สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกร้อนกับการนับถอยหลังชะตาชีวิตเกษตรกรไทย

โลกร้อนกับการนับถอยหลังชะตาชีวิตเกษตรกรไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การอ่อนกำลังลงของพายุไต้ฝุ่น “หวู่ติ๊บ” นับเป็นข่าวดีในข่าวร้ายสำหรับภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของไทย

เพราะอย่างน้อย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะน้อยลง แต่การรอดพ้นจากพายุลูกนี้ หรือแม้แต่พายุอีกหลายต่อหลายลูกที่จะเข้ามาบ้านเราในช่วง 2 ถึง 3 ปี ข้างหน้า ไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่าประเทศไทยจะไม่เดือดร้อนจากภาวะโลกร้อน และหากดูแนวโน้มในช่วงครึ่งศตวรรษต่อจากนี้ บอกได้เลยว่า ชะตากรรมของภาคเกษตรและเกษตรกรบ้านเราอยู่ในกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดในโลก ถ้าเป็นคนป่วย อาการคงเข้าขั้นตรีทูตเลยทีเดียว

เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานฉบับที่ยืนยันว่าอุณหภูมิของพื้นดิน ผืนน้ำ และอากาศสูงขึ้นจริง แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วอุณหภูมิของโลกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาจะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ช่วงเวลา 15 ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่สั้นเกินไปจึงไม่ได้สะท้อนแนวโน้มที่แท้จริงในระยะยาว ยังต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมกันต่อไปอีกที่แน่ๆ ไอพีซีซี กล้าฟันธงแล้วว่า พวกเขาชื่อมั่นถึง 95% ว่าปัญหาโลกร้อนเป็นน้ำมือของมนุษย์

ผลสรุปที่ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ร้อนขึ้นจริง อาจสวนทางกับความรู้สึกของเรา เพราะเดี๋ยวนี้หน้าร้อนก็ร้อนกับตับแลบ หน้าฝนก็ตกแบบเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายคำอธิบายง่ายๆ ก็คือ สมมติว่าเมื่อวานตอนเช้าอุณหภูมิ 30 องศา ตอนบ่าย 30 องศา อุณหภูมิเฉลี่ยของเมื่อวานก็ 30 องศาเหมือนกัน พอวันนี้ ตอนเช้าอุณหภูมิ 20 องศา ตอนบ่าย 40 องศา เฉลี่ยทั้งวันได้เท่ากับ 30 องศาเหมือนเมื่อวาน

ด้วยเหตุนี้ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยเท่าเดิมจึงไม่ได้หมายความว่าสภาพอากาศจะปกติเหมือนเดิมเสมอไป ถ้าถามว่า วันไหนที่อากาศแปรปรวนมากกว่า เชื่อว่าทุกคนคงตอบเหมือนกันว่าวันนี้ ดังนั้น การมองปัญหาโลกร้อน จะต้องมองทั้งอุณหภูมิเฉลี่ย และความแปรปรวนของสภาพอากาศควบคู่กันไปด้วย วันนี้เราได้รับรู้ถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศแล้ว เชื่อว่าในอีกไม่เกิน 50 ถึง 60 ปี หากยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โลกของเราจะได้รับรู้ถึงอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างแน่นอน

ผลกระทบจากอากาศร้อนที่มีต่อภาคเกษตรก็คือ อากาศร้อนมีผลต่อการเติบโตของพืชและสัตว์ หากอากาศร้อนกว่าช่วงอุณหภูมิที่พืชและสัตว์จะเจริญเติบโตได้ดี การเติบโตก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งจะส่งผลต่อผลิตภาพในการผลิตของภาคเกษตรทั้งหมดด้วยโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ที่มีอากาศร้อนอยู่แล้ว เมื่อเจอปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้นมา ผลกระทบก็จะมีมากกว่าประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้แล้ว หากระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติของประเทศถูกทำลาย ขาดระบบชลประทานที่ดี ไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป เช่น สร้างเขื่อนไว้ แต่ฝนดันไปตกหน้าเขื่อน น้ำเลยท่วม และไม่มีน้ำพอไว้ทำการเกษตรหน้าแล้งผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ยิ่งมีมากขึ้นไปอีก

งานวิจัยของวิลเลี่ยม ไคลน์ (William Cline) ซึ่งเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) เป็นงานวิจัยที่ได้รับความสนใจมากในวงการวิชาการและหน่วยงานของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เพราะมีการประเมินว่าภาวะโลกร้อนในช่วง 50 ถึง 60 ปีข้างหน้าจะส่งผลต่อผลิตภาพของภาคเกษตรในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างไร ซึ่งในที่นี้ ขอนำเสนอเฉพาะผลสรุปของประเทศไทยและบางประเทศมาแสดงไว้ในตาราง เพื่อให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง

ข่าวร้ายก็คือ ประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยคาดว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้ผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรของเราลดลงไม่น้อยกว่า 25% ประเทศที่ร่วมชะตากรรมกับเราก็คือ ลาว อินเดีย และภาคตะวันตกและเหนือของออสเตรเลีย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่เป็นคู่แข่งด้านสินค้าเกษตรของเรานอกเหนือจากลาว ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเรา

ที่น่าห่วงกว่านั้นก็คือ ประเทศจีนบางส่วน นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาตอนเหนือ จะได้รับอานิสงส์จากโลกร้อน ทำให้อากาศอุ่นขึ้น จนสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากผลิตภาพการผลิตจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5 ถึง 25% ลำพังพื้นที่ของจีนที่จะเพาะปลูกได้ดีขึ้นเพียงประเทศเดียว ก็มากกว่าพื้นที่ของประเทศไทยทั้งหมดถึงสองเท่า ถ้ารวมพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์เข้าไปด้วย พื้นที่ซึ่งประโยชน์จากโลกร้อนในสามประเทศนี้รวมกัน มีขนาดมากกว่าพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยประมาณ 5 ถึง 6 เท่า

ถ้าการคาดการณ์นี้ถูกต้อง จีน นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา จะมีผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของไทยลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยตามไปด้วย เพราะหากใช้ตัวเลข -25% มาเป็นฐานในการคิด คู่ไปกับผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2554 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งพบว่า ครัวเรือนภาคเกษตรที่มีที่ดินเป็นของตนเอง มีรายได้ต่อครัวเรือนประมาณ 20,378 บาท โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ แต่ละปี รายได้ของเกษตรกรจะลดลงปีละ 1,200 บาทต่อครัวเรือน แสดงว่าเกษตรกรจะจนลงทุกปี หากรัฐบาลจะเข้าไปอุ้มตลอดไป ก็จะเป็นการสร้างภาระทางการคลังระยะยาวแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น

ทางออกที่ดีที่สุด คือ การปรับตัวระยะยาว ทั้งในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศ ด้วยการปลูกพืชที่หลากหลาย การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ที่ทนร้อนทนแล้งได้มากขึ้น การทำประกันภัยพืชผลควบคู่ไปกับการปรับปรุงแนวทางการทำเกษตรโดยใช้การบริหารจัดการแบบมืออาชีพ การยกระดับคุณภาพชีวิตและระดับการศึกษาของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าเวลา 50 ถึง 60 ปีอาจจะดูเหมือนนาน แต่หากมัวผัดวันประกันพรุ่ง วันนั้นจะต้องมาถึงเข้าจนได้ และเมื่อวันนั้นมาถึงโดยที่เรายังไม่ได้ทำอะไร จะมานั่งเสียใจก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : โลกร้อน นับถอยหลัง ชะตาชีวิต เกษตรกรไทย

view