สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หมอล็อต แนะข้อปฏิบัติ เมื่อเจอช้างป่าบนถนน ย้ำ! ห้ามดับเครื่อง

หมอล็อต" แนะข้อปฏิบัติ เมื่อเจอช้างป่าบนถนน ย้ำ! ห้ามดับเครื่อง

จากประชาชาติธุรกิจ

จากกรณีช้างป่าออกมาทำลายรถยนต์นักท่องเที่ยวบนถนน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนเป็นคลิปแชร์ว่อนทางโซเชียล เน็ตเวิร์กในขณะนี้ถึงสองคัน สองเหตุการณ์ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ทำให้หลายๆ คนหวาดระแวงในการขับรถขึ้นเขาใหญ่มากขึ้น ประจวบเหมาะกับก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา นายสัตว์แพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ "หมอล็อต" ได้ออกมาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Patarapol Lotter Maneeorn ถึงวิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่าบนถนน ในพื้นที่ อช.เขาใหญ่ ดังนี้

Lotter: Khao yai Only. บ้านใครบ้านมัน เข้าใจตรงกันนะ

วิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่าบนถนน ในพื้นที่ อช.เขาใหญ่ ขอย้ำครับ ช้างป่าเขาใหญ่เท่านั้น เพราะช้างป่าพฤติกรรมหรือปฎิกิริยาตอบสนองต่อรถที่สัญจรไปมาในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นที่เขาอ่างฤาไน หรือป่าละอู ต้องทำอีกอย่าง มาทำความเข้าใจกันนะครับ....

ทำไมถึงมักเจอช้างบนถนนของเขาใหญ่

- ในอดีตตอนยังไม่มีการสร้างถนนเส้นนี้ ช้างป่าได้ใช้เส้นทางบางส่วนของพื้นที่เป็นเส้นทางเดินหากิน หรือเราเรียกว่า "ด่านช้าง" ซึ่งบรรพบุรุษของช้างได้สอนลูกหลานต่อๆกันมาว่านี้คือเส้นทางหากินของเรา อยู่มาวันหนึ่งมีการสร้างถนนขึ้นมาและบังเอิญไปทับซ้อนกับด่านช้าง ทำให้บางส่วนของถนนนั้นเกิดการใช้ร่วมกันระหว่างช้างและรถยนต์

- ช้างป่าเขาใหญ่ในแต่ละฝูง มีการตกลูกทุกๆปี นั่นหมายถึงว่าในฝูงมีลูกน้อย การเดินหากินในป่าที่รกทึบ หญ้าสูง หรือเขาที่ชัน ของลูกช้างมักมีความยากลำบาก หลายพื้นที่มีลูกช้างป่าพลัดหลงฝูงจากการตกภูเขา และฝูงก็จะห่วงลูกช้างมาก การเดินบนถนนก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ปลอดภัยสำหรับลูกช้าง เดินสะดวก และฝูงช้างป่าจะหวงลูกมากๆ

- พื้นถนนในตอนกลางคืนจะอุ่น เนื่องจากความร้อนสะสมในตอนกลางวัน ในช่วงฤดูหนาว ช้างจะเดินออกมาบนถนนถี่ขึ้น บางครั้งจะเห็นช้างป่านอนหลับบนถนนในช่วงหน้าหนาว นอนบนดินโป่งในช่วงหน้าร้อน

- บริเวณข้างทางของถนน มักมีต้นหญ้าและพื้นขนาดเล็กที่เป็นอาหารของช้าง ช้างสามารถกินได้ง่าย

- เป้าหมายของการใช้ถนนของช้าง คือ การมุ่งหน้าไปยังพื้นที่แหล่งอาหารต่างๆด้วยความปลอดภัยและรวดเร็ว เช่น แหล่งดินโป่ง หรือแหล่งน้ำ

1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป

2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลมๆจะทำให้ช้างตกใจและโกรธ

3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจ เดินเข้ามาหา ช้างตกใจแล้ว ตกใจเลย หายยาก

