สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเห็นของประชาชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

น้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ หลักสากลจึงถือว่าน้ำเป็นทรัพยากรสาธารณะที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน ทั้งในครัวเรือนการเกษตร อุตสาหกรรม และน้ำหล่อเลี้ยงระบบนิเวศธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำ เกี่ยวข้องตั้งแต่เรื่องแหล่งกักเก็บน้ำ ป่าต้นน้ำลำธาร การวางผังเมืองและชุมชน การใช้ประโยชน์ที่ดิน การเกษตร การสร้างอาคารสิ่งก่อสร้าง ถนน จนถึงการจัดสรรน้ำให้กับผู้บริโภค

โดย เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล


แม้ปัจจุบันอำนาจในการบริหารจัดการน้ำ จะอยู่กับรัฐ แต่ในทางปฏิบัติจะต้องตัดสินใจร่วมกับ ประชาชน เพราะมีส่วนช่วยดูแลรักษา ใช้ประโยชน์ และได้รับผลกระทบโดยตรง

โครงการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็ก หากขาดหรือละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว มักมีปัญหา เช่น สร้างได้ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ ประโยชน์กระจายไม่ทั่วถึง ขาดคนช่วยดูแลรักษา มักมีการฝ่าฝืนกฎกติกา เช่น ทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสียหรือก่อสร้างรุกล้ำแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น

การบริหาร จัดการน้ำโดยรัฐแต่เพียงลำพังจึงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยิ่งเมื่อเจออากาศแปรปรวนจากสภาวะโลกร้อน ปัญหาน้ำจึงวิกฤตจนจัดการไม่ได้ ขณะที่วิธีคิดการบริหารจัดการน้ำของรัฐมีปัญหาและถ้าฝืนเดินหน้าฝ่าวิกฤต เพียงลำพัง ก็ยากจะสำเร็จจึงจะต้องช่วยกันปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำของชาติให้มี ประสิทธิภาพ

โครงการของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ประกอบด้วย


1) โครงการบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วน 2) โครงการเพื่อการออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 3) โครงการจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ 4) แผนงานสนับสนุนโครงการระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน 5) แผนงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน 6) แผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินรวมกันถึง 3.5 แสนล้านบาทที่มุ่งปกป้องพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนล่างไม่ให้ถูกน้ำหลากท่วมจึงเป็นที่สนใจของประชาชน และอยากรู้ว่า "อะไรคือหลักประกันว่าทำตามโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่นี้แล้วจะไม่เกิด ปัญหาภัยพิบัติขึ้นอีก"

โดยหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เมื่อจะทำโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมหาศาลและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับความเห็นประชาชนและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องรอ ให้ศาลสั่งหรือมีผู้คัดค้าน แต่เมื่อเรื่องนี้ผ่านไปจนศาลปกครองสั่งให้ดำเนินการรับฟังความเห็นตามมาตรา 57 วรรค 2 และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 67 วรรค 2 รัฐบาลก็ต้องรีบวิธีการรับฟังความเห็นและประเมินผลกระทบว่าจะทำอย่างไร จึงจะได้รับรู้ความเห็นของประชาชนที่แท้จริง

ประเด็นที่ภาคประชาชน เป็นห่วงมาก คือ ความเดือดร้อนของประชาชน ความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม ความไม่คุ้มค่า ความไม่เป็นธรรม และความไม่สุจริต

ความเดือดร้อนของ ประชาชน โครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำ การทำแก้มลิง การทำพื้นที่ปิดล้อม และการทำฟลัดเวย์ ทำให้เกิดการได้เสีย คนได้ก็เหมือนได้ลาภลอย น้ำไม่ท่วม มีน้ำใช้ไม่ขาด แต่ที่ดินราคาแพงขึ้น คนต้องอพยพโยกย้าย หมดหนทางทำมาหากิน เงินค่าชดเชยค่าเวนคืนคงจะไม่มากพอที่จะให้เขาเก็บกินไปชั่วชีวิต

ความ เสียหายต่อสภาพแวดล้อม โครงการจะปิดล้อมพื้นที่ปรับปรุงลำน้ำและเปลี่ยนการไหลของน้ำตามธรรมชาติให้ มาอยู่ในคูคลอง ต่อไปก็จะไม่มีน้ำหลากทุ่ง การพัดพาตะกอนดินมาเป็นอาหารของพืชสัตว์ในไร่นาก็จะหมดไป พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติรวมทั้ง
สระน้ำ บึงหนอง คูคลอง ร่องสวนเล็ก ๆ ก็อาจจะเหือดแห้งเพราะขาดน้ำหมุนเวียน ชีวิตในน้ำที่เป็นแหล่งอาหารของคนก็จะหายไปด้วย สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติ กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร จะคิดกันอย่างไร จ่ายเงินชดเชยแล้วช่วยได้หรือไม่

ความไม่คุ้มค่า ปัญหาน้ำยังเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน เรื่องป่าและเรื่องการพัฒนา ประชาชนกังวลว่าการออกแบบโครงการที่มุ่งเน้นใช้สิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำหลาก ท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ จึงมุ่งประโยชน์ด้านเดียว ไม่ตอบโจทย์ปัญหาน้ำที่หลากหลายในด้านอื่น ๆ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงจึงอาจจะไม่คุ้มค่า แต่จะเลือกวิธีการใดที่ได้ประโยชน์คุ้มค่า ประหยัดกว่า เช่น การฟื้นฟูแหล่งน้ำในไร่นา ในชุมชน ก็ต้องปรึกษาหารือกัน

