สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รถติด ป่าแตก แย่งกินแย่งใช้ เที่ยวไทยเทศกาล

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ลมหนาวมาเยือนพร้อมกับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ดึงดูดให้คนจำนวนไม่น้อยพากันแพ็กกระเป๋า มุ่งหน้าสู่สถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อกันอย่างคึกคัก ทว่าจำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนรถทะลักล้นจนเกินรับไหว บวกพฤติกรรมไร้ระเบียบของคนบางกลุ่ม ความวุ่นวายโกลาหลจึงเกิดขึ้น ทั้งรถติดยาวเหยียด ขยะกองเป็นภูเขา นักท่องเที่ยวแย่งกันกินแย่งกันใช้ กลายเป็นประสบการณ์น่าสะพรึงกลัวต้อนรับปีใหม่

คำถามเกิดขึ้นตามมาว่าปีหน้าเรายังอยากจะเห็นภาพเหล่านี้อยู่อีกหรือ?

คนมา ป่าแตก

ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติหลายแห่งกลายเป็นสถานที่เคาท์ดาวน์ของนักท่องเที่ยว แต่ด้วยขนาดพื้นที่อันจำกัด กำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอรับมือ “มวลมหานักท่องเที่ยว”ที่หลั่งไหลเข้ามานับหมื่นชีวิต ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ป่าแตกอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ไม่ว่าจะภาพช้างป่าเผชิญหน้ากับรถยนต์บนเขาใหญ่ การจราจรติดหนึบบนดอยอินทนนท์ ภาพขยะกองโตที่เขาค้อ นักท่องเที่ยวแห่ขึ้นไปถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นบนภูชี้ฟ้ากันจนแทบไม่มีที่ยืน

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยพ.ศ.นี้ได้เป็นอย่างดี

"น่าเห็นใจนะครับ วันหยุดมีอยู่แค่นั้น หลายคนก็ไม่ได้ลาหยุดไปเที่ยวได้ตามใจชอบ เราจึงได้เห็นภาพแบบนี้ จริงๆแล้วสถานที่ท่องเที่ยวมีมากมาย เพียงแต่ว่าเรามักไปเที่ยวอยู่ไม่กี่แห่ง ที่ที่กำลังดัง ที่ที่กำลังฮิต อย่างเช่นม่อนแจ่ม ภูชี้ฟ้า ภูทับเบิก ภูกระดึง คนก็จะแห่กันไป แต่ส่วนใหญ่ไปแล้วผิดหวัง เพราะแทนที่จะได้ชื่นชมใกล้ชิดธรรมชาติ กลับกลายเป็นความทุกข์"เป็นคำบอกเล่าของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักอนุรักษ์ชื่อดัง

เขามองว่าเป็นเรื่องตลกที่เห็นคนจำนวนไม่น้อยขับรถดั้นด้นมาไกลหลายร้อยกิโลเมตร เพียงเพื่อเปลี่ยนสถานที่กินเหล้า-ร้องเพลง ขนเมืองเข้าไปในป่า แต่ไม่เคยคิดจะศึกษาทำความรู้จักกับธรรมชาติของสถานที่นั้นอย่างแท้จริง

"อย่างที่ดอยอินทนนท์ ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือรถยนต์ เราพบว่ามันมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนมีรถก็อยากจะใช้รถส่วนตัวเพื่อความสะดวกสบาย ในที่สุดก็ไม่มีใครสบายสักคน เพราะรถไปกันเยอะ ถนนก็แคบ ทำให้รถติด ที่สำคัญคือคุณภาพของนักท่องเที่ยวเป็นการเที่ยวแบบฉาบฉวย ถ่ายป้าย เช็คอิน อัพสเตตัสเฟซบุ๊ก ไปตักตวงความสุขเฉยๆโดยไม่ปรับตัวเองเข้าหาธรรมชาติ ผมศึกษาเรื่องนกมานานเป็นสิบปีพบว่าประชากร นก ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรอบถนนบนดอย เมื่อก่อนนกเยอะแยะเลย พอจราจรคับคั่งเขาก็หลบไปอยู่ในป่าลึก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะกิจกรรมของมนุษย์ไปเบียดบังวิถีชีวิตการหาอยู่หากินของสัตว์"

