สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บัญชีเบื้องต้น - กำไรขาดทุน ยังคำนวณไม่ได้ ก็ต้องประมาณได้

บัญชีเบื้องต้น - "กำไรขาดทุน" ยังคำนวณไม่ได้ ก็ต้องประมาณได้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ "อ่านงบการเงินให้เป็น"



กำไรขาดทุน" เป็นหัวใจของการพาณิชย์ ทุกคนที่ทำการค้าจำเป็นต้องคำนวณกำไรขาดทุนของสินค้าที่ขาย มิฉะนั้นจะไม่สามารถทำการค้าต่อไปได้

โชคดีที่การคำนวณกำไรขาดทุนไม่ใช่เรื่องซับซ้อน คนทั่วไปหากสมองไม่ทื่อเกินไปนักจะสามารถทำการคำนวณได้อย่างง่ายดาย (แม่ค้าในตลาดทำกันอยู่ทุกวัน) เพียงแต่เรานำ "รายได้" (จากการขายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นขายสดหรือขายเชื่อ แต่ขอให้มีการขายออกไปจริงๆ ไม่ใช่การขายที่กำลังเจรจาอยู่) มาหัก "ค่าใช้จ่าย" (ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนสินค้าที่ขายและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ) เราก็จะได้ตัวเลขกำไรขาดทุนของสินค้าที่ขายไป

สำหรับการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เจ้าของธุรกิจไม่สามารถจะรอจนปิดบริษัทก่อน แล้วจึงมานั่งคำนวณ "กำไรขาดทุน" เพราะจะทำให้เจ้าของไม่รู้สถานภาพที่แท้จริงของบริษัทและไม่สามารถปรับกลยุทธ์ในการบริหารงานได้ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจจึงต้อง "ปิดบัญชี" เพื่อคำนวณกำไรขาดทุนเป็น "งวด" การปิดบัญชีเพื่อคำนวณกำไรขาดทุนอาจทำทุกวัน ทำเป็นเดือน เป็นไตรมาส หรือเป็นปี แล้วแต่ความจำเป็นในการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขกำไรขาดทุน

ในทางบัญชี ตัวเลข "กำไรขาดทุน" ที่คำนวณได้สำหรับงวด มักมีการประมาณการแฝงอยู่ แต่การประมาณนั้นมีหลักการที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ดังนั้น ใครที่อ้างว่า "ยังไม่ปิดกิจการเลยคำนวณกำไรขาดทุนไม่ได้" จึงเป็นเรื่องเหลวไหลเกินกว่าที่สามัญชนทั่วไปจะยอมรับได้ ยิ่งถ้าผู้พูดเป็นถึงเจ้ากระทรวงพาณิชย์ที่ควบคุมให้บริษัทปิดบัญชีและออกงบการเงินตามงวดด้วยแล้ว คำพูดที่ออกมานั้นนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของผู้พูดแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใสตรวจสอบได้ตามหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง

ในการคำนวณกำไรขาดทุนสำหรับโครงการต่างๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ยิ่งน่าที่จะทำได้ง่ายกว่าธุรกิจทั่วไป เพราะรายได้และค่าใช้จ่ายมาจากแหล่งจำกัด การคำนวณกำไรขาดทุนนั้นแทบที่จะคิดในใจกันได้เลย

ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณกำไรขาดทุนของโครงการจำนำข้าว มีดังต่อไปนี้

1. รายได้ ปัจจุบันเราพอทราบแล้วว่ารัฐบาลเซ็นสัญญาขายข้าวไปแล้วกี่ตัน ตันละกี่บาท ข้อสำคัญคือ เราต้องไม่นำการขายที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจามารวมคำนวณ เพราะทางบัญชีเรายังไม่ถือเป็นรายได้ แต่รายได้จากการขายอาจรวมสัญญาที่เซ็นแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระเงินหรือยังไม่ส่งมอบหากการขายนั้นไม่สามารถบอกเลิกได้

2. ต้นทุนข้าวที่ขาย เป็นค่าใช้จ่ายหลักในการขายข้าว เมื่อเราทราบว่ารัฐบาลได้ขายข้าวไปกี่ตัน เราก็เพียงนำจำนวนตันของข้าวที่ขายคูณด้วยราคาต่อตันที่จ่ายซื้อ เราก็จะทราบต้นทุนขายเพื่อนำมาลบจากรายได้

3. ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ องค์การคลังสินค้าน่าจะสามารถให้ข้อมูลที่จ่ายไปแล้วสำหรับการจัดเก็บ

4. ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีค่าใช้จ่ายทางตรงอื่นก็นำมารวมด้วย (รายการนี้ควรรวมค่าใช้จ่ายใต้โต๊ะต่างๆ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายทางตรง แต่โชคร้ายที่ข้อมูลตีตรา "ลับ" จึงไม่สามารถหาตัวเลขที่แท้จริงได้)

