สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คราบน้ำมันหมด...ปัญหาไม่จบ

คราบน้ำมันหมด...ปัญหาไม่จบ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

“อีกไม่นานน้ำทะเลก็คงใสตามที่ประกาศกันว่า 3-7 วัน คราบน้ำมันจะหมดไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะจบหรือหมดไป ต้องดูกันในระยะยาว”

นั่นคือสิ่งที่ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกถึงการต้องดำเนินการต่อหลังกรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล รั่วลงสู่ท้องทะเลอ่าวไทย

“ระบบนิเวศทั้งหมดเป็นเรื่องถัดมา แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงไปเก็บข้อมูลเป็นระยะๆ เป็นข้อมูลที่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ประเมินผลกระทบในอนาคต เป็นข้อมูลที่ใช้นำไปเรียกร้องความเสียหายหรือแนวทางในการฟื้นฟูว่าต้อง ดำเนินการอะไรบ้าง”

รองคณบดีคณะประมง อธิบายเพิ่มเติมว่า การเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นแนวทางปฏิบัติในการค้นหาความเสียหายที่เกิดจากภาค อุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งมีรูปแบบใกล้เคียงกันทั่วโลก โดยต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของความเสียหายครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก คือ

โซนที่1 จุดที่น้ำมันรั่ว ซึ่งต้องตีวงสำรวจจากคราบน้ำมันที่แผ่ออกไป 2 กิโลเมตร เคลื่อนตัวไปยังเกาะเสม็ด เป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดรวมกัน 80 ตารางกิโลเมตร

โซนที่2 คือ อ่าวพร้าวหรือจุดที่น้ำมันดิบขึ้นฝั่ง ที่ต้องศึกษาเรื่องระบบนิเวศอย่างละเอียด

โซนที่ 3 พื้นที่อ่าวบ้านเพ เกาะกุฎี ปากคลองแกลง เพื่อศึกษาทิศทางที่ฟิล์มน้ำมันซึ่งอาจจะยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวด ล้อมอย่างเฉียบพลัน

อย่างไรก็ดี สารเคมีและโลหะบางชนิดที่มีในน้ำมันดิบอาจจะสะสมในสิ่งมีชีวิตและถ่ายทอดตาม ห่วงโซ่อาหารในทะเลสู่ผู้บริโภคขั้นสูงได้ การสลายตัวได้ยากจะรวมตัวและสะสมเป็นก้อนน้ำมันดิน (Tar Ball) ตามชายหาดต่างๆ ในระยะยาว

“สิ่งที่เราต้องการหลังจากนี้คือข้อมูลทางวิชาการที่รัดกุม ไม่ใช่การออกมาบอกว่า ลงไปดูแล้ว ปะการังยังไม่ตายก็จบ ข้อมูลทางวิชาการที่ได้อาจจะนำมาโต้แย้งว่า ใช่ วันนี้มันยังไม่ตาย แล้วมีใครทราบหรือไม่ว่ามันอาจจะอ่อนแอก็ได้ เกิดอีก 3 อาทิตย์ข้างหน้ามันตายหมดจะนับว่าตายจากคราบน้ำมันหรือไม่ เรื่องนี้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จะบอกได้

คำอธิบายที่ได้มาจะต้องตอบคำถามให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะชาวประมงในพื้นที่ หากจำนวนสัตว์น้ำลดลง ก็ต้องตอบได้ว่าพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอีกนานเท่าไร

หากเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องไปสืบค้นเรื่องน้ำมันที่ถูกสารเคมีฉีดให้จมลง ว่ามีลักษณะอย่างไรกันแน่ ปกติหลังจากฉีดสารย่อยสลาย น้ำมันดิบจะแตกเป็นอณูน้ำมันเล็กๆ จมลงไปประมาณ 10 เมตร รอให้แบคทีเรียมาย่อยสลาย

ส่วนน้ำมันที่แตกตัวแล้วจะสร้างผลกระทบกับท้องทะเลบริเวณไหน จะเกิดขึ้นได้กรณีที่ถูกพัดไปยังที่ตื้นหรือกระทบพื้น ก็จะสร้างปัญหาทันที เพราะมันจะเริ่มฝังลงไปในตะกอนใต้ทะเล ซึ่งเป็นจุดที่ไม่มีออกซิเจนหรือแสงแดดเพียงพอที่จะย่อยสลาย กรณีนี้ตะกอนน้ำมันอาจจะกลายเป็นฟิล์มที่เคลือบให้สัตว์ทะเลตายได้”

กลุ่มสัตว์ทะเลบริเวณนี้ที่เสี่ยงจากกรณีดังกล่าว คือ ปูม้าและปลาเก๋า โดยธรณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ห่วงโซ่อาหารจะได้รับผลกระทบ ตะกอนน้ำมันจะทำให้ไส้เดือนทะเลซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ทั้งสองชนิด หรือกระทั่งสัตว์อื่นๆ ตายลง

