สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีดีอาร์ไอฟันธงเจ๊งยับรัฐบาลรับขายข้าวขาดทุน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

เรียกว่าอึ้งกันทั้งสภา เมื่อ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ “โทรโข่ง” พาณิชย์ที่ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ในสภาสัปดาห์ก่อนว่า “รัฐบาลตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ซึ่งการดำเนินการโครงการเช่นนี้ ทุกโครงการจะอยู่ในภาวะขาดทุน และเป็นความตั้งใจของรัฐบาล”

รมช.ณัฐวุฒิ กล่าวย้ำว่า รัฐบาลตั้งใจขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้กินดีอยู่ดี

คำว่า “ความตั้งใจ” ในการขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวแบบ “ขาดทุน” นี้ กลายเป็นว่า ณัฐวุฒิ เป็นคนที่คลี่คลายปมว่า การขายข้าวของรัฐบาลยุคเพื่อไทย “ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์พ่อค้า” กลางสภาก็ว่าได้

นั่นเพราะ ณัฐวุฒิ ระบุว่า ข้าวสารที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี นาปรัง ปีการผลิต 2554/2555 และข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 ที่สีแปรสภาพเป็นข้าวสารได้ 13 ล้านตัน มีการระบายออกจากสต๊อกแล้ว 7.072 ล้านตัน ได้เงินค่าข้าว 97,238 ล้านบาท

แม้กระทรวงพาณิชย์จะไม่เปิดเผยประเภทข้าวสาร ปริมาณ และราคาข้าวที่ระบายออกไปผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ขายข้าวจีทูจี 4.04 ล้านตัน ขายข้าวให้องค์กรต่างๆ 2.57 ล้านตัน และเปิดประมูลขายทั่วไป 4.66 แสนตัน แต่เมื่อดีดลูกคิดนำปริมาณข้าวสารที่ขายได้มา “หารยาว” กับเงินที่ได้รับจากการขายข้าว โดยไม่สนว่าเป็น “ข้าวขาว” หรือ “ข้าวหอมมะลิ

จะพบว่าราคาข้าวสารที่รัฐบาลขายออกไปเฉลี่ยตกอยู่ที่ตันละ 13,749.71 บาท

ในขณะที่ราคาข้าวสารหอมมะลิ 100% ชั้น 1 ทั้งข้าวเก่าและใหม่ “เฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี” พบว่าราคา “ขายส่ง” อยู่ที่ตันละ 3.25-3.3 หมื่นบาท

หากเป็นราคา “ขายปลีก” ราคาตกอยู่ที่ตันละ 3.4 หมื่นบาท

เช่นเดียวกับข้าวสารขาว 5% ราคาขายส่งอยู่ที่ 1.52-1.55 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนราคาขายปลีกอยู่ที่ 1.7 หมื่นบาทต่อตัน

หากคำนวณราคาต้นทุนข้าวที่รัฐบาลได้จากโครงการรับจำนำตามหลักวิชาการของ สมพร อิศวิลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวมากว่า 30 ปี แห่งสถาบันคลังสมองของชาติ จะพบว่าข้าวเปลือกเจ้าที่รัฐบาลรับจำนำในราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เมื่อบวกค่าสีแปรสภาพ ค่าเช่าโกดัง และค่าบริหารจัดการอื่นๆ ต้นทุนข้าวสารจะอยู่ที่ 24,777 บาท

แต่หากเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิที่รับจำนำมาที่ราคา 2 หมื่นบาทต่อตัน เมื่อแปรสภาพเป็นข้าวสารหอมมะลิจะมีต้นทุน 38,063 บาทต่อตัน

ดังนั้น หากเปรียบเทียบต้นทุนข้าวสารที่ได้จาก “โครงการรับจำนำ” และราคาข้าวสารที่ขาย “ในท้องตลาด” รัฐบาลต้องมีภาระขาดทุนจากโครงการอย่างเลี่ยงไม่ได้

นั่นคือ หากเป็นการขาย “ข้าวหอมมะลิ” ในราคาตลาดหรือต่ำกว่าเล็กน้อย รัฐบาลจะขาดทุนไม่เกิน 20% ต่อการขายข้าว 1 ตัน

หากขาย “ข้าวขาว” ในราคาที่เป็นอยู่รัฐบาลขาดทุนประมาณ 40% ต่อการขายข้าวขาวทุก 1 ตัน

ไม่ว่าเป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจรัฐบาลก็ตาม จะพบว่าข้าวสารทุกเมล็ดที่รัฐบาลขายออกไปล้วนแต่ขายในราคา “ต่ำกว่า” ราคาตลาดแทบทั้งสิ้น

นั่นจึงส่งผลให้มูลค่าการขาดทุนจากการขายข้าวทุกประเภทในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีโอกาสขาดทุน 50% โดยเฉพาะข้าวขาว