5. ขาดทุนที่จะเกิดขึ้นจากการขายข้าวในอนาคต ตามหลักการบัญชี ขาดทุนที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในอนาคต ถือเป็นผลขาดทุนของวันนี้ จะผลักผลขาดทุนไปคำนวณในงวดอนาคตไม่ได้ ดังนั้น หากรัฐบาลไปทำสัญญาขายข้าว แต่ยังไม่มีผลทันที (จึงไม่ได้รวมกับรายได้ในการขาย) แต่ราคาขายต่อตันต่ำกว่าต้นทุนที่ซื้อข้าวมา เราถือว่าขาดทุนได้เกิดแล้ว และต้องนำมารวมกำไรขาดทุนสำหรับงวดด้วย

6. ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ เป็นอีกรายการหนึ่งที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรขาดทุนจากการขายข้าว ถ้าสต็อกข้าวที่เหลืออยู่มีราคาต้นทุนต่ำกว่าราคาขายในตลาด สินค้าคงเหลือนั้นถือว่าด้อยค่าและต้องนำมารวมคำนวณกำไรขาดทุนด้วย

เมื่อทราบตัวแปร 6 รายการนี้ เราจะสามารถทำการคำนวณ "กำไรขาดทุน" ณ วันนี้ ของโครงการจำนำข้าวได้โดยง่าย เพียงแต่เราหยอดตัวเลขลงไปในตารางที่ 1 เราจะทราบ "กำไรขาดทุน" ของโครงการข้าวว่ามีจำนวนเท่าไร สมมุติ รัฐบาลขายข้าวได้ 120,000 ล้านบาท ราคาตันละ 10,000 บาท ซื้อมาตันละ 15,000 บาท รัฐบาลมีสัญญา G2G กับจีนที่จะขายข้าวในอนาคตจำนวน 8 ล้านตันด้วยราคา 10,000 บาทต่อตัน มีข้าวเหลืออยู่ในโกดัง (สินค้าคงเหลือ) 17 ล้านตัน (รวมข้าวที่ทำสัญญากับจีนแล้ว) มีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ 1,000 ล้านบาท มีค่าเสียหายจากโกดังที่ถูกเผา (ขอโทษ.. พูดผิด.. ถูกเพลิงไหม้) 1,000 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายอื่นอีก 100 ล้านบาท ราคาตลาดของข้าว ณ วันนี้ (เฉลี่ย) 10,000 บาท การคำนวณผลขาดทุนจะเป็นดังตารางที่ 1

แต่เนื่องจากโครงการจำนำข้าวนี้ยังไม่จบสิ้น เราอาจจะอยากทราบคร่าวๆ โดยการประมาณการว่า โครงการนี้จะมีขาดทุนจากโครงการทั้งสิ้นเท่าไร เราอาจจะทำการ "ประมาณการกำไรขาดทุน" ของทั้งโครงการโดยคาดการณ์ว่า

1. รัฐบาลจะซื้อข้าวอีกเท่าไร 2. รัฐบาลจะขายข้าวอีกเท่าไร ด้วยราคาเท่าไร จนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ 3. ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บจะเพิ่มขึ้นเท่าไร 4. ข้าวจะเน่าเสียหรือโดนเผาไปอีกเท่าไร 5. สินค้าคงเหลือด้อยค่าจากราคาตลาดเท่าไร

สมมุติว่า รัฐบาลจ่ายเงินทั้งสิ้น 600,000 ล้านบาท เพื่อซื้อข้าวราคา 15,000 บาทต่อตัน (ซื้อทั้งสิ้น 40 ล้านตัน) ขายข้าวได้ทั้งสิ้น 20 ล้านตัน ขายไปราคาตันละ 10,000 บาท มีค่าจัดเก็บเพิ่มเติมในอนาคตอีก 2,000 ล้านบาท ข้าวจะเน่าเสียประมาณ 2 ล้านตัน และถูกเพลิงไหม้เพิ่มเติม 5 ล้านตัน นอกนั้นเป็นข้าวดีที่เก็บเป็นสินค้าคงเหลือให้รัฐบาลต่อไปอีก 13 ล้านตัน (ราคาซื้อขายในตลาดเฉลี่ย 10,000 บาทต่อตัน) การประมาณการกำไรขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวทั้งสิ้น จะเป็นดังตารางที่ 2

นี่คือ บัญชีเบื้องต้นในการคำนวณกำไรขาดทุนของธุรกิจ ทราบแล้วจะได้เลิกอ้างว่าคำนวณไม่ได้ เพราะถึงคำนวณไม่ได้ก็สามารถประมาณการได้ เมื่อประกาศตัวเลขประมาณการก็เพียงแต่บอกว่าตัวเลขที่ประกาศเป็นตัวเลขประมาณการ ส่วนตัวเลขที่เป็นทางการ (หลังจากที่ verify หรือยืนยันข้อมูลแล้ว) จะนำมาประกาศทีหลัง ผู้คน (โดยเฉพาะนักข่าว) จะได้ไม่หงุดหงิด และตัวผู้ประกาศก็จะได้ไม่ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงด้วย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : บัญชีเบื้องต้น กำไรขาดทุน คำนวณไม่ได้ ต้องประมาณได้

view