“ถ้าหากเรากลัวว่าจะเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น เราก็ต้องตรวจให้รู้ว่าใน 80 ตารางกิโลเมตรที่ว่าเกิดปัญหานี้ขึ้นหรือไม่ และอาจจะต้องดูไปด้วยว่าแพลงก์ตอนทั้งในน้ำและหน้าดินกระทบหรือไม่ ต้องเจาะหน้าดินเป็นแท่งๆ มาดู มาเทียบกับข้อมูลเดิมที่เรามีอยู่แล้วและหาทางแก้ไขกันต่อไป ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรฯ เคยใช้ทะเลระยองทำงานวิจัยจนมีข้อมูลจำนวนมาก ตั้งแต่จุลชีพทุกชนิดไปจนถึงสัตว์ใหญ่อะไรหายไปจากพื้นที่ เพราะอะไร มีปูกี่ชนิด เรารู้หมด เราคุ้นเคยกับแนวปะการังที่นี่มาเกือบ 20 ปี จึงไม่มีทางที่จะออกมาบอกแค่ว่าดำลงไปดูแล้วปะการัง แล้วขึ้นมาบอกว่าไม่ตายแล้วจบ มันดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์นัก”

นั่นคือหน้าที่ของภาควิชาการที่จะต้องนำข้อมูลมายืนยันในการเรียกร้องความรับผิดชอบในระยะยาวต่อไป ธรณ์ทิ้งท้ายว่า

“ต้องไม่ลืมว่าหลังจากสิ่งที่เกิดขึ้น ความน่าสนใจหายไปจากกระแสสังคมแล้ว ความเสียหายก็อาจจะยังคงอยู่คู่กับคนในพื้นที่ต่อไปอีกนาน ที่ผ่านมาน้ำมันรั่วในบางพื้นที่ต้องดูกันนานถึง 10 ปี ที่ชัดๆ คือที่เคยเกิดนอกชายฝั่งรัฐอลาสก้าของสหรัฐ เมื่อปี 2532 ก็ยังย่อยสลายไม่หมด และคนทั่วไปอาจจะเลิกสนใจไปหมดแล้ว”


"เปี่ยมศักดิ์-ธรณ์" การฟื้นฟูระบบนิเวศต้องใช้เวลา 2-4 ปี

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

จากกรณีท่อส่งน้ำมันดิบรั่วในทะเลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทในกลุ่ม ปตท. ส่งผลให้มีคราบน้ำมันดิบกระจายจากจุดเกิดเหตุในทะเลบริเวณมาบตาพุดไปจนถึง ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ซึ่งแม้ว่าขณะนี้เก็บกวาดคราบน้ำมันจะมีความคืบหน้าไปมาก แต่ในแง่ของผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเล ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่จะตามมายังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเก็บ ข้อมูลอย่างละเอียด

"ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ประธานกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

และสุขภาพ (กอสส.) ในฐานะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ธรณ์

ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมกันสะท้อนมุมมองปัญหาและแนวทางการจัดการ


ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ประธานกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) กล่าวถึงผลกระทบทางตรงจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ก็คือ คราบน้ำมันติดฝั่ง กระทบต่ออาหารสัตว์น้ำ แต่ไม่ถึงขั้นสัตว์น้ำสูญพันธุ์หรือลดจำนวนสัตว์น้ำลงมาก ส่วนผลกระทบทางอ้อมในระยะสั้น คราบน้ำมัน

แผ่กระจายแล้วบังแสง ทำให้แพลงก์ตอนไม่เจริญเติบโตและส่งผลให้สัตว์น้ำลดลง โดยสัตว์ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากก็คือนกน้ำ แต่ในประเทศไทยมีนกน้ำไม่มากนัก "จึงไม่เป็นปัญหา"

ส่วนผลกระทบระยะ ยาวจะเป็นเรื่องของความสวยงาม น้ำมันที่เกาะติดตามชายฝั่งจะทิ้งคราบบางอย่างที่ไม่สามารถกำจัดออกได้ ทำให้สูญเสียทัศนียภาพ กระทบการท่องเที่ยว อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะจางหรือหลุดลอกไป

ในอีกแง่หนึ่ง คราบน้ำมันจะย่อยสลายเป็นสารเคมี และกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชและแพลงก์ตอน ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตดีมาก หากเป็นแพลงก์ตอนชนิดที่เป็นอาหารสัตว์น้ำจะไม่เกิดปัญหา แต่หากเป็นแพลงก์ตอนชนิดที่สัตว์น้ำไม่กิน จะเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวขี้ม้า ออกซิเจนในทะเลจะหมดในเวลากลางคืน กระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ทั้งนี้หากเกิดปรากฏการณ์นี้จะเกิดในช่วง 1-2 ปีแรก และเกิดเฉพาะบริเวณที่มีธาตุอาหารมาก ไม่กระจายบริเวณทั่วไป

การ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะใช้เวลา 2-4 ปี เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน การรวมตัวของน้ำมันกับออกซิเจน (Oil Oxidizing) จะทำงานเต็มที่ในอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ดังนั้นธรรมชาติในเขตร้อนจึงฟื้นฟูเร็วกว่าในเขตหนาว สำหรับสิ่งที่มนุษย์จะช่วยฟื้นฟูธรรมชาติได้ก็คือ เอาคราบน้ำมันออกจากทะเลให้ได้มากที่สุด ที่เหลือหลังจากนั้นแค่ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง

ในกรณีนี้ถ้าน้ำมันรั่ว 50 ตันจริง ถือว่า "ไม่มาก" ใน

ต่าง ประเทศเคยเกิดเหตุการณ์ถล่มเรือน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย มีน้ำมันรั่วมากกว่านี้เยอะ คิดว่าจะใช้เวลาฟื้นฟูนานถึง 10 ปี แต่ก็ฟื้นฟูได้เร็วกว่านั้น ใกล้ ๆ ประเทศไทยเคยมีการชนกันระหว่างเรือบรรทุกน้ำมันและเรือบรรทุกสินค้าในช่อง แคบมะละกา ทำให้น้ำมันรั่วไหลถึง 2,500 ตัน ส่วนเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์นี้คือ เรือน้ำมันล่มที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ 20-30 ปีก่อน แต่กระบวนการกำจัดและทำความสะอาดสมัยนั้นยังไม่ดีเท่าในปัจจุบัน

วิธี กำจัดคราบน้ำมันที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้เป็นวิธีที่ใช้แบบเดียวกันกับที่ใช้ใน ต่างประเทศ สำหรับสาร Slickgone ที่ใช้กำจัดคราบน้ำมันนั้น เป็นสารที่ใช้ได้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สารนี้จะมีพิษเมื่อใช้ที่ความเข้มข้น 1,000 ppm หรือ 1 ก./กก. แต่ที่นำมาใช้ตอนนี้ความเข้มข้น 500 ppm อีกทั้งเป็นการใช้แค่ระยะเวลาหนึ่ง ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อทุกวัน จึงไม่มีพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่ต้องระวังไม่ควรใช้สารบางอย่างที่ใช้แล้วทำให้น้ำมันจมลงทันที ซึ่งในต่างประเทศเลิกใช้แล้ว

ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นคือเรื่องความสวยงาม ในระยะกลางและระยะยาวจะกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งหาดทราย-หาดหิน-หญ้าทะเล-สัตว์น้ำ-แนวปะการังน้ำตื้น ซึ่งต้องติดตามเรื่อย ๆ ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จำนวนสิ่งมีชีวิตลดลงมากหรือไม่

สำหรับความเสียหายของเหตุการณ์นี้ ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์อื่นได้ เพราะระบบนิเวศแต่ละที่ไม่เหมือนกัน การใช้ประโยชน์ในแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกัน ถ้าน้ำมันมากกว่านี้ แต่รั่วในทะเลที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ไม่มีการทำประมง ไม่มีการทำท่องเที่ยว ก็ไม่เสียหายอะไรมาก แต่ในกรณีนี้เกิดผล

กระทบขึ้นไม่ใช่เฉพาะ บริเวณที่โดนคราบน้ำมัน เช่น โรงแรมบางแห่งไม่เปื้อนคราบน้ำมัน แต่อยู่ในท้องที่นั้น ย่อมได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวไม่มาเที่ยว ยอดผู้เข้าพักโรงแรมลดลง

"ปริมาณน้ำมันรั่ว 40,000-50,000 ตัน อาจจะต้องจ่ายเงินน้อยกว่า 50 ตันนี้ก็ได้ ตอนนี้ตั้งงบฯสำรองจ่ายไม่ได้ เพราะข้อมูลความเสียหายมันจะโผล่มาเรื่อย ๆ ต้องใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งสรุป อาจจะมีคนอื่นเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงโดยวัดที่ปริมาณน้ำมันก็ สามารถทำได้ แต่สำหรับผมคิดว่าเปรียบเทียบไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ระบบนิเวศมันไม่เกี่ยวว่าโดนมากหรือน้อย แต่โดนแล้วมันกระทบเท่าไหร่ เกิดปัญหาอย่างไรตามมาต่างหาก"

อย่างไรก็ตาม วิธีการจัดการกับปัญหาน้ำมันรั่วเป็นวิธีเดียวกันที่ใช้ทั่วโลก แต่ผลออกมาอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะคนทำไม่ใช่คนเดียวกัน สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน สำหรับการฟื้นฟูธรรมชาติไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็คือ เอาน้ำมันออกมาจากทะเลให้ได้มากที่สุด เป็นทางเดียวที่มนุษย์จะช่วยธรรมชาติได้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit

Tags : คราบน้ำมันหมด ปัญหาไม่จบ

view