สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลังงานถ่านหินสะอาด ดีจริงหรือบิดเบือน?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"..ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะใช้ดักจับปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้.."

โรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงเป็นประเด็นถกเถียงที่หาข้อยุติไม่ได้ ฝากฝั่งรัฐบาลและหน่วยงานรัฐต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับความมั่นคงด้านพลังงาน

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งโปรโมท "ถ่านหินสะอาด" ว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาดขึ้น และราคาถูก พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ทั้งในสื่อหลักต่างๆ และในชุมชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีใหม่นี้

ส่วนฝ่ายประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนต่างวิตกกังวลถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จึงมีการรวมตัวทำกิจกรรมคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่ถูกหยิบยกพูดถึงแทบจะทุกครั้งคือ กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในหมู่บ้านรอบโรงไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 35 ปี ปัจจุบันยังมีการฟ้องร้องกันอยู่

ล่าสุด คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้จัดงานสัมมนาขึ้น ในหัวข้อ "ถ่านหินสะอาดและวิกฤตโลกร้อน-เส้นทางสู่ความมั่นคงพลังงานไทย?" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการผลักดัน "ถ่านหินสะอาด" ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทั่วโลกกำลังหันหลังให้กับพลังงานถ่านหิน

นอกจากนี้ยังมีบริบทแรงกดดันจากท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศที่ไม่ยอมแลกทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของชุมชนกับมลพิษที่จะเกิดจากการผลิตพลังงานด้วยเชื้อเพลิงถ่านหิน

นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ ตัวแทนกลุ่มจับตาพลังงาน บอกว่า ผลกระทบจากเหมืองลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ คือรูปธรรมชัดเจนที่สุดของการใช้พลังงานถ่านหินของไทยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

เขาบอกว่า รูปธรรมที่ชัดเจนในที่นี้คือ การไม่ได้รับความเป็นธรรมในแง่การชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มิหนำซ้ำหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบไม่ปฏิบัติตามกฎในการใช้พื้นที่เหมืองที่ต้องมีการปรับปรุง กลบหลุมขุดถ่านหิน ปลูกป่าทดแทน แต่กลับนำไปสร้างสนามกอล์ฟ และปลูกสวนพฤกษชาติ

"ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ต่างๆ กำลังส่งเสียงคัดค้านโครงการเหล่านี้"

อย่างไรก็ดี ในเว็บไซต์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานประเทศไทย) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดไว้ว่า สามารถกำจัดปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ แต่สำหรับปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีในการควบคุมให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศที่เป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในภูมิภาคเอเชีย คือ ญี่ปุ่น ซึ่งนำมาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการผลิตไฟฟ้า

ทว่ารายงานของกลุ่มกรีนพีซ กลับชี้ว่า ในขั้นตอนการทำความสะอาดถ่านหินทำให้เกิดสารอันตรายจำนวนมาก โดยการนำถ่านหินไปกองไว้รวมกัน และให้น้ำฝนเป็นตัวชะล้าง โดยน้ำฝนจะชะเอาสารพิษออกจากถ่านหินแล้วไหลลงสู่แม่น้ำ และลำธาร น้ำเสียจะเต็มไปด้วยกรดและโลหะหนักต่างๆ

เช่นเดียวกับขั้นตอนการดักจับกากของเสียเหล่านี้ก่อนที่จะถูกปล่อยออกทางปล่องของโรงไฟฟ้า กากของเสียที่ถูกดักจับเหล่านี้จะถูกนำไปทิ้งกองไว้บนดิน หรือนำไปฝังกลบ ส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะเพิ่มสูงตามไปด้วย

นอกจากนี้ รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินและการผลิตความร้อนที่ใช้ถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของสารปรอทที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ และยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะใช้ดักจับปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

กรีนพีซยังอ้างรายงานผลกระทบของถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของแหล่งน้ำทั้งหมดในจังหวัดกาลิมันตันใต้ สุ่มเสี่ยงจากการปนเปื้อนของเสียจากเหมืองถ่านหิน และหลายกรณีพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำเสียจากกิจการเหมือง

"ตัวอย่างน้ำเสีย 22 จาก 29 ตัวอย่างที่เก็บได้จากเหมืองถ่านหินจำนวนห้าแห่งในจังหวัดกาลิมันตัน มีสภาพเป็นกรด และเป็นค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐานของรัฐบาลกำหนดไว้"

สำหรับ อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินประเภทให้ความร้อนรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อันดับสองของโลก แต่จากการทำเหมืองถ่านหินได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และยังเพิ่มอัตราการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 460 ล้านตันภายในปี 2563 ซึ่งสวนทางกับคำมั่นที่อินโดนีเซียให้ไว้ในปี 2552 ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ร้อยละ 41 ภายในปี 2563


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : พลังงานถ่านหิน สะอาด ดีจริง บิดเบือน

view