สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หวั่นจำนำข้าวหมุนเงินไม่ทัน ไร้ออร์เดอร์ใหม่เจ๊ง 2.5 แสนล.

จากประชาชาติธุรกิจ

ผงะออร์เดอร์ข้าวที่ "นิวัฒน์ธำรง" แจงสภาอ้างติดภาระผูกพันส่งมอบ 5 ล้านตัน แท้จริงเป็นข้าว G to G สมัยบุญทรง ปัจจุบันยังไม่มีออร์เดอร์ใหม่ ทั้งข้าวจีน 1.2 ล้านตันยังอยู่ในอากาศ หวั่นสิ้นปีจ่ายเงินระบายข้าวไม่ได้ตามแผน กระทบเงินหมุนเวียนจำนำปี 2556/57

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลยังคงยืนยันราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ที่ตันละ 15,000 บาท แต่มีเงื่อนไขจำกัดปริมาณรับจำนำไม่เกิน 350,000 บาท/ราย จากโครงการเดิมที่เคยรับจำนำถึง 500,000 บาท/ราย พร้อมกำหนดกรอบวงเงินรับจำนำ 270,000 ล้านบาท หรือลดลงจากวงเงินรับจำนำปี 2555/56 ถึง 75,000 ล้านบาท 


ทั้งนี้ วงเงินรับจำนำที่ลดลงเหลือ 270,000 ล้านบาทนั้น จะมาจาก 2 แหล่งด้วยกันคือ 1) ให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาเงินทุนให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2) เงินที่ได้จากการระบายข้าวของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 2554/55 เป็นต้นไป เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแผนที่จะระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2556 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 72,065 ล้านบาทให้กับ ครม.รับทราบแล้ว

ทว่าการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนกลับไม่มีความคืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเงินทุนให้กับ ธ.ก.ส.เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว หรือการระบายข้าวที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพูดกันแต่ "ตัวเลข" ในอนาคต แต่ยังไม่มีเม็ดเงินจริงเข้ามา

แหล่งข่าวจากคณะทำงานดำเนินการระบายข้าว เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" หลังจากที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ระบุกระทรวงพาณิชย์มีสต๊อกข้าวจากโครงการรับจำนำปี 2554/55 และปี 2555/56 เหลืออยู่ประมาณ 10 ล้านตัน ในจำนวนนี้ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวอย่างชัดเจนว่า กระทรวงพาณิชย์มีภาระผูกพันข้าวอยู่ระหว่างการส่งมอบให้กับลูกค้าถึง 5 ล้านตัน เท่ากับคงเหลือข้าวในสต๊อกรอการจำหน่ายแค่ 5 ล้านตันเท่านั้น

แท้จริงแล้วข้าวที่อ้างว่าอยู่ระหว่างรอการส่งมอบ 5 ล้านตันนั้น เป็นข้าวตามคำสั่งซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) "ของเก่า" ตั้งแต่สมัยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อีกส่วนหนึ่งเป็นข้าวที่รอส่งมอบหน่วยงานจัดซื้อข้าวของรัฐบาลอิหร่าน (GCC) ประมาณ 250,000 ตัน แต่ยังไม่นับรวมออร์เดอร์ใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องราคาและยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าว ทั้งข้าวที่อ้างว่ารัฐบาลจีนตกลงจะซื้ออีก 1.2 ล้านตัน หรือการขายข้าวแบบ G to G กับประเทศอื่น ๆ

"ข้อเท็จจริงก็คือ มันไม่มีออร์เดอร์ใหม่เข้ามา หรือมีอยู่แต่ตกลงราคากันไม่ได้ ซึ่งสะท้อนผ่านกรณีที่ว่า ทำไมจนป่านนี้กระทรวงพาณิชย์ถึงยังปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาไม่ได้ ส่วนการคืนเงินค่าระบายข้าวให้กับ ธ.ก.ส.ล่าสุดได้รับการแจ้งว่า จ่ายคืนไปแล้วแค่ 160,000 ล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนความคืบหน้าของการเปิดประมูลปรับปรุงข้าวขาว 100% ชั้น 2 จากข้าวเปลือกโครงการรับจำนำข้าวปี 2555/56 เพื่อส่งมอบรัฐบาลอิหร่านจำนวน 250,000 ตันนั้น กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดให้ผู้เสนอราคายื่นซองเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปเบื้องต้นจะอนุมัติให้ปรับปรุงทั้งหมด 5 ราย ตามที่ยื่นซองเสนอราคาเข้ามา ได้แก่ บริษัทแคปปิตัล ซีเรียล ในเครือนครหลวงค้าข้าว, บริษัทไชยพรไรซแอนด์ฟู้ดโปรดักส์ เครือข้าวไชยพร, บริษัทเอเซีย โกลเด้น ไรซ์, บริษัทพงษ์ลาภ และบริษัทเจียเม้ง โดยจัดสรรให้รายละ 50,000 ตันในอัตราค่าปรับปรุงอยู่ระหว่างตันละ 4,500-5,000 บาท กำหนดส่งมอบเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556-กุมภาพันธ์ 2557 แต่จากการสอบถามไปยังบริษัทเหล่านี้แจ้งว่า จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันการประมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ถึงแผนการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ทางกรมยืนยันว่า จะเร่งระบายข้าวให้มากขึ้นผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งการเจรจาซื้อขายกับต่างประเทศ การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานการระบายข้าวเดิมที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้วางไว้