ความไม่เป็น ธรรมหลายพื้นที่สร้างแหล่งกักเก็บน้ำแต่ไม่สร้างคูคลองส่งน้ำหรือสร้างไม่พอ หรือปล่อยให้อ่าง ฝาย หรือประตูน้ำชำรุดเสียหายโดยไม่ซ่อมแซม ใช้งานไม่ได้ การทุ่มเงินก้อนใหญ่ไปทำเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจึงเป็นประเด็นความไม่เป็นธรรม เพราะทำให้ต้องชะลอการพัฒนาในพื้นที่อื่น ๆ

ความไม่สุจริต การผลักดันโครงการที่มีงบประมาณสูงมากอย่างรวบรัด ทำให้ประชาชนอยากเห็นการบริหารงบประมาณที่โปร่งใส ตรวจสอบกำกับดูแลได้ รัฐบาลจึงควรทำโครงการนี้ให้เป็นตัวอย่างของความโปร่งใสไร้การทุจริต

การ รับฟังความเห็นของประชาชน ควรให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่เป็นข้อสงสัย โดยอาจจะเริ่มจากการสำรวจรวบรวมประเด็นที่ประชาชนอยากจะแสดงความคิดเห็น

จัด กลุ่มประเด็นให้เป็นหมวดหมู่ให้มีประเด็นหลักประเด็นรอง การให้ข้อมูลและความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโครงการให้ชัดเจน จัดกระบวนการรับฟังในแต่ละประเด็นหลักประเด็นรองให้เหมาะสม ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะต่อโครงการได้เต็มที่ นำข้อคิดเห็นมาวิเคราะห์และสรุป และมีกระบวนการนำข้อคิดเห็นดี ๆ มาปรับปรุงโครงการ

องค์กรที่จัดการประชุมรับฟัง ไม่ควรเป็นบริษัทคู่สัญญาจ้างหรือหน่วยงานของรัฐผู้ว่าจ้าง เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ควรจะต้องปรับปรุงในส่วนนี้โดยขอควาร่วมมือสถาบันวิชาการทำหน้าที่เป็นสื่อ กลางรับฟังและประมวลความเห็นเสนอต่อรัฐบาล และรัฐบาลควรจะต้องยืดหยุ่นให้มีการปรับแก้ไขโครงการตามข้อเสนอจากการรับฟัง ได้หากมีเหตุผลที่ดีกว่า

การปรับปรุงโครงการโดยความร่วมมือของรัฐ เอกชนและประชาชนต้องใช้ข้อมูลความจริงเป็นฐานการพิจารณา ใช้ความรู้ในการคิดวิเคราะห์หาทางเลือกที่เหมาะสม และมีการประเมินความเป็นไปได้อย่างตรงไปตรงมา หากเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นเสนอโครงการเข้ามาร่วมกับรัฐในสัดส่วนที่ สมดุลกัน เช่น ครึ่งต่อครึ่ง หรือ60 : 40 ก็จะช่วยให้เกิดการยอมรับและความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่น ดีกว่าการเน้นผลประโยชน์ระดับชาติอย่างเดียว ซึ่งยังมองไม่เห็นรูปธรรมว่าจะเกิดประโยชน์จริงได้อย่างไร

กระบวนการ รับฟังและปรับปรุงแก้ไขโครงการบนฐานข้อมูลความจริงและด้วยเหตุผล แม้จะต้องใช้เวลามากแต่ก็คุ้มค่า เพราะจะช่วยให้การศึกษาแก่ประชาชน และยังสะท้อนถึงความใจกว้างและความใส่ใจของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนอย่างแท้ จริง และถ้าทำได้สำเร็จ รัฐบาลชุดนี้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่ใจกว้างเป็นตัวอย่างในการรับฟัง ความเห็นของประชาชน

สำหรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นกติกา สากลที่เป็นประโยชน์มาก ประชาชนจะได้รับรู้ว่าใครได้รับผลกระทบบ้าง กระทบอย่างไร มากน้อยรุนแรงแค่ไหน ฝ่ายรัฐบาลก็จะได้ทราบถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รัฐและประชาชนก็จะได้พูดคุยทำความเข้าใจกันและร่วมกันหาทางจัดการแก้ไขปัญหา ไม่ให้รุนแรง หรือหากผลกระทบมากจนไม่คุ้มกับการทำ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนโครงการตามเหตุและผลที่เห็นพ้องต้องกัน

ประสบการณ์ ในสังคมไทยมากมายสอนว่าการรับฟังความเห็นและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แบบลวก ๆ เร่งรีบให้เสร็จโดยไม่ใส่ใจการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ประสบผลสำเร็จหลายโครงการอาจจะผ่านขั้นตอนการรับฟังไปได้ แต่ก็ทำโครงการต่อไปไม่ได้ เพราะประชาชนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วยและได้รับผลกระทบมาก จึงคัดค้าน ร้องเรียน เกิดความขัดแย้งรุนแรงยืดเยื้อเป็นคดีความและถึงขั้นเสียชีวิต

การ รับฟังความเห็นและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชนด้วยกระบวน การให้การศึกษา สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ให้มีข้อมูลความรู้ ความพร้อม และเปิดโอกาสให้เขาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในวงประชาพิจารณ์และการประเมิน คุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและเท่าเทียมกัน จะช่วยให้ได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ความเห็นของประชาชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

view