4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้มๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์ เรารู้จักแล้ว ไม่สน กินดีกว่า 55555

5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกระพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา

6.ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส ซึ่งนั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาคุณแย้ววววว เค้าแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถคุณก็บาดเจ็บได้

7. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกระพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด

ปล. ไฟสูงเปิดได้ ในกรณีที่เราอยู่ห่างจากช้างป่ามากกว่า 50 เมตรขึ้นไป เพราะจะทำให้ช้างรู้ตัวว่ามีรถมา ไม่ตกใจ และเดินหลบเข้าข้างทาง ถ้าเปิดไฟสูงระยะใกล้กว่านี้แสงจะแยงตา ช้างตกใจได้

8. ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถของคุณได้ คนตามหลังซวยเลยครับ

9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็กรุณาถอยรถอย่างมีสติด้วยนะครับ โดนด้วยกันรอดก็ต้องรอดด้วยกัน

10. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่เค้าจะเข้ามาหานั้น เร็วมาก


วิธีสังเกตุอารมณ์ของช้างอย่างง่ายๆ


- เมื่ออารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา


- เมื่ออารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา...
ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้น ๆ เพียง 2 - 3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง ช้างเมื่ออารมณ์ดี สังเกตจากการแกว่งหู และสะบัดหางไปมา จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม
แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงพึงสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วยครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดเหตุที่รถติดเป็นจำนวนมาก หรือช้างเกิดความเครียด จากการสังเกตุตามข้อแนะนำข้างต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ จะมาทำการอารักขา ขอย้ำครับว่า"อารักขาช้างป่า" ไม่ใช่ไล่ช้าง
"เพราะเวลาที่ช้างป่ามาเดินเที่ยวสวนจตุจักร เค้าก็เจอแต่คนเยอะแยะมากมายเช่นกัน"

ภาพจากเฟซบุ๊ค Patarapol Lotter Maneeorn


“เขาใหญ่” เข้มระวังช้างป่าอาละวาด เตือนมีกว่า 300 ตัว-ยึดคัมภีร์ 8 ข้อเผชิญหน้า (ชมคลิป)

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

        ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- หน.อุทยานฯ ระบุช้างป่าเขาใหญ่มีกว่า 300 ตัววนเวียนหากินในพื้นที่โดยรอบอุทยานฯ ประชาชน นักท่องเที่ยวพบเจอได้ตลอดเวลา แนะขอให้ปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำ ป้ายเตือน และ เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ เผยหลังเกิดเหตุช้างอาละวาดทำลายรถประชาชนบ่อยจัดชุดเคลื่อนที่เร็วลาดตระเวนและช่วยเหลือตลอด 24 ชม. ย้ำห้ามเลียนแบบคลิปเจ้าหน้าที่สั่งไล่ช้าง และให้ยึดคัมภีร์ 8 ข้อเมื่อเผชิญหน้า
       
       

       
       วันนี้ (12 ม.ค.) นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดเผยถึงกรณีที่ช้างป่าทำลายรถยนต์ประชาชนนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านไปมาบนเส้นทางถนนหมายเลข 3077 สายเขาใหญ่-ปราจีนบุรี ที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่บ่อยครั้ง และล่าสุดเหตุช้างป่าอาละวาดทำลายรถยนต์ประชาชนนักท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย 2 คัน ที่บริเวณหลักกิโลเมตร (กม.) ที่ 30 ต.ปากพลี อ.ปากพลี จ.นครนายก เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งบุกทำลายร้านอาหารหน้าที่ทำการอุทยานฯ เมื่อเช้ามืด (12 ม.ค.) ที่ผ่านมา ว่า จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการจากข้อมูลการวางแปลงสำรวจในการประมาณการ คาดว่าประชากรช้างป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณกว่า 300 ตัว มีการกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ และแวะเวียนเดินทางหาอาหารผ่านไปมาเป็นปกติของช้างป่า