จำกัดรถยนต์ จำกัดนักท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ถือเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากที่สุดปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เนื่องจากอากาศเย็นสบายตลอดปี ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ใกล้เมืองหลวง จึงไม่น่าแปลกที่คนกรุงจะเลือกเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ

ครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เผยว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 30 ธ.ค.-4 ม.ค. มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นคนต่อวัน

"มีการสำรวจจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา จำนวนที่พักค้างคืนทั้งบ้านพักและจุดกางเตนท์ เช็คทางเข้าทุกด่าน พร้อมป้ายประกาศว่าการจราจรติดขัดให้นักท่องเที่ยวประกอบการตัดสินใจ และหากพบว่ามีนักท่องเที่ยวเต็มพื้นที่จนไม่สามารถรองรับได้ก็ปิดด่าน อย่างวันที่ 31 ธ.ค.ซึ่งถือว่าพีคที่สุด เราปิดด่านตั้งแต่ 5 โมงเย็น เพราะถ้าขืนปล่อยให้ขึ้นมามากกว่านี้มันจะล้นออกไปในพื้นที่ที่เราไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก เลยออกไปในจุดที่เราไม่สามารถบริหารจัดการได้ทำให้การสอดส่องดูแลไม่ทั่วถึง จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่อยู่อาศัยในพื้นที่"

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยืนยันว่า คำนึงถึงเรื่องการดูแลระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นหลัก ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญรองลงมา หากมีคนเข้ามาเกินขีดจำกัดก็ต้องมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

พรเทพ เจริญสืบสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เล่าว่า จากการประชุมวางแผนร่วมกับอำเภอจอมทอง และทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดให้วันที่ 25 ธ.ค. - 4 ม.ค. เป็นช่วงสิบวันอันตราย หมายถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก

"คาดว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาช่วงปีใหม่ราว 1.3 แสนคนในช่วงสิบวันอันตราย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สามารถรองรับคนได้เพียง 5 พันคนเท่านั้น แต่หลายกลุ่มมาเช้าเย็นกลับหมุนเวียนกันไปก็เพิ่มได้กว่า 1-2 หมื่นคน โดยเฉพาะวันพีคที่สุด 31 ธ.ค.มีคนมาเที่ยว 2.4 หมื่นคน ส่วนที่จอดรถรองรับได้ 500 คัน เรื่องคนเราไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องที่จอดรถ ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่เรารณรงค์ให้คนใช้รถสาธารณะ หรือรถสองแถวขึ้นไปเที่ยวบนดอยอินทนนท์ ราคาแค่ 60 บาท แต่คนไม่ค่อยเชื่อ ทั้งที่เราประชาสัมพันธ์สองข้างทางตลอดว่าขึ้นไปไม่ได้แล้ว รถเต็ม แต่คนก็ยังขับรถขึ้นไปปรากฎว่ารถติด ไม่มีที่จอด สุดท้ายก็อดเที่ยว ต้องขับลงมาอย่างเซ็งๆ

เรื่องการจำกัดนักท่องเที่ยว ผมเห็นด้วยนะ แต่ต้องเป็นประชามติจริงๆ ห้ามโวยวาย ทุกคนต้องเคารพกติกา แต่ในความเป็นจริงแล้วยาก จะโดนต่อว่าจากประชาชน บางคนด่าเจ้าหน้าที่ว่าอุตส่าห์มาตั้งไกล เสียเงินแล้วจะมาห้ามทำไมอีก คนไทยด้วยกัน สิทธิไม่เท่าเทียมกัน ส่วนรณรงค์ให้คนขึ้นรถสาธารณะถือได้ผลน่าพอใจครับ คนขับรถสองแถวก็คือชาวบ้านก็มีรายได้เสริม มีความชำนาญทาง ไม่เกิดอุบัติเหตุแม้แต่ครั้งเดียว แถมยังเห็นได้ว่ามีคนเอารูปพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆบนยอดดอยมาแชร์กันเยอะขึ้น เพราะได้มีโอกาสขึ้นไปกันเยอะขึ้น"

