สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจ เกษตรกรดารา ในวันที่แล้งคุกคาม

จากประชาชาติธุรกิจ

ปัญหาหนักอกของประเทศเกษตรกรรม ถ้าไม่ใช่ "น้ำท่วม" ก็ต้องเป็น "ฝนแล้ง" ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไหนก็ไม่มีใครอยากเจอ

แต่ดูท่าปีนี้บ้านเราจะหนียาก โดยเฉพาะอย่างหลัง ด้วยทางการส่งสัญญาณมาว่าจะแล้งหนัก ไม่ว่าจะคะเนจากปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ 17 แห่ง ที่รวมๆ แล้วเหลือแค่ 66% น้อยกว่าปี 2547 ซึ่งเกิดภัยแล้งครั้งยิ่งใหญ่ แถมในนาแถบภาคอีสาน ข้าวก็ขาดน้ำจนยืนต้นตาย ตั้งแต่ฤดูฝนปีที่ผ่านมา

เรื่องอย่างนี้คนที่ชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกอาจเห็นเป็นเรื่องห่างไกล แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่

เพราะสุดท้ายไม่ว่าใครก็จะได้รับผลที่เกิดขึ้น จากเกษตรกรมีผลผลิตน้อยลง

เพียงแต่คนอยู่ใกล้ ใช้ชีวิตกับการเพาะปลูกจะได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ

"แต่ผมคงไม่เท่าไหร่ เพราะมีบ่อน้ำสำรองไว้แล้ว" "ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์" ที่นอกจากเป็นดารา ยังผันตัวไปเป็นชาวนา ปลูกข้าวและชาวไร่ปลูกสวนยางพารากับผักหวานใน จ.บุรีรัมย์ บอก

แต่ถึงจะมีบ่อสำรอง แต่เอาเข้าจริงเขาก็ว่าหนักใจอยู่ เพราะรู้ดีว่าสิ่งที่จะตามมาจากภาวะน้ำน้อยคือผลผลิตที่ลดน้อยลงตามไปด้วย

แถมขนาดยังไม่แล้งเท่านี้ ผลจากการทำนามา 2 ปี เกี่ยวข้าวขายได้ 2 รอบ ก็ยังเกือบๆ จะเท่าทุน ปีนี้เลยชักหวั่นๆ

หวั่นเผื่อไปถึงเกษตรกรรายอื่นในฐานะคนอาชีพเดียวกัน

"ผมเองที่เลือกทำนาเพราะอยากรู้ว่าทำไมชาวนาถึงไม่รวย ทำไมต้องเป็นหนี้ แล้วพอมาทำ เข้าใจเลย"

ด้วยชีวิตเกษตรกรขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ เพราะต่อให้เตรียมปัจจัยอื่นๆ ทั้งพันธุ์กล้า ดิน ปุ๋ย ฯลฯ ไว้ดีแค่ไหน ถ้าไม่มีน้ำ ก็เท่านั้น

เขาจึงพยายามเตรียมพร้อมล่วงหน้า ด้วยการเก็บน้ำไว้ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"ท่านตรัสว่าคนทำเกษตรออมน้ำไว้ใช้จะดีกว่า เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรบ้าง"

"และต้องหาวิธีใช้น้ำให้น้อยที่สุด"

ที่เขาเคยได้ยินมาคือมีการนำระบบน้ำหยดมาใช้กับพืชไร่ ส่วนกับการทำนาข้าวจะใช้วิธีไหน เขากำลังพยายามหาทางอยู่

ในส่วนภาครัฐถ้าเป็นไปได้ เขาว่านอกจากเรื่องน้ำแล้ว ก็อยากให้เข้ามาดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยฝึกอาชีพให้ยามหมดฤดูเพาะปลูก รวมถึงให้ความรู้เรื่องการเกษตร ที่ไม่ใช่ใช้หลักสูตรเดียวกันทั้งประเทศ

เพราะ "สภาพอากาศ และทรัพยากรของแต่ละภาคไม่เหมือนกันแล้ว คุณจะเอาความคิดของภาคเหนือไปใช้กับภาคอีสานไม่ได้

"แต่เห็นเวลาเรียกไปประชุมก็ให้นั่งรวมๆ กัน แล้วพูดแบบภาพรวม"

อย่างไรก็ดี เขายังมีความหวังว่าถ้าภาครัฐและเกษตรกรช่วยกันแก้ปัญหาจริงจัง ภัยแล้งที่นับวันจะทวีความรุนแรงก็น่าจะบรรเทาเบาบางลง