“เขาใหญ่” เข้มระวังช้างป่าอาละวาด เตือนมีกว่า 300 ตัว-ยึดคัมภีร์ 8 ข้อเผชิญหน้า (ชมคลิป)
ล่าสุด 12 ม.ค. บุกทำลายร้านอาหาร หน้าที่ทำการอุทยานฯ
        ส่วนพื้นที่ที่พบช้างป่าเป็นประจำแทบทุกวันอยู่ในโซนเขต อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ หนองผักชี ถนนหมายเลข 3077 เขาใหญ่-ปราจีนบุรี หลัก กม.ที่ 29-30 ขึ้นมา ส่วนในฝั่งโซน จ.ปราจีนบุรี ที่พบบ่อยอยู่ใกล้น้ำตกเหวนรก ซึ่งเป็นบริเวณด่านช้างที่มีช้างผ่านเป็นประจำ ในหลัก กม.ที่ 20-30 โดยสามารถพบเจอช้างได้ตลอดเวลา ทั้งในลักษณะ “ช้างโทน” ที่มาหากินลำพัง และ “ช้างโขลง” ที่อาจเจอครั้งละ 15-20 ตัว ซึ่งโซนนี้ช่วงต้นปีนี้ได้ก่อเหตุทุบทำลายรถยนต์นักท่องเที่ยวแล้ว 2 ครั้ง รวมครั้งล่าสุดวันที่ 10 ม.ค.ด้วย
       
       โดยช่วงเวลาที่พบช้างป่ามากที่สุด คือ กลางคืนที่ช้างส่วนใหญ่มักออกหากินอาหาร ฉะนั้นทางอุทยานฯ จึงทำการปิดประตูไม่ให้รถยนต์สัญจรผ่านบนถนนสายเขาใหญ่-ปราจีนบุรี เส้นดังกล่าว ตั้งแต่ 21.00-06.00 น. ของทุกวัน

“เขาใหญ่” เข้มระวังช้างป่าอาละวาด เตือนมีกว่า 300 ตัว-ยึดคัมภีร์ 8 ข้อเผชิญหน้า (ชมคลิป)
        นายครรชิตกล่าวต่อว่า จุดที่มีการพบช้างอยู่เป็นประจำ ทางอุทยานฯ จะติดป้ายเตือนไว้ตลอด และจะพบเห็นมูลช้างหรือขี้ช้างอยู่ตามโป่งที่ช้างออกมาหากินประจำ แต่บางจุดป้ายจะถูกช้างทำลายทิ้งหมดแม้เจ้าหน้าที่จะไปทำเปลี่ยนใหม่หลายครั้งก็ถูกทำลายทิ้งเช่นเดิม เพราะช้างเขาคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม เช่นเดียวกับผู้คน และรถยนต์ ยานพาหนะต่างๆ ที่รุกล้ำเข้ามาในป่าซึ่งเป็นบ้านของพวกเขา ล้วนเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับช้างป่า และสัตว์ป่าทั้งนั้น
       
       ส่วนกรณีที่เกิดเหตุช้างป่าทำลายทรัพย์สิน รถยนต์ รถจักรยานของประชาชนนักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาบนถนนเขาใหญ่-ปราจีนบุรี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้นมีให้เห็นเป็นประจำ เพราะในเส้นทางดังกล่าวมีทั้งนักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปใช้เส้นทางนี้สัญจร ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ไปพบกับช้างป่ากำลังออกมาหากินบริเวณริมถนน หรือเดินข้ามถนนพอดี และไม่อาจปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ หรือข้อปฏิบัติที่แจ้งไว้ในเอกสารแผ่นพับอย่างละเอียด ซึ่งแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่ขึ้นมาเที่ยวบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็เป็นได้