นพ.รังสฤษฎ์สนับสนุนเต็มที่ เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาลงได้เยอะ

"เรื่องจำกัดคน จำกัดรถยนต์ที่จะขึ้นไปเที่ยวบนดอยเป็นเรื่องที่คุยกันมานาน ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ามีปัญหา ผลกระทบมันรุนแรงจริงๆ ทั้งขยะ เสียง มลพิษต่างๆ แต่ไม่มีการทำอย่างจริงจัง อาจติดขัดตรงที่คงกลัวว่าประชาชนจะต่อต้าน ผมว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข พูดมานานแต่ไม่เอาจริงกัน ต้องจำกัดคนที่มาเที่ยว เพราะสามารถประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าได้ เช่น สถานที่รองรับคนได้จำนวนเท่าไหร่ รถจำนวนเท่าไหร่ ที่พักเต็มแล้วหรือยัง บางคนมาเช้าเย็นกลับก็ต้องแจ้งให้ทราบว่าจำกัดคนขึ้นไปเที่ยวเท่านั้นเท่านี้ ถ้าคิดว่าจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้ ก็น่าจำกัดรถยนต์ รณรงค์ให้คนหันมาใช้รถสาธารณะแทน"

เที่ยวยังไงให้เวิร์ค

ครรชิต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มองว่า ปีนี้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยดีขึ้น

"นักท่องเที่ยวมีตระหนักและสำนึกมากขึ้น ให้ความร่วมมือในการเก็บขยะออกจากพื้นที่ตามนโยบายขยะคืนถิ่น ไม่ใช้ภาชนะโฟม ไม่มีจุดโคมลอย ยิงปืน จุดประทัด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นคือ สัตว์ป่าออกมาบนถนน ไม่ว่าจะด้วยการให้อาหารลิง ทิ้งขยะไม่เป็นที่จนสัตว์ลงมากินแล้วอาจเกิดอันตราย ถูกรถชน ปีต่อๆไปเราจะประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการรณรงค์ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ส่งเสียงดัง และไม่ขับรถเร็ว"

พรเทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มองว่าต้องปลูกฝังพฤติกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้ลูกหลานตั้งแต่ยังเล็กๆ

"การมาเที่ยวขอให้ตั้งใจก่อน มีการวางแผนการเดินทาง ฟังข่าว ทำการบ้าน ที่ไหนมีอะไร จะได้จัดเวลาถูก จะช่วยลดปัญหาไปได้มาก"

สุดท้าย นพ.รังสฤษฎ์ แนะว่าคนไทยควรปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวเสียใหม่

"ถ้าคนเรามีกิจกรรมในการที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติเช่น ศึกษาพรรณไม้ ดูนก ดูสัตว์แปลกๆ ถ้าเรารู้จักธรรมชาติมากพอ ก็จะรู้จักชื่นชมกับธรรมชาติได้ง่ายๆที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปสถานที่ยอดฮิต การท่องเที่ยวไม่ใช่เพื่อมาอวดกันว่าฉันไปมาแล้ว แต่ควรไปเพื่อนเรียนรู้ ไปรู้จักสถานที่นั้นอย่างใกล้ชิด ไม่จำเป็นต้องแห่กันไปที่เดียวกันเยอะๆ ถ้าคุณห่วงใยธรรมชาติจริง ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยง อยากให้กระจายกันไป ไม่อยากให้ไปพร้อมกัน การที่คนแห่ไปอยู่จุดใดจุดหนึ่งในจำนวนมากเกินไปจะเป็นการทำร้ายสถานที่ให้บอบช้ำลงไปอีก"

มาตรการจำกัดรถยนต์ จำกัดนักท่องเที่ยว จะไม่ได้ผลหากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย มนุษย์พยายามปรับธรรมชาติเข้าหาตลอด ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับตัวเข้าหาธรรมชาติบ้าง

ภาพประกอบจาก...Chanat Katanyu , Pattarapong Chatpattarasill , Ponlawat Srijun , เฟซบุ๊กเพจคนอนุรักษ์


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : รถติด ป่าแตก แย่งกินแย่งใช้ เที่ยวไทยเทศกาล

view