ส่วนอดีตเจ้าแม่เซ็กซี่ "แชมเปญ เอ็กซ์" ที่ไปทำเกษตรเต็มขั้นในพื้นที่ 200 ไร่ ของ จ.สระแก้ว มองว่าการช่วยเหลือตัวเองน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

"เราปลูกยางพารา 100 ไร่ ข้าว 13 ไร่ แล้วก็ขุดบ่อไว้เก็บน้ำอีก 6 บ่อ ประมาณ 20-30 ไร่ เผื่อไว้สำหรับหน้าแล้งโดยเฉพาะ" เธอว่า

เนื่องเพราะพื้นที่ไม่ได้เป็นทางน้ำผ่าน จึงรับฟังคนที่เคยมีประสบการณ์ทำมาก่อนที่สอนว่าต้องรู้จักกักเก็บน้ำไว้ให้พอใช้ในแต่ละปี และถ้าพอมีเหลือก็ปันน้ำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียง

ที่ผ่านมาจึงยังไม่เคยเจอปัญหาหนักอก แต่ปีนี้กลับไม่ค่อยแน่ใจ

"ต้องรอดูหน้าฝนอีก 2 เดือนว่าน้ำมากน้ำน้อย ถ้าแล้งมากอาจต้องขุดบ่อเพิ่ม"

เธอยังว่าด้วยสภาพอากาศที่ไม่อาจคาดเดา จากภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคาม ก็นับเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อไม่รู้ ก็ไม่ทันได้เตรียมตัวรับมือ

"หลายคนจะใช้ชีวิตไปตามสภาพอากาศ ตามมีตามเกิด พอเจอปัญหาเลยไม่รู้จะทำอย่างไร"

อย่างเธอเองพยายามยึดหลักง่ายๆ เรื่องความพอเพียง

"พยายามใช้ชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ ถ้าพึ่งแต่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้ เพราะทุกอย่างจะแพงขึ้นหมด"

"พอหน้าแล้งได้ผลผลิตน้อย แล้วยังต้องเอาเงินไปใช้ในทางนั้นหมดก็ไม่ไหว"

ส่วนสิ่งที่อยากจะให้ภาครัฐช่วยเหลือ เธอว่า "ไม่เคยหวัง"

เพราะแทบไม่เห็นการทำงานเพื่อ "ประชาชนจริงๆ"

"เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนช่วยเหลือตัวเองจะดีที่สุด"

ขณะที่ "น้ำผึ้ง-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์" เจ้าของสวนมะรุม, กล้วยหอมทอง, มะกอกน้ำ, ผักเหือด ฯลฯ ที่ปลูกไว้รวมกันในพื้นที่ 3 ไร่ ของ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อยากให้รัฐช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ

"อยากให้ช่วยอนุรักษ์ป่า รณรงค์ให้ปลูกต้นไม้เยอะๆ เพราะถ้ามีป่าทุกอย่างจะสมดุล ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พอถึงหน้าน้ำก็จะมีผืนป่าช่วยซับ น้ำจะได้ไม่ท่วม

"แล้วภัยแล้งมันน่ากลัวมาก หลายครอบครัวเดือดร้อนหนัก ทำให้ถึงตายได้"


ขนาดไร่ของเธออยู่ในภาคเหนือ แค่ยังไม่ทันเข้าหน้าร้อนดี ต้นมะรุมที่เพิ่งลงดินไปไม่นาน ยังแทบจะไม่มีโอกาสได้โต โชคดีว่าพื้นที่อยู่ใกล้เขื่อนแม่งัดจึงทำให้ได้อาศัยน้ำจากเขื่อนมาทำการเกษตร

"รู้สึกได้เลยว่าเขื่อนหรือลำธารที่ผ่านสวน เหมือนเป็นสายน้ำแห่งชีวิต ช่วยเราได้เยอะมาก"

แม้น้ำอาจไม่มากเท่าฤดูฝน แต่ก็ยังพอบรรเทา

ดังนั้น ระหว่างช่วยกันปลูกป่าช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว ในช่วงสั้นๆ การทำบ่อกักเก็บน้ำไว้น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้พอสมควร

และเธอว่า "ถ้ายิ่งเตรียมตัวเร็ว ก็จะมีโอกาสรอดมากขึ้น"

"ในช่วงวิกฤตภัยแล้งที่ใกล้เข้ามาทุกที"







ที่มา มติชนรายวัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดใจ เกษตรกรดารา แล้งคุกคาม

view