สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำนำข้าวฝีแตก รัฐบาลปูยังแหลรายวัน ชาวนาฮึ่ม-ธกส.ระวังเจ๊ง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การ แถและแหลรายวันโครงการจำนำข้าวไม่มีปัญหา รัฐบาลมีปัญญาหาเงินมาจ่ายเงินให้กับชาวนาอย่างแน่นอน กลายเป็นเรื่องที่โกหกหน้าด้านๆ กันต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะนาทีนี้ชาวนาไม่ยอมถูกหลอกให้คอยเก้อ ถ้ามีจริงก็จ่ายมาอย่าช้า ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซึ่ง ฝ่ายบริหารอยากสนองใบสั่งนายใจจะขาดเหมือนเคย ก็เจอแรงต้านจากสหภาพฯ ของแบงก์ที่ก่อกระแสคัดค้านไม่ให้รัฐบาลมาล้วงมาควักเอาเงินฝากของลูกค้าออก ไปจ่ายหนี้จำนำข้าวแม้ว่าถึงที่สุดรัฐบาลก็รีดเอาจนได้ ส่วนราคาคุยโม้เดี๋ยวก็ได้เงินจากการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ก็อาจต้องรอถึงชาติหน้า อีกทั้งการตั้งท่าลักไก่ไปกู้เงินก็เจอเปิดโปงจนหน้าหงาย แถมประตูคุกยังเปิดรอจนใส่เกียร์ถอยแทบไม่ทัน
       
       เห็นๆ กันอยู่ว่า โครงการจำนำข้าวออกอาการฝีแตกยากเกินเยียวยา ปานนั้น “แหลเพื่อพี่รายวัน” นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม พร้อมลูกหาบทั้ง “เดอะโต้ง” นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง นายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพาณิชย์ ก็ยังไม่หยุดโกหก ไม่ทบทวนแก้ไขนโยบายที่ผิดพลาด มิหนำซ้ำยังใช้วิชามารป้ายสีว่าเป็นเพราะมีม็อบไปปิดล้อมกระทรวงการคลัง ปิดล้อมกระทรวงพาณิชย์ จึงทำให้เอาเงินออกมาจ่ายให้ชาวนาไม่ได้ ไม่นับบทดราม่าหาเสียงตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ ยอมเจ็บ ยอมถูกด่า เพื่อพี่น้องชาวนา
       
       แต่ไม่ว่าจะโป้ปดมดเท็จอย่างไร ความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำ ดังนั้นโครงการจำนำข้าวจึงโกลาหลตั้งแต่ต้นปีศักราช 2557 โดยกลุ่มชาวนา 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย พิจิตร, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, สุโขทัยและนครสวรรค์ นำโดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราะ ประธานเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือตอนล่าง ระดมกำลังมาชุมนุมหน้าธ.ก.ส. สาขาวิชรบารมี จ.พิจิตร ตั้งแต่ 8 โมงเช้าของวันอังคารที่ 7 ม.ค. สอดรับกับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันเดียวกันที่มีวาระการพิจารณาโครงการรับจำนำข้าวในประเด็นสำคัญคือ การหาเงินจ่ายจำนำข้าวที่ค้างมาหลายเดือนแล้วและรัฐบาลรับปากกับชาวนาว่าวัน ที่ 15 ม.ค. 2557 นี้ มีจ่ายแน่นอน
       