“เขาใหญ่” เข้มระวังช้างป่าอาละวาด เตือนมีกว่า 300 ตัว-ยึดคัมภีร์ 8 ข้อเผชิญหน้า (ชมคลิป)
ประตูทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด้าน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
        เช่น อาจมีการบีบแตรรถยนต์เสียงดัง ลงไปถ่ายภาพช้าง ทำให้เกิดปัญหาสะสมรถติดยาว ไปกดดันช้างจนเกิดความเครียด จึงเข้าทำลายรถยนต์ ทรัพย์สินของประชาชนตามสัญชาตญาณของสัตว์ป่าเพื่อการป้องกันตัว ปกป้องถิ่น หรือขับไล่ผู้รุกราน ผู้รบกวน ก็เป็นได้ ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูผสมพันธุ์ซึ่งช้างเพศผู้มักตกมันมีนิสัยดุร้าย
       
       ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นอุทยานฯ ขนาดใหญ่ มีการจัดการผืนป่าด้วยระบบอุทยานมาตั้งแต่ปี 2505 ที่กรมอุทยานเข้ามาดูแลอย่างดี ทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิดมีความเป็นอยู่สงบเงียบตามวิถีชีวิตของสัตว์ป่าที่ได้รับการันตี หรือหลักประกันจนถูกยกย่องให้เป็นมรดกอาเซียนและได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในที่สุด ฉะนั้นนอกจากจะเป็นทรัพย์สมบัติของประเทศไทยแล้วยังเป็นทรัพย์สมบัติของคนทั้งโลกด้วย ซึ่งเป็นตัวที่บ่งบอกว่าพื้นที่เขาใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์
       
       ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะพบเจอกับช้างป่า สัตว์ป่าต่างๆ ได้ง่าย ฉะนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องศึกษาข้อมูลด้วยว่า หากเจอสัตว์ป่าแล้วควรจะทำอย่างไร และจะร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าเหล่านี้ได้อย่างไร

“เขาใหญ่” เข้มระวังช้างป่าอาละวาด เตือนมีกว่า 300 ตัว-ยึดคัมภีร์ 8 ข้อเผชิญหน้า (ชมคลิป)
        คุมเข้มจัดชุดเคลื่อนที่เร็วออกตรวจ 24 ชม.
       
       นายครรชิตกล่าวต่อว่า ทางอุทยานฯ เองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่ได้บอกให้นักท่องเที่ยวหรือประชาชนปฏิบัติตนตามเอกสารที่แจกไปเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าหน้าที่ได้มีการประชาสัมพันธ์ไว้ทุกจุดบริการนักท่องเที่ยว และมีป้ายสื่อความหมายต่างๆ ตามจุดที่มีสัตว์เดินข้าม พร้อมกับส่งสายตรวจชุดเคลื่อนที่เร็วทั้งรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ จำนวน 2 ชุด ชุดละ 4 คน คอยออกตรวจลาดตระเวน และ ดูแลติดตามรถยนต์ที่วิ่งในเส้นทางดังกล่าวตลอดเวลา ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่มีอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงความเชี่ยวชาญ และการใช้ท่าทาง คำพูด ส่งสัญญาณกับช้างป่าเท่านั้น
       
       สิ่งสำคัญที่อยากฝากไปถึงนักท่องเที่ยว คือ ให้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเข้าไปท่องเที่ยวยังพื้นที่ต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจากสถิติพบว่ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปี ล่าสุดตลอดปี 2557 ที่ผ่านมามีประชาชนนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่รวม 1,186,175 คน แบ่งเป็น ชาวไทย 1,141,581 คน ชาวต่างชาติ 44,594 คน
       
       ขณะที่ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดยาวเทศกาลต่างๆ จะมีนักท่องเที่ยวมากถึงวันละ 15,000-20,000 คน และล่าสุดช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา ทำสถิตินักท่องเที่ยวหนาแน่นมากที่สุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2557 ถึง 23,000 คน

