สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกคู่มือรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

พลิกคู่มือรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น

        เหตุแผ่นดินไหวที่เนปาลและความ อลหม่านในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นบทเรียนที่หลายประเทศพึงเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติสูง จึงมีการจัดเตรียม “คู่มือจัดการภาวะวิกฤติ” ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
       
       ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อเราย้ายเข้าไปอาศัยในท้องถิ่นใดและไปขึ้นทะเบียนกับทางอำเภอ ทุกคนจะได้รับ “คู่มือการใช้ชีวิต” ซึ่งจะบ่งบอกถึงสถานที่สำคัญในพื้นที่,สาธารณูปโภคต่างๆ, สวัสดิการ, ภาษีท้องถิ่น,กฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์ ไปจนถึงระบบการคัดแยกขยะซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ คู่มือการใช้ชีวิตมีหมวดที่สำคัญที่ถูกจัดลำดับไว้เป็นเรื่องแรก คือ การรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน
       
       คู่มือการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน มีทั้งแบบเอกสาร, DVD และเว็บไซต์ ที่จัดทำโดยรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศญี่ปุ่น และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ, จีน, เกาหลี, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, สเปน และภาษาไทย เป็นต้น

พลิกคู่มือรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น

        เนื้อหาในคู่มือกล่าวถึงภัยพิบัติสำคัญ คือ แผ่นดินไหว, พายุไต้ฝุ่น และไฟไหม้ โดยบอกว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดเหตุขึ้น ที่สำคัญคือ จะมีแผนที่บอกที่ตั้งศูนย์อพยพ และเส้นทางหนีภัยอย่างชัดเจน
       
       ในคู่มือยังเน้นย้ำให้ชาวบ้าน “ลองไปสถานที่อพยพด้วยตนเอง" เพราะถึงแม้จะมีแผนที่แสดงจุดอพยพอย่างชัดเจน แต่หากเป็นคนเพิ่งมาอาศัยใหม่ ก็ย่อมจินตนาการไม่ออกหรือไม่รู้สภาพที่แท้จริงของถนนจากการดูแค่แผนที่ หากได้ลองเดินดูทางจริงก็ย่อมจะจินตนาการได้ว่า ทางเป็นเช่นไร ทางอาจจะไกลกว่าที่คิด หรือถนนบางเส้นอาจไม่มีทางเท้าทำให้เดินไม่ค่อยปลอดภัย หรือทางนี้มีสะพานซึ่งอาจเป็นอันตรายหากเดินข้ามไปตอนเกิดภัยพิบัติจริง เป็นต้น
       
       คู่มือจัดการภาวะวิกฤต ยังระบุว่า ควรเตรียมพร้อมให้สามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้ด้วยตนเองอย่างน้อย 3 วันหลังเกิดภัยพิบัติ พร้อมระบุถึงสิ่งของจำเป็นที่ต้องพกพาไปในระหว่างอพยพ เช่น ไฟฉาย,น้ำ และ อาหารสำเร็จรูป ซึ่งสิ่งของเหล่านี้มีจำหน่ายเป็น “ถุงฉุกเฉิน” ตามซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป

พลิกคู่มือรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น

       ระบบสื่อสารฉุกเฉิน
       

       รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทุกรายต้องจัดทำ “ระบบสื่อสารฉุกเฉิน” สำหรับยามเกิดภัยพิบัติ เนื่องจากในยามฉุกเฉินจะมีผู้ใช้ระบบสื่อสารอย่างมาก จนทำให้อัตราการต่อสายโทรศัพท์สำเร็จลดลงเหลือเพียง 1 ใน10 หรือ 1 ใน5 เท่านั้น และหากสถานีจ่ายไฟประจำภูมิภาคเกิดการล่ม การบริการสื่อสารก็จะต้องหยุดชะงักไปด้วย
       
       บริษัทผู้ให้บริการมือถือแต่ละรายได้จัดทำ “กระดานข้อความแจ้งเหตุภัยพิบัติ” โดยเป็นเมนูบังคับสำหรับโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ระบบกระดานข้อความแจ้งเหตุภัยพิบัตินี้สามารถฝากข้อความได้ทั้งคนที่อยู่ใน พื้นที่ภัยพิบัติ และคนนอกพื้นที่ภัยพิบัติที่ต้องการเช็คสถานการณ์ความปลอดภัยของญาติมิตร โดยถึงแม้เป็นโทรศัพท์มือถือคนละบริษัท ข้อความก็จะถูกส่งข้ามเครือข่ายได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
       
       กลุ่มบริษัท NTT ผู้ให้บริการการสื่อสารรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้จัดตั้งสายด่วนหมายเลข 171 สำหรับกรณีเกิดภัยพิบัติ โดยผู้ใช้สามารถฝากข้อความเสียงได้จากทั้งโทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์สาธารณะ รวมทั้งสามารถฟังข้อความเสียงที่ญาติมิตรอาจฝากไว้ในระบบได้ โดยในปัจจุบันยังสามารถฟังข้อความผ่านทางเว็บไซต์ได้ด้วยเช่นกัน
       
       ชาวญี่ปุ่นแทบทุกคนถูกฝึกฝนให้มีวางแผนล่วงหน้าว่าหากเกิดสิ่งผิด ปกติขึ้นจะเตรียมรับมืออย่างไร? จึงทำให้เมื่อเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ ชาวญี่ปุ่นจึง “ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก” ซึ่งการจัดทำคู่มือรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น มีขึ้นบนพื้นฐานที่ว่า “การเตรียมพร้อมในทุกวันเป็นสิ่งสำคัญ” โดยในคู่มือเน้นย้ำว่า หากสามารถคิดและตั้งสติได้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ เราจะสามารถช่วยเหลือชีวิตตนเองให้รอดพ้นได้มากเท่านั้น.


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : พลิก คู่มือรับมือภัยพิบัติ ญี่ปุ่น

view