       การขึ้นม็อบทวงเงินจำนำข้าวที่รัฐบาลค้างจ่ายในวันดังกล่าว เป็นการสร้างแรงกดดันโดยตรงต่อการพิจารณาตัดสินใจของครม. และม็อบชาวนาคราวนี้ก็ได้ยกระดับการกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงเช้าที่ชุมนุมโดยใช้ผิวจราจรฝั่งขาล่องบนถนนหมายเลข 117 นครสวรรค์-พิจิตร-พิษณุโลก ห่างจากแยกปลวกสูงประมาณ 2 กม. 2 ช่องทาง คงเหลือ 1 ช่องทาง ให้สัญจรได้ทั้งขาขึ้น-ขาล่องได้ พอตกบ่ายเวลา 13.15 น. กลุ่มชาวนาได้ปิดตายทางหลวงหมายเลข 117 ทั้งขาขึ้น-ขาล่อง ทำให้การจราจรเป็นอัมพาตทันที พร้อมกับยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.ต้องชำระเงินให้ชาวนาที่นำใบประทวนไปยื่นที่ธ.ก.ส.ภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ให้ครบทุกราย 2.รัฐบาลต้องรับผิดชอบดอกเบี้ย ที่ให้ชาวนาไปกู้ธ.ก.ส.จำนวน 20% ของวงเงินใบประทวน และ 3.ขอเลื่อนชำระหนี้ธ.ก.ส.แบบปลอดดอกเบี้ย 1 ปี โดยให้เสร็จก่อนวันที่ 15 ม.ค.นี้ ไม่เช่นนั้นจะยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาลแทน
       
       นับเป็นการเคลื่อนไหวกดดันของชาวนาที่รู้ขี้รู้ใส้โครงการรับจำนำ ข้าวแล้วว่าเป็นประชานิยมหลอกลวง เอาข้าวของชาวนาไปแต่ไม่เอาเงินมาจ่าย สร้างความเดือดร้อนถ้วนหน้า ไม่เฉพาะชาวนาแต่ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งร้านขายปุ๋ย เคมีภัณฑ์ รถเกี่ยวข้าว บรรดาเถ้าแก่ที่ให้สินเชื่อกับชาวนาลงทุนปลูกข้าวต่างทุ่มทุนเป็นสปอนเซอร์ สนับสนุนการชุมนุมเรียกร้องเงินจำนำข้าวคราวนี้แบบไม่อั้น และม็อบชาวนาก็พร้อมชุมนุมยาวร่วมกันกดดันรัฐบาลชนิด “ไม่ได้เงิน ไม่เลิก” เนื่องจากที่ผ่านมาถูกหลอกหลายครั้งหลายหนแล้ว
       
       จนกระทั่งเวลา 15.45 น. นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจ.พิจิตร และนายขวัญชัย เกิดขันหมาก ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.จ.พิจิตร ได้แจ้งต่อผู้ชุมนุมว่าได้รับคำยืนยันจากรักษาการรมช.กระทรวงการคลังว่า รัฐบาลได้ดำเนินการว่ารัฐบาลได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามโครงการรับ จำนำข้าว ดังนี้ 1. ครม.อนุมัติวงเงินให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าว 7 หมื่นล้าน เพื่อนำมาจ่ายให้เกษตรกรทั่วประเทศ คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ทันในวันที่ 15 ม.ค. นี้ 2. ครม.ทำหนังสือขออนุมัติจ่ายเงินอีก 4 หมื่นล้านจาก กกต. เนื่องจากเป็นช่วงเลือกตั้ง เพื่อนำไปจ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าวส่วนจะใช้เวลาเท่าใดขึ้นอยู่กับ กกต. 3. ข้อเรียกร้องซึ่งเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยเงินกู้และการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเร่งประสานกับรัฐบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือ ทำให้ผู้ชุมนุมพอใจสลายการชุมนุมแต่จะรออีกทีว่าวันที่ 15 ม.ค.นี้ ได้เงินจริงหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะมีการชุมนุมอีกครั้งแน่นอน
       
       ถึงจะโป้ปดเอาม็อบชาวนาลงได้ แต่ก็เป็นแค่การแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เหมือนที่ผ่านมา เพราะของจริงคือ ณ เวลานี้ คลังถังแตก ไม่มีเงินจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตตามที่ครม.อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ โครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ภายใต้กรอบวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 270,000 ล้านบาท ดังรายงานที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เสนอต่อที่ประชุมครม.ในวันดังกล่าว ที่ว่า
       
       “ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2556 กำหนดเงื่อนไขให้กระทรวงพาณิชย์ต้องดำเนินการให้มีการใช้เงินในกรอบวงเงิน ทุนหมุนเวียนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 ภายใต้กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 90,000 ล้านบาท และเงินกู้ที่กระทรวงการคลัง จัดหาให้จำนวน 410,000 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.2556 นั้น ....
       