ส่วนการดำเนินการเจรจาซื้อขายข้าวกับจีนจำนวน 1.2 ล้านตัน นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะสามารถลงนามสัญญาขายข้าวให้จีนได้ เพราะคงจะต้องมีการพูดคุยกันก่อน ส่วนแผนการส่งออกข้าวในอนาคตทางกรมยังมองที่จะมีการเจรจากับผู้ค้าข้าวในต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย-เวียดนาม ที่เป็นคู่แข่งของไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว

"ส่วนในเรื่องของการส่งมอบเงินคืนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะคืนเงินจำนวน 72,065 ล้านบาทนั้น ทางกรมก็จะพยายามดำเนินการส่งมอบเงินคืนให้ได้ตามเป้าที่ว่าไว้ หรือไม่ก็จะพยายามส่งมอบเงินคืนให้ได้กับตัวเลขที่ใกล้เคียงที่ได้มีการพูดคุยไปก่อนหน้านี้ ส่วนเป้าหมายการส่งออกข้าวในปีนี้ กรมคาดว่ายังคงอยู่ในกรอบเดิมที่วางไว้ 8.5 ล้านตัน"

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้ทันกับระยะเวลาที่เหลืออีกเพียง 3 เดือนก่อนที่จะสิ้นสุดตามแผนการระบายข้าว ไม่ว่าจะเป็นการออกประกาศประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลอีก 300,339 ตัน (ข้าวหอมจังหวัด 79,016 ตัน-ข้าวปทุมธานี 14,919 ตัน-ข้าวเหนียวขาว 10% 62,397 ตัน-ปลายข้าวปทุมธานี 12,574 ตัน-ปลายข้าวขาวเอวันเลิศ 125,367 ตัน-ปลายข้าวเหนียวเอวัน 6,059 ตัน) เพื่อใช้ในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ก่อนหน้าที่นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศจะเกษียณอายุราชการเพียง 6 วัน

ขณะเดียวกัน นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ก็ได้ลงนามประกาศเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นซองปรับข้าวเพื่อนำข้าวสารขาว 5% ปริมาณ 200,000 ตันจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 และโครงการอื่น ๆ มาปรับปรุงและบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม โดยจะเปิดให้ยื่นซองในวันที่ 14 ตุลาคม 2556 ที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และการเร่งรัดให้ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) เร่งเปิดประมูลข้าวจำนวน 640,000 ตันภายในเดือนตุลาคมนี้ "ดูเหมือนว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะการเร่งขายข้าวในสต๊อกทุกวิธีการข้างต้นไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางด้านราคาข้าวที่จะเกิดขึ้นกับตลาดภายในประเทศเลย"

แหล่งข่าวจากอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวกล่าวว่า ที่ประชุมอนุกรรมการเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังไม่ได้พิจารณาแนวทางการใช้ "งบฯกลาง" สำหรับรับจำนำข้าวปี 2556/57 ที่เริ่มดำเนินการแล้ว ดังนั้นจึงยังคงยึดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมคือ ให้ใช้เงินจากการระบายข้าว และหากไม่เพียงพอทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก็ต้องจัดหาเงินกู้ให้ "ที่ประชุมพิจารณากัน แต่กรณีข้าวจำนวน 400,000 ตัน (โครงการรับจำนำปี 2555/56) ที่ออกใบประทวนหลังวันที่ 15 กันยายนจะทำอย่างไร มีการพูดกันว่า อาจใช้วิธีจ่ายเงินชดเชยให้แทนการรับจำนำ เพราะโครงการสิ้นสุดไปแล้ว สุดท้ายให้ตั้งคณะทำงานไปดูรายละเอียดกันอีก"

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เข้ามาว่า คณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มี นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้ประชุมปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ถึง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 ปรากฏผลขาดทุน 2 ฤดูกาลออกมาที่ 250,000 ล้านบาท จากฤดูกาลแรกที่ขาดทุนไปแล้ว 136,000 ล้านบาท "ตัวเลขขาดทุนนี้เป็นการปิดบัญชีตามแนวทางของประธานอนุกรรมการฯ ขณะที่ทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) คำนวณผลขาดทุน 2 ฤดูกาลแค่ 180,000 ล้านบาท หรือมีความแตกต่างกันถึง 70,000 ล้านบาท จากกรณีข้ออ้างที่ว่า มีข้าวหายไปอีก 2.9 ล้านตัน" 

โดยทาง อ.ต.ก.ได้ชี้แจงว่า ข้าวที่หายไปนั้นได้ถูกนำไปใช้ทำข้าวถุงธงฟ้า ดังนั้นผลขาดทุนก็ควรจะต่ำกว่าที่ประธานอนุกรรมการฯคำนวณออกมา แต่ทางประธานอนุกรรมการฯให้ตีเป็นข้าวหายไปเลยเพราะไม่สามารถติดตามได้ แม้จะมีการตรวจสต๊อก และขอข้อมูลจากทางตำรวจก็ตาม

ด้านนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า วงเงินที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ปี 2556/57 ของรัฐบาล กระทรวงการคลังกำลังหาแนวทางอยู่ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติไว้ว่าให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ทำหน้าที่จัดหาเงินทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดไม่เกินกลางเดือนตุลาคม "ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินที่ ธปท.กำหนดว่า ต้องไม่ต่ำกว่า 6% อยู่ 160,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16% และมีเงินฝาก 1,035,000 ล้านบาท ซึ่งต้องดำรงไว้ 20,000 ล้านบาท ถือว่าเพียงพอสำหรับทำธุรกิจปกติของธนาคาร ไม่ได้สำรองสำหรับการรับจำนำข้าวของรัฐบาล"


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : หวั่นจำนำข้าว หมุนเงินไม่ทัน ไร้ออร์เดอร์ใหม่ เจ๊ง 2.5 แสนล.

view