“เขาใหญ่” เข้มระวังช้างป่าอาละวาด เตือนมีกว่า 300 ตัว-ยึดคัมภีร์ 8 ข้อเผชิญหน้า (ชมคลิป)
นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
        ห้ามเลียนแบบคลิป สั่งไล่ช้างเองเด็ดขาด
       
       ส่วนกรณีคลิปวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งไล่ช้างป่าให้ออกจากถนนหลบทางให้รถยนต์นักท่องเที่ยวผ่านไปก่อน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังถูกนำเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียนั้น ขอเตือนว่าอย่าได้ทำตามหรือลอกเลียนแบบเด็ดขาด เพราะเจ้าหน้าที่เรามีความเชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับช้างป่าอยู่แล้ว ซึ่งไม่เจอกันเฉพาะบนถนน แต่เราเจอทั้งในป่าด้วย เจ้าหน้าที่จะรู้ดีในการปฏิบัติต่อช้างป่าเหล่านี้ แต่หากนักท่องเที่ยวไปทำตามอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
       
       เปิดคัมภีร์ 8 ข้อปฏิบัติเมื่อเผชิญหน้าช้างป่า
       
       นายครรชิตกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเจอกับช้างป่าบนถนนในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือในระยะเผชิญหน้านั้น ทางอุทยานฯ ได้แนะนำไว้ในเอกสารแจกจ่ายนักท่องเที่ยวอย่างละเอียดชัดเจน 8 ข้อหลัก อาจเรียกได้ว่าเป็นคัมภีร์ 8 ข้อปฏิบัติเมื่อต้องเผชิญหน้ากับช้างป่า ประกอบด้วย
       
       1. ขอให้หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 300 เมตร หากช้างเดินเข้าหาให้เคลื่อนรถหนีรอจนกว่าช้างจะหลบจากถนนจึงเคลื่อนรถผ่านไป
       
       2. อย่าใช้แตรรถหรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธและตรงเข้ามาหาเราได้
       
       3. งดการใช้แฟลซถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจและตรงเข้ามาทำร้ายได้
       
       4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที
       
       5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก
       
       6. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืนให้ใช้ไฟสูงแล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์หรือปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆ เคลื่อนรถให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งที่สุด
       
       7. โดยปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้นๆ เพียง 2-3 ครั้ง หากตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง
       
       และ 8. เมื่อช้างอารมณ์ดี จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้าใกล้ก็ตาม แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้วางใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงให้สังเกตอารมณ์และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอ
       
       ส่วนวิธีสังเกตอารมณ์ของช้างอย่างง่าย ๆ คือ 1. เมื่อช้างอารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หากแกว่ง ใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา 2. แต่เมื่อช้างอารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัด งวงจะนิ่งแข็ง และอยู่นิ่งจ้องมาที่เรา
       
       หากเกิดเหตุฉุกเฉินโทรฯ 089-1553965 , 089-0926529 และ 086-0926531

“เขาใหญ่” เข้มระวังช้างป่าอาละวาด เตือนมีกว่า 300 ตัว-ยึดคัมภีร์ 8 ข้อเผชิญหน้า (ชมคลิป)
สำรวจเส้นทาง เขาใหญ่-ปราจีนบุรี ที่ช้างป่าก่อเหตุบ่อยครั้ง
        นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติในการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือ 1. การขับรถเร็วเกิน 60 กม./ชม. ผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ 2. การให้อาหาร ลิง สัตว์ป่า ทำให้สัตว์ป่าก้าวร้าว และเป็นอันตราย 3. กรณีทิ้งขยะลงในที่รองรับเท่านั้น 4. ห้ามส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นและสัตว์ป่า 5. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้ามา 6. ห้ามเครื่องดนตรีทุกชนิด 7. ห้ามเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500-2,000 บาท


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : หมอล็อต แนะข้อปฏิบัติ เมื่อเจอช้างป่า บนถนน ห้ามดับเครื่อง

view