       “กระทรวงการคลัง ขอเรียนว่า กระทรวงการคลังได้ประสานงานกับ ธ.ก.ส. แล้ว ขอรายงานผลการดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลทาง การเกษตรตามนโยบายรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2556 ว่าได้มีการใช้เงินในกรอบวงเงินหมุนเวียนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ณ วันที่ 31 ธ.ค.2556 เป็นจำนวนรวม 463,805 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
       
       “1.เงินกู้ที่กระทรวงการคลังได้จัดหาเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ภายใต้กรอบวงเงินกู้ ไม่เกิน 410,000 ล้านบาท โดยมีหนี้คงค้างสำหรับโครงการดังกล่าว ณ วันที่ 31 ธ.ค.2556 เป็นจำนวนรวม 396,756 ล้านบาท ยังคงเหลือกรอบวงเงินกู้ จำนวน 13,244 ล้านบาท (410,000-396,756 ล้านบาท)
       
       “2.ธ.ก.ส.ได้ใช้เงินทุนหมุนเวียนของ ธ.ก.ส.ภายใต้กรอบวงเงิน 90,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2556 ธ.ก.ส. ได้ใช้เงินทุนไปแล้ว สำหรับปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 จำนวนรวม 37,994 ล้านบาท และปีการผลิต 256/57 จำนวน 29,055 ล้านบาท คงเหลือวงเงินอีก จำนวน 22,951 ล้านบาท (90,000-37,994-29,055 ล้านบาท)”
       
       นั่นเป็นหลักฐานยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ที่ต้องใช้เงินจำนำข้าวมากถึง 270,000 ล้านบาท มีเงินทุนหมุนเวียนมาใช้สำหรับโครงการนี้ไม่เพียงพอดังตัวเลขวงเงินคงเหลือ ข้างต้น ดังนั้นนายกิตติรัตน์ จึงลักไก่ขอกู้เงินเพื่อนำมาใช้จำนำข้าว 1.3 แสนล้านบาทเพิ่มเติม แต่แผนนี้กลับล่มไม่เป็นท่าเพราะพวกกลัวคุก ครม.จึงโยนให้นายกิตติรัตน์ กลับไปถาม กกต.ก่อนว่าสามารถดำเนินการในช่วงนี้ได้หรือไม่เพราะเป็นเพียงแค่รัฐบาล รักษาการ และอีกประเด็นที่สำคัญคือ นายกิตติรัตน์ อ้างว่าการกู้เงินนี้เป็นโครงการต่อเนื่องที่ทำตามมติครม.เดิมเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2556 นั้น ความจริงแล้วใช่อย่างนั้นหรือไม่
       
       แต่ขณะที่ยังไม่รู้ว่าการกู้เงินจะออกหัวออกก้อยกระทรวงการคลังก็ไปล้วงเอาเงินจาก ธ.ก.ส.มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน โดยนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ครม.มีมติว่าในระหว่างที่รอเงินจากการระบายข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ และการพิจารณาเรื่องการกู้เงิน ครม.รับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ธ.ก.ส.ใช้สภาพคล่องของธนาคารสำรอง จ่ายไปก่อนวงเงินไม่เกิน 5.5 หมื่นล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่รอเงินจำนำข้าวจากใบประทวนที่ออกไป แล้ว ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดยังมียอดเงินค้างจ่ายตามใบประทวนอีก 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านี้จ่ายไปแล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
       
       ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ นายประสิทธิ์ พาโฮม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธ.ก.ส. ยืนยันว่า รัฐบาลไม่สามารถนำเงินที่เป็นสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ไปใช้ในการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวได้ เพราะเป็นเงินทุนหมุนเวียนของธนาคาร และ ธ.ก.ส.ไม่มีหน้าที่นำเงินไปจ่ายในโครงการนี้ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องนำเงินมาให้กับ ธ.ก.ส.ใช้ในการดำเนินโครงการ โดยเงินในการดำเนินนโยบายรัฐบาล กับเงินสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.เป็นเงิน 2 ส่วนที่แยกจากกันโดยเด็ดขาด
       
