สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เหรียญอีกด้าน เค-วอเตอร์ มือไม่ถึง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

"โพสต์ทูเดย์" มีโอกาสสัมภาษณ์ ยัม ฮชองฮอล ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี หรือ KFEM ที่กรุงโซล ระหว่างบริษัท เค-วอเตอร์ นำคณะสื่อมวลชนไทยไปดูการดำเนินงานในโครงการของบริษัทในเกาหลีใต้

ยัม ย้ำว่า เค-วอเตอร์ ที่เขารู้จักอันเป็นเหรียญอีกด้าน ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้บริหาร เค-วอเตอร์ อธิบายมาตลอดขณะตอบคำถามแก่สื่อมวลชนไทย

"ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่เค-วอเตอร์ ทำในเกาหลีประสบความสำเร็จทั้งหมด หลายโครงการที่บริษัทนี้ทำ สร้างปัญหาตามมาอีกมาก ซึ่งเรากังวลว่าหากปล่อยให้เค-วอเตอร์ จัดการต่อ จะล้มเหลวในไทยเช่นกัน" ยัม เริ่มเล่า พร้อมกับบอกว่าเทคโนโลยีที่เค-วอเตอร์ทำแล้วประสบความสำเร็จโดยไม่มีข้อโต้ แย้ง มีเพียงการจัดการน้ำแบบ Single Command เท่านั้น

ยัม ย้ำว่า โครงการ กยองอิน-อารา วอเตอร์เวย์ซึ่งเชื่อมระหว่างแม่น้ำฮันและทะเลตะวันตก เพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตลุ่มน้ำกัลโป ที่ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี2555 ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

"เริ่มแรก เค-วอเตอร์ ระบุว่าโครงการแห่งนี้จะเป็นช่องทางระบายน้ำฉุกเฉิน แต่พอเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นคลองเพื่อให้เรือวิ่งผ่านเข้าออกเท่านั้นและมี เรือใหญ่วิ่งเข้า-ออกน้อยมาก เป็นการใช้เงินกว่า 7.5 หมื่นล้านบาทเพื่อสร้างคลองที่ไม่มีใครใช้งาน" เอ็นจีโอเกาหลีผู้นี้ ระบุ

เมื่อนำประสบการณ์ในเกาหลีมาเปรียบเทียบกับโครงการสร้างฟลัดเวย์ โมดูล เอ 5 มีจุดประสงค์หลักเพื่อช่วยระบายน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทย ความยาวกว่า 300 กิโลเมตร ซึ่งเค-วอเตอร์ไม่มีประสบการณ์การก่อสร้างฟลัดเวย์ ไม่ว่าจะในเกาหลีหรือในประเทศอื่นโครงการนี้จึงน่าวิตกอย่างมาก

ทั้งนี้ โครงการพัฒนา 4 แม่น้ำของเกาหลีใต้ ยัม มองว่า เป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดของเค-วอเตอร์ เพราะใช้เงินกว่า 5.5 แสนล้านบาท ในการปรับปรุงคุณภาพ 4 แม่น้ำสายหลัก ผ่านการขุดลอกแม่น้ำ สร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย 16 แห่ง และเขื่อนอีก2 แห่ง โดยที่เค-วอเตอร์ อธิบายว่าจะเป็นต้นแบบฟลัดเวย์ในโมดูล เอ 5

ยัม เล่าว่า โครงการพัฒนา 4 แม่น้ำ เริ่มมีปัญหาตั้งแต่เริ่มทำประชาพิจารณ์ โดยนักการเมืองพยายามเปลี่ยนกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อเลี่ยงกระบวนการรับฟัง ความคิดเห็น ซึ่งโครงการของเค-วอเตอร์ระยะหลังมักเป็นในลักษณะเดียวกันหมด คือจะทำประชาพิจารณ์หลังตัดสินใจแล้วว่าจะทำ

"หลังก่อสร้างเสร็จเมื่อปี2554 โครงการสร้างปัญหาตามมามาก โดยเฉพาะการไหลของแม่น้ำที่ช้าลงกว่า 20 เท่า นำมาสู่ปรากฏการณ์แม่น้ำสีเขียวหรือ Algae Booms ในช่วงฤดูร้อน และกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีก็ออกมายอมรับว่าปรากฏการณ์แม่น้ำสีเขียว รุนแรงขึ้นจากโครงการพัฒนา 4 แม่น้ำเพราะฉะนั้นเค-วอเตอร์จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้" ยัม ระบุ

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังบอกว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและการไต่สวนของเกาหลี ระบุว่า ไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมเนื่องจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแม่น้ำส่วนบนและภาคเหนือ ไม่ใช่แม่น้ำในภาคกลางหรือภาคใต้ของประเทศ ซึ่งโครงการตั้งอยู่

นอกจากนี้ ในแต่ละปีโครงการต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซ่อมบำรุงและดูแลรักษาเฉพาะใน โครงการ 4 แม่น้ำ มีภาคประชาชนและเอ็นจีโอเกาหลีมากกว่า 280 กลุ่ม คัดค้านโครงการนี้ร่วมกัน ขณะเดียวกันก็กำลังตรวจสอบในประเด็นการคอร์รัปชั่นที่ฝ่ายค้านเกาหลีนำมา เปิดเผยด้วย

ขณะที่โครงการในไทยนั้น ยัม เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลปกครองกลางไทย ที่สั่งให้ยุติโครงการบริหารจัดการน้ำทุกโมดูล เนื่องจากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรค 2 และมาตรา 67 วรรค 2

"เราจะร่วมกับภาคประชาชนของไทยเพื่อเกาะติดโครงการนี้ต่อไป จนถึงตอนนี้เราพูดได้เต็มปากว่า เราไว้ใจเค-วอเตอร์ไม่ได้" ยัม ทิ้งท้าย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เหรียญอีกด้าน เค-วอเตอร์ มือไม่ถึง

view