย! ออกแบบโดยสถาปนิกผู้หลงใหลศิลปะไทย!!
สวนหย่อมที่ล้อมรอบด้วยตัวอาคาร
        

วังบ้านปืน ย่อส่วนวังตากอากาศพระเจ้าไกเซอร์ สถาปัตยกรรมเยอรมันเต็มร้อย! ออกแบบโดยสถาปนิกผู้หลงใหลศิลปะไทย!!
คาร์ล ซิกฟลีต ดอห์ริ่ง

อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : วังบ้านปืน ย่อส่วน วังตากอากาศพระเจ้าไกเซอร์ สถาปัตยกรรมเยอรมัน เต็มร้อย ออกแบบ สถาปนิก ผู้หลงใหลศิลปะไทย

view