       ประเด็นสำคัญนอกจากการมาล้วงเอาเงินฝากจาก ธ.ก.ส. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานะของธนาคารในอนาคตหากรัฐบาลยังแก้ไขปัญหาง่ายๆ แบบนี้และผู้บริหารธ.ก.ส.ก็เอาแต่สนองนโยบาย เรื่องสำคัญยิ่งกว่าที่ต้องจับโกหกนายกิตติรัตน์ และรัฐบาลรักษาการนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็คือ การกล่าวอ้างว่า การกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1.3 แสนล้านนั้นเป็นการกู้ต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการค่ายทีดีอาร์ไอออกมาแฉกลับจนหน้าหงาย
       
       ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร รักษาการผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง กกต. และ ป.ป.ช. กรณีการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทเพื่อโปะการรับจำนำข้าว โดยอ้างถึงเว็บไซต์ข่าว "ไทยพับลิก้า" ที่รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ ได้ทบทวนแผนการกู้เงินของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2557 และได้พิจารณากรอบวงเงินรวมที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 มีวงเงินไม่เกิน 270,000 ล้านบาท แหล่งเงินที่จะใช้มาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ กระทรวงคลังจะจัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้ธกส. 130,000 ล้านบาท และเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์
       
       "รักษาการรมว.กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากนำมติของคณะกรรมการฯรายงานให้ที่ประชุมครม.ทราบ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะเริ่มดำเนินการกู้เงินจำนวน 130,000 ล้านบาทให้ธ.ก.ส.ทันที เพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้นำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลในโครงการรับจำนำ ข้าวรอบที่ 1 ปี 2556/57 แต่ยังไม่ได้รับเงินกว่า 1 แสนล้านบาท รักษาการรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วงเงินกู้ 130,000 ล้านบาทนี้ อยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ จึงไม่ขัดหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการเลือกตั้ง เพราะถือเป็นนโยบายต่อเนื่องที่เคยผ่านการอนุมัติจากครม.มาแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556"
       
       ประเด็นสำคัญที่ดร.นิพนธ์ ตั้งคำถามก็คือ วงเงินกู้จำนวน 130,000 ล้านบาทนี้ถือเป็นนโยบายต่อเนื่อง หรือไม่
       
       คำตอบชัดเจนของเรื่องนี้มาจาก ผู้อำนวยการสบน. ที่ระบุว่า กรอบวงเงินการจำนำข้าวปี 2556/57 จำนวน 270,000 ล้านบาท ถือเป็นกรอบวงเงินใหม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรอบวงเงินเดิม 500,000 ล้านบาท ที่ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556
       
       มติ ครม. เมื่อ 3 กันยายน 2556 อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาทจริง และให้กระทรวงพาณิชย์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคม
       
       ความเห็นของกระทรวงการคลัง ที่ส่งให้กับครม.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 คือ วงเงินสำหรับดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 (จำนวน 270,000 ล้านบาท) จะต้องอยู่ภายใต้กรอบสินเชื่อ 410,000 ล้านบาท และเงินทุนธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท ตามที่ครม.ได้มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556
       
       ก่อนที่จะยุบสภา ครม. ยังไม่เคยมีมติเพิ่มกรอบวงเงินสำหรับการจำนำข้าวปี การผลิต 2556/57 ถ้าอย่างนั้นกรอบวงเงินจำนำข้าวปี 2556/57 ก็ยังต้องคงอยู่ที่ 500,000 ล้านบาท ตามที่ครม. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556
       
       คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะและครม.รักษาการ ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะเพิ่ม กรอบวงเงินสำหรับการจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 เพราะรัฐบาลได้ยุบสภาไปก่อนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้ สาธารณะ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557
       
       "เมื่อไม่มีกรอบวงเงินใหม่ กระทรวงการคลังย่อมไม่สามารถจัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธกส. อีก 130,000 ล้านบาท หากธ.ก.ส.ดำเนินการกู้เงินจำนวนนี้ก็ผิดกฎหมาย"
       
       การขอกู้เงินเพิ่มเติมอีก 130,000 ล้านบาท จึงไม่ใช่นโยบายต่อเนื่องที่เคยผ่านการอนุมัติจากครม. ตามที่รักษาการรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ เพราะมติครม. เมื่อ 3 กันยายน 2556 ยังยืนยันตามความเห็นของกระทรวงการคลังว่ากระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาลจำนวนไม่เกิน 270,000 ล้านบาท โดยอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 410,000 ล้านบาทที่ครม.อนุมัติไปแล้วดังกล่าว
       
       ดร.นิพนธ์ จับโกหก พฤติกรรมกลับกลอกไปมา หาความเชื่อถือได้หรือไม่ ขนาดนี้แล้ว นายกิตติรัตน์ ยังจะแถ ยังจะดันทุรังไปอีกหรือไม่
       
       ปัญหาประการที่สองของการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 130,000 ล้านบาทที่ดร.นิพนธ์ ตั้งคำถามก็คือ ปัญหาเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบ ประมาณรายจ่าย เมื่อครม.มีมิติให้กระทรวงพาณิชย์ รับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท เมื่อ 3 กันยายน 2556 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556/57 ได้ผ่านรัฐสภาไปแล้ว นั่นหมายความว่ารัฐบาลได้มีโครงการเงินกู้ต่างๆ ที่ต้องอาศัยการค้ำประกันเงินกู้เต็มเพดานแล้ว หากรัฐบาลต้องการให้ ธ.ก.ส. กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้รับจำนำข้าว รัฐบาลก็ต้องตัดลดงบประมาณการกู้ยืมของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ลง
       
       กระทรวงการคลังทราบข้อจำกัดนี้ดี และแม้จะสมมติว่าวันนี้ยังไม่ได้ยุบสภา และครม.มีมติเพิ่มกรอบวงเงินกู้สำหรับโครงการจำนำข้าวปี 2556/57 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กระทรวงคลังก็จะยังไม่สามารถค้ำประกันเพื่อให้ ธ.ก.ส. กู้เงินเพิ่มขึ้น เพราะยังติดเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2556/57 ดังกล่าวแล้ว
       
       ดังนั้น จึงมีพวกศรีธนญชัยเสนอความคิดให้ ธ.ก.ส.กู้เงินเพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในปี พ.ศ. 2557-2560 จำนวน 130,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการกู้แบบ “refinance” หรือ “roll-over” แต่แทนที่จะนำเงินกู้ก้อนนี้ไปไถ่ถอนหนี้เก่า พวกศรีธนชัยกลับเสนอให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปจ่ายให้ชาวนาที่นำข้าวมาขายให้ รัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับเงิน แล้วรอให้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวให้ได้ก่อน จึงค่อยนำเงินมาชำระหนี้ วิธีนี้จะทำให้รัฐบาลไม่เสียฐานเสียงชาวนา
       
       วิธีนี้เป็นการเลี่ยงข้อจำกัดของเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงิน กู้ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ หากผู้บริหารสถาบันการเงินและกระทรวงการคลัง ยอมก้มหัวรับใช้นักการเมือง โดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์การเงินการคลัง ผลร้ายที่จะตามมาคือ การล่มสลายของธ.ก.ส. ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่มีที่พึ่งทางการเงินอีกต่อไป
       
       ดูเอาว่าขนาดเป็นรัฐบาลรักษาการยังกล้าแหกกฎกติกาขนาดนี้ ซ้ำจะทำให้ ธ.ก.ส.เสี่ยงเจ๊ง และผลกรรมสุดท้ายก็ตกอยู่กับชาวนาที่หลงเชื่อประชานิยมหลอกลวง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : จำนำข้าว ฝีแตก รัฐบาลปู แหลรายวัน ชาวนาฮึ่ม ธกส. ระวังเจ๊ง

view