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานการขายข้าวในสต๊อกขององค์การตลาดเพื่อ เกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่คณะอนุกรรมการระบายข้าวฯ อนุมัติ หลังการประมูลข้าวเมื่อเดือน ส.ค. 2555 ซึ่งเอกชนประมูลซื้อข้าวทุกประเภทไปในปริมาณ 4.66 แสนตัน จากข้าวสารที่เปิดประมูลทั้งสิ้น 7.75 แสนตัน พบว่าระหว่างวันที่ 14 ก.ย.-8 ต.ค. 2555 อ.ต.ก.ทำสัญญาขายข้าวกับเอกชน 11 สัญญา

แต่พบว่าตัวเลขที่น่าฉงนอย่างน้อย 3 สัญญา

1.สัญญาซื้อข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 จากสต๊อกรัฐบาล โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 ณ วันที่ 1 ต.ค. 2555 บริษัท นครหลวงค้าข้าว ซื้อข้าวปริมาณ 15,982 ตัน มูลค่า 375.58 ล้านบาท คิดเป็นราคา 2.35 หมื่นบาทต่อตัน

2.สัญญาซื้อข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ในสต๊อกรัฐบาล โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 วันที่ 3 ต.ค. 2555 บริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ ซื้อข้าวไป 8,546 ตัน มูลค่า 209.39 ล้านบาท หรือขายข้าวหอมมะลิในราคา 2.45 หมื่นบาทต่อตันเท่านั้น

ทั้งๆ ที่ราคาข้าวหอมมะลิ 100 ชั้น 2 ในตลาดขณะนี้อยู่ที่ 3.2-3.3 หมื่นบาทต่อตัน

แต่ไปๆ มาๆ เอกชนกลับทำสัญญาซื้อขายจริงในราคาเพียง 2.35-2.45 หมื่นบาทต่อตัน

“เอกชนที่ชนะการประมูลเสนอซื้อข้าวหอมมะลิ 100% ที่ราคา 29-30 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในสัญญาซื้อขายจริงราคาอยู่ที่ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าผิดปกติ เพราะแม้เอกชนจะต่อรองราคาได้ แต่ต้องนำราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน มาคำนวณและลดราคาได้เล็กน้อย” นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และอดีตผู้อำนวยการ อ.ต.ก. กล่าว

ยังมีกรณีสัญญาซื้อข้าวหอมมะลิจากสต๊อกรัฐบาล โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 ณ วันที่ 3 ต.ค. 2555 บริษัท ข้าว ซี.พี. ซื้อข้าว 6,810 ตัน มูลค่า 111.01 ล้านบาท หรือตกประมาณราคาตันละ 1.63 หมื่นบาท

ถือเป็นการขายข้าวสารหอมมะลิ “ต่ำกว่า” ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่รัฐบาลตั้งราคาที่ 2 หมื่นบาทต่อตันด้วยซ้ำ

ขณะที่การขายข้าวสารเหล่านี้ยังไม่นับการขายข้าวสารแบบจีทูจีที่ขายกันในราคา “มิตรภาพ” ที่แน่นอนว่าราคาคงจะ “ถูกแสนถูก” แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่กล้าแม้แต่จะเปิดเผยราคาให้สาธารณชนทราบ

ขณะที่ประจักษ์พยานทางบัญชีระบุชัดเจนว่า เงินภาษีได้ละลายหายไปกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก “ครึ่งต่อครึ่ง

“ถ้าดูจากต้นทุนข้าวที่รัฐบาลรับจำนำมากับราคาข้าวที่รัฐบาลขายได้ ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะขาดทุนไม่น้อยกว่า 50% ของเงินที่ใส่ลงไปในโครงการรับจำนำข้าว และการเอาข้าราชการที่ไม่เคยเป็นเถ้าแก่มาขายข้าว ก็มีแต่ขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น” นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุ

และนี่เป็นเหตุให้เงินที่รัฐบาลใช้ในการหมุนเวียนซื้อข้าวและค่าบริหาร จัดการในโครงการ 3 ฤดูกาล ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2554-11 มี.ค. 2556 ที่รัฐบาลรับข้าวเปลือกเข้าโครงการ 32.67 ล้านตัน คิดเป็นเงินหมุนเวียน 513,652.23 ล้านบาท บวกกับค่าบริหารจัดการ 6 หมื่นล้านบาท จนทำให้รัฐบาลจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2.7 แสนล้านบาท ณ วันนี้

และมูลค่าขาดทุนจะเพิ่มขึ้นเมื่อข้าวทุกเมล็ดทยอยไหลเข้าโครงการอย่างต่อเนื่อง

ไม่แน่ว่าถึงตอนนั้น รัฐบาลอาจต้องจำนนกับการขายข้าวขาดทุน “ยับเยิน” ก็ได้

หากไม่มีการปรับวิธีการและรูปแบบการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด

เราเตือนคุณแล้ว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะ

Tags : ทีดีอาร์ไอ ฟันธง เจ๊งยับ รัฐบาล ขายข้าว ขาดทุน

view