สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เข็นครกขึ้นภูเขา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

แค่ เริ่มตั้งไข่ นโยบายการกำหนดเขตเศรษฐกิจ หรือ Zoning ที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแม่งาน และให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ สนับสนุนด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ก็ส่อเค้าจะไปไม่รอดที่ตั้งเป้าจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย และคาดหวังจะเชื่อมโยง Zoning ข้าวเข้ากับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล คงใช้เวลาผลักดันอีกนานกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง

เพราะเกษตรกรไทยเคย ชินมานานกับการ "ทำตามใจคือไทยแท้" อยากจะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ก็ทำได้ตามอำเภอใจ ไม่เคยมีกฎกติกามาควบคุมให้ต้องอยู่ในกรอบ อย่างการปลูกข้าวในบางพื้นที่ แม้จริง ๆ แล้วสภาพพื้นที่อาจไม่มีความเหมาะสมที่จะใช้ปลูก

ขณะที่พฤติกรรมตามอย่างก็มีส่วน กรณีตัวอย่างคือการแห่ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน เพราะเห็นว่าราคาดีหรือกำลังบูม

Zoning ที่ดินทำการเกษตร Zoning พื้นที่ป่าไม้ หรือการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ อาทิ เขตอนุรักษ์ เขตเศรษฐกิจ เขตพื้นที่ลุ่มน้ำ ฯลฯ แม้กระทั่งการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นเรื่องการจัดทำมาตรการจูงใจแทนการบีบบังคับ จึงค่อนข้างล้มเหลว ใช้ไม่ได้ผลในประเทศไทย

โดยหลักการ Zoning มีเป้าหมายหลักเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตและการตลาด ขณะเดียวกันภาครัฐจะใช้ข้อมูลไปประมาณการผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาด ตามฤดูกาล

พร้อมเฝ้าระวังและเตรียมมาตรการรองรับเมื่อเกิดปัญหา และให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจผลิตหรือส่งเสริมการผลิต และบริหารจัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

โดย กำหนด Zoning ปลูกพืช ทำประมง ปศุสัตว์ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ รายได้สูงยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรไปในตัว

ตามแผนที่วาง ไว้ กระทรวงเกษตรฯตั้งเป้ากำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือ Zoning สินค้าเกษตรรวมทั้งหมด 11 ชนิด ได้แก่ 1.ข้าว 2.อ้อย สับปะรด และพืชไร่อื่น ๆ 3.มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน 4.ยางพารา 5.พืชผัก 6.พืชหัว 7.ลำไย 8.ผลไม้อื่น ๆ 9.กล้วยไม้ ไม้ดอกและไม้ประดับ 10.ประมง และ 11.ปศุสัตว์ โดยสินค้าเกษตรแต่ละชนิดจะมีคณะทำงานบริหารจัดการตั้งแต่การจดทะเบียน เกษตรกร การให้คำแนะนำและส่งเสริมทั้งด้านการผลิตและการตลาด ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ จนถึงระดับตำบลที่ดำเนินการแล้ว เช่น พื้นที่ปลูกข้าว กำหนดเขตเหมาะสมไว้ 76 จังหวัด 809 อำเภอ 5,880 ตำบล ขณะที่พื้นที่เหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลังกำหนดไว้ 49 จังหวัด 448 อำเภอ 2,113 ตำบล ยางพารา 60 จังหวัด 403 อำเภอ 1,703 ตำบล ปาล์มน้ำมัน 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล อ้อยโรงงาน 48 จังหวัด 401 อำเภอ 2,105 ตำบล ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มี 43 จังหวัด 268 อำเภอ 1,175 ตำบล เป็นต้น

ถือ เป็นนิมิตหมายที่ดี ทำได้สำเร็จได้ก็ยิ่งดี จะช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ทั้งด้านการผลิต การตลาดครบวงจร แต่ฝันจะเป็นจริงหรือไม่ยังน่าห่วง เพราะแค่การปลูกข้าว ยางพารา ฯลฯ จะพบว่ามีเกษตรกรไม่น้อยที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ยิ่งถ้าข้าว ยาง ราคาดี แม้จะไม่แนะนำให้ชาวบ้านปลูกก็คงมีการปลูกอยู่ดี

ใน ทางกลับกัน ช่วงที่ราคาไม่ดีจะสนับสนุนให้หันไปปลูกพืชอื่นแทนโดยไม่ให้ปลูกข้าว ยาง คงยาก เว้นจะนำกฎเหล็กมาใช้ เช่น กรณีข้าว อาจตั้งเงื่อนไขไม่ให้ข้าวนอกพื้นที่ Zoning เข้าโครงการรับจำนำ แต่รัฐบาลคงตัดสินใจลำบาก เพราะจะกระทบฐานเสียงทางการเมือง

นโยบาย Zoning จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และน่าจะโหดหินไม่เบา เพราะเท่ากับต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การดำรงชีพ การทำกินของเกษตรกรกว่า 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้อยู่ที่รัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับภารกิจที่ท้าทายนี้มากน้อยแค่ไหน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เข็นครกขึ้